- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Friday, 10 March 2017 22:22
- Hits: 7312
พลิกบทบาทสมาคมธนาคารไทย ส่งเสริมคนไทยมีวินัยการเงิน
สมาคมธนาคารไทยย้ำทิศทางแผน 5 ปี เร่งขับเคลื่อนการให้ความรู้ทางการเงิน ผ่านสาขาเครือข่ายธนาคารพาณิชย์และสื่อดิจิทัล พร้อมเปิดตัวแคมเปญแรก 'เทรนหนี้'เพื่อส่งเสริมให้คนไทยตระหนักถึงปัญหาหนี้และมีวินัยทางการเงินมากขึ้น
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย แถลงถึงการดำเนินงานแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีสมาคมธนาคารไทย ซึ่งสมาคมฯได้ร่วมกันกำหนดทิศทางแผนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมธนาคารมาตั้งแต่ปี 2557 ครอบคลุม 5 ด้านที่สำคัญด้วยกัน ได้แก่ 1.การสร้างระบบชำระเงินและธนาคารดิจิทัล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผน National E-payment ของรัฐบาล 2. การสร้างสังคมทางการเงินด้วย การยกระดับมาตรฐานจรรยาบรรณธนาคาร และส่งเสริมการให้ความรู้ทางการเงินแก่ภาคประชาชน (Financial Literacy) 3. การสนับสนุนการทำธุรกรรมการเงินในภูมิภาคให้สะดวกต่อการทำธุรกิจ 4. การเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนทุกภาคส่วน และ 5.การผลักดันแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะที่เป็นอุปสรรค ล้าสมัย หรือยังไม่มีกฎหมายสนับสนุนเพียงพอ โดยทางสมาคมฯมีเป้าหมายที่มุ่งเน้นที่จะสร้างระบบธนาคารที่มีประสิทธิภาพสูงในระยะยาว อันจะส่งผลต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศจากความร่วมมือจากธนาคารสมาชิกทั้งหมด
ด้านการส่งเสริมการให้ความรู้ทางการเงินแก่ภาคประชาชน (Financial Literacy) นับเป็นพันธกิจหลักอย่างหนึ่งของสมาคมฯตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ที่มุ่งเน้นสร้างสังคมทางการเงินของประเทศให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น คณะทำงานในด้านนี้นำโดยคุณบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีทิศทางการทำงานที่เน้นการปรับเปลี่ยนทัศนคติของประชาชนในเรื่องวินัยทางการเงิน ผ่านการให้ความรู้ที่เข้าใจง่ายและเข้าถึงได้อย่างแพร่หลาย เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเงินของคนไทยให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการวัดระดับทักษะทางการเงินขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาหรือ OECD ซึ่งทำการสำรวจกลุ่มประเทศทั้งที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนารวมทั้งสิ้น 30 ประเทศเมื่อปี 2557-2558 ซึ่งประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 17 ด้วยคะแนน 12.8 จากคะแนนเต็ม 21 ซึ่งเป็นระดับที่ยังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 13.2 แต่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าฮ่องกงและประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 5 และ 7 ตามลำดับ
“ณ ปัจจุบันมีโครงการให้ความรู้ทางการเงินมากมาย ที่ส่วนใหญ่ทำเฉพาะเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย โจทย์ที่สมาคมฯมองคือ ทำอย่างไรที่ประสานความร่วมมือกัน รวมกิจกรรมทั้งหลายเข้าด้วยกัน แล้วขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งสมาคมฯมีศักยภาพเพียงพอที่จะช่วยสนับสนุนกิจกรรมด้านนี้ให้บรรลุผลสำเร็จ”
ดังนั้น แผนงานที่สมาคมฯจะดำเนินการประกอบไปด้วยการใช้เครือข่ายสาขาของธนาคารที่มีอยู่กว่า 7,000 แห่งเป็นตัวขับเคลื่อนให้เข้าถึงชุมชนในแต่ละภูมิภาค โดยใช้เนื้อหาความรู้ทางการเงินที่หน่วยงานต่างๆได้ทำไว้ มาปรับให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มเป้าหมายเพื่อจะสร้างองค์ความรู้ที่เป็นมาตรฐาน (Standardized Content) แล้วจัดทำเป็นสื่อการเรียนรู้ผ่านช่องทางดิจิทัลเพื่อสร้างศูนย์รวมความรู้ทางการเงินทางออนไลน์ซึ่งสามารถเผยแพร่ไปสู่ทุกภาคส่วนได้ง่ายขึ้นและขยายการรับรู้เป็นวงกว้าง นอกจากนี้ สมาคมฯมีบุคลากรที่มีความรู้ในเรื่องการเงินอยู่เป็นจำนวนมาก พร้อมที่จะฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ทางการเงินให้กับชุมชน
โดย นางสาวนวพร มหารักขกะ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายวางแผนและงบประมาณ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “แผนงานดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ต้องการส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้กับประชาชนในวงกว้าง โดยถือเป็นแนวทางที่สำคัญในการแก้ไขและป้องกันปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งต้องยกให้เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อประเทศไทย การที่สมาคมฯเล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมความรู้ทางการเงิน โดยได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อดูแลงานด้านส่งเสริมความรู้ทางการเงินโดยตรงจึงเป็นสัญญาณที่น่ายินดีและแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของสมาคมฯ ที่จะร่วมเป็นภาคส่วนที่สำคัญในการผลักดันและส่งเสริมให้ประชาชนคนไทยมีความรู้และวินัยทางการเงินดีขึ้น”
สำหรับ งานระยะแรกนายวีระพล บดีรัฐ รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงรายละเอียดของโครงการ “เทรนหนี้” ซึ่งเน้นการสร้างความตระหนักของสังคมในประเด็นการบริหารจัดการหนี้และการมีวินัยในการใช้จ่าย มีสโลแกนสั้นๆจดจำง่ายว่า “ให้ภาระผ่อนหนี้ไม่เกิน 40% ของรายได้ต่อเดือน” เผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นส่วนของการสร้างทัศนคติที่ดีทางด้านการเงิน เป็นกลยุทธ์ป้องกันก่อนที่จะเกิดปัญหา เน้นกลุ่มเป้าหมายไปที่ผู้ที่มีโอกาสเข้าถึงหนี้ในระบบทั้งผู้มีรายได้ประจำ ลูกค้าผู้ขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ตลอดจนนักศึกษาจบใหม่ โดยเมื่อกลุ่มเป้าหมายได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องหนี้เพิ่มขึ้น จะช่วยให้มีพฤติกรรมทางการเงินที่ดีขึ้น โอกาสที่หนี้ที่สร้างใหม่จะกลายเป็นปัญหาในชีวิตหรือครอบครัวลดลง และนำไปสู่การลดปัญหาหนี้ครัวเรือนของระบบเศรษฐกิจได้ในที่สุด
“ผลความสำเร็จของโครงการให้ความรู้ทางการเงินมุ่งหวังไปที่การปรับพฤติกรรมทางการเงินให้ดีขึ้น อันทำให้ระดับความรู้ทางการเงินของประเทศไทยขยับสูงขึ้นเทียบเท่ากับประเทศชั้นนำในเอเชีย”นายบุญทักษ์สรุป