- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Monday, 30 January 2017 16:07
- Hits: 2649
KKP กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรพร้อมรุก เดินเครื่องต่อยอดธุรกิจ มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี เพื่อรองรับโลกการเงินยุคใหม่
'กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร-KKP'เดินหน้าต่อยอดธุรกิจท่ามกลางโอกาสและความท้าทายของโลกการเงินยุคใหม่ หลังจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสามารถพัฒนาและรักษาระดับผลการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมองว่าภาพรวมของเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้สมมติฐานจีดีพีที่ 3.2% ในส่วนของธุรกิจสินเชื่อ ตั้งเป้าขยายสินเชื่อราว 5%
นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (Mr. Aphinant Klewpatinond, Chief Executive Officer, Kiatnakin Phatra Financial Group) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประกอบไปด้วย ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) (บล.ภัทร) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร จำกัด (บลจ.ภัทร) มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีพัฒนาการที่น่าพอใจ โดยเฉพาะปี 2559 KKP มีผลประกอบการสูงกว่าประมาณการที่ระดับ 5,547 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 67.2 เมื่อเทียบกับปี 2558 หากพิจารณากำไรเบ็ดเสร็จรวมจะเท่ากับ 5,756 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 84.6 อีกทั้งควบคุมต้นทุนทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในส่วนของช่องทางสาขาได้มีการปรับปรุงรูปแบบการให้บริการ ตลอดจนนำบริการ KK e-Banking ซึ่งเป็นช่องทางในการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านอินเตอร์เน็ตมาช่วยเสริม เพื่อให้ลูกค้าสามารถบริหารจัดการด้านการเงินได้ด้วยตนเอง ทั้งในรูปแบบของเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น และได้มีการพัฒนาสาขารูปแบบใหม่ให้เป็น Financial Hub ที่เน้นการให้คำปรึกษาทางด้านการเงินและการลงทุนอย่างครบวงจร ปัจจุบันมี 2 แห่ง ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ แลธทองหล่อ ส่งผลให้ ณ สิ้นปี 2559 ธนาคารมีสาขารวมทั้งสิ้น 66 สาขา นอกจากนี้ ยังสามารถรักษาคุณภาพของสินเชื่อให้ปรับตัวดีขึ้นจากสิ้นปี 2558
อย่างไรก็ตาม มองว่าภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปี 2560 นี้ คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ และจากการวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในระดับ 3.2% ซึ่งคาดว่ารัฐบาลจะใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นในครึ่งแรกของปี และหวังว่าการลงทุนภาครัฐจะเร่งตัวขึ้นช่วยพยุงเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังได้ นอกจากนี้ ยังประเมินว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนตัวเมื่อเทียบกับดอลลาร์ แต่แข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินในตลาดเกิดใหม่ ซึ่งการเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 3 ประการ ได้แก่ แรงงาน การลงทุน และผลิตภาพการผลิต
“ในปี 2560 นี้ สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือความผันผวนสูงในธุรกิจตลาดเงินและตลาดทุนของไทย และของโลก ตลอดจนเทคโนโลยีทางการเงินที่เข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมาก โดยกลุ่มธุรกิจฯ ยังคงให้ความสำคัญกับบริหารความเสี่ยง ดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง ตั้งเป้าในการเป็นสถาบันการเงินเพื่อการ จัดการเงินและการลงทุน รักษาผลการดำเนินงานที่ดีให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อต่อยอดธุรกิจในอนาคต ด้วยยุทธศาสตร์การแข่งขันใน 3 ด้าน คือ เริ่มต้นจากการเป็น Credit House ที่มีประสิทธิภาพควบคุมคุณภาพสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง และจากการประเมินอัตราปล่อยสินเชื่อในไตรมาส 4 ปี 2559 ทีผ่านมา คาดว่าปี 2560 นี้ จะสามารถขยายสินเชื่อได้อีกราว 5% จากสิ้นปี 2559 ที่มียอดรวมของสินเชื่อรายย่อยที่ 124,000 ล้านบาท โดยอาศัยเครือข่ายสาขาและสายงานช่องทางการตลาดและพัฒนาฐานลูกค้าที่จัดตั้งใหม่ ซึ่งเป็นช่องทางอำนวยสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพสำหรับผลิตภัณฑ์สินเชื่อบุคคล สินเชื่อเคหะ สินเชื่อ KK SME รถคูณ 3 ตลอดจนพัฒนาการทำ Cross Selling ของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้เข้มข้นขึ้น และในส่วนของสินเชื่อธุรกิจ จะเน้นการให้สินเชื่อเครื่องจักรและวัสดุก่อสร้าง รวมถึงสินเชื่อโรงแรม ซึ่งสอดคล้องกับแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในด้านการก่อสร้างและการท่องเที่ยว ถัดมาคือการต่อยอดธุรกิจ Private Bank ที่กลุ่มธุรกิจฯ มีความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์มายาวนาน ในปีนี้ จะมีการต่อยอดการเติบโต เพิ่มผลิตภัณฑ์ และการบริการใหม่ๆ เพื่อเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมและสินทรัพย์
ภายใต้การแนะนำ โดยในปี 2559 มีสินทรัพย์ภายใต้การให้คำแนะนำ (Asset under Advice: AuA) อยู่ที่ 380,000 ล้านบาท (ไม่รวมเงินฝากและมูลค่าทรัพย์สินภายใต้การจัดการของ บลจ.ภัทร) และที่สำคัญกองทุนจาก บลจ.ภัทร สามารถสร้างผลการดำเนินงานได้เป็นอย่างดี เช่น กองทุนเปิดภัทร หุ้นระยะยาวปันผล (PHATRA LTFD) ได้รับเลือกให้เป็นกองทุนรวมหุ้นระยะยาวยอดเยี่ยมปี 2559 จากบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) โดยเชื่อว่าธุรกิจดังกล่าวจะเป็นกลไกสำคัญในการขยายธุรกิจตลาดทุนและสร้างเสถียรภาพของรายได้ให้กับกลุ่มธุรกิจฯ ในอนาคตได้เป็นอย่างดี และประการสุดท้ายคือรักษาความเป็นผู้นำในด้าน Investment Banking และเพิ่มความร่วมมือระหว่างธุรกิจธนาคารพาณิชย์และธุรกิจตลาดทุนเพื่อขยายการทำธุรกิจและให้บริการแก่ลูกค้าสถาบันและลูกค้าบรรษัท ซึ่งจะเน้นเรื่องการบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ตลอดจนรักษาระดับคุณภาพให้อยู่ในกลุ่มผู้นำตลาดด้านงานวิจัย” นายอภินันท์ กล่าว
นายชวลิต จินดาวณิค ประธานสายการเงินและงบประมาณ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (Mr.Chavalit Chindavanig, Head of Finance and Budgeting, Kiatnakin Bank Plc.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานปี 2559 เปรียบเทียบกับปี 2558 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิไม่รวมส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยเท่ากับ 5,547 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 67.2 เมื่อเทียบกับปี 2558 โดยเป็นกำไรสุทธิของธุรกิจตลาดทุน จำนวน 1,086 ล้านบาทหากพิจารณากำไรเบ็ดเสร็จรวมจะเท่ากับ 5,756 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 84.6 เป็นกำไรเบ็ดเสร็จของธุรกิจตลาดทุนจำนวน 1,075 ล้านบาท และมีสินทรัพย์รวมที่ 233,776 ล้านบาทลดลงร้อยละ 1.0 จาก สิ้นปี 2558 ทางด้านอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) คำนวณตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งรวมกำไรถึงสิ้นปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 18.53 โดยเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับร้อยละ 15.01 แต่หากรวมกำไรถึงสิ้นปี 2559 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงจะเท่ากับร้อยละ 20.40 และเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับร้อยละ 16.87
ในส่วนของผลการดำเนินงานของธุรกิจธนาคารพาณิชย์นั้น สินเชื่อของธนาคารในปี 2559 หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.8 โดยการหดตัวชะลอลงเมื่อเทียบกับการหดตัวที่ร้อยละ 3.6 ในปี 2558 และร้อยละ 3.1 ในปี 2557 ทั้งนี้ สินเชื่อของธนาคารที่มีการขยายตัวค่อนข้างดีได้แก่สินเชื่อ Lombard ขยายตัวที่ร้อยละ 208.2 สินเชื่อบุคคลขยายตัวที่ร้อยละ 105.0 สินเชื่อ Micro SMEs ซึ่งรวมสินเชื่อ KK SME รถคูณ 3 ขยายตัวที่ร้อยละ 90.7 และสินเชื่อเคหะขยายตัวที่ร้อยละ 289.5 ในด้านคุณภาพของสินเชื่ออัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมณสิ้นปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 5.6 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 5.8 ณ สิ้นปี 2558 โดยสินเชื่อด้อยคุณภาพในส่วนของสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีการปรับตัวดีขึ้นในระหว่างปีรวมถึงคุณภาพของสินเชื่อเช่าซื้อที่ยังคงมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับธุรกิจตลาดทุนนั้น บล.ภัทรมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 4.81 เป็นอันดับที่ 4 จากจำนวนบริษัทหลักทรัพย์ทั้งหมด 36 แห่ง และมีรายได้ค่านายหน้า 1,610 ล้านบาท ในส่วนของธุรกิจจัดการกองทุน (Asset Management Business) โดย บลจ.ภัทร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 มีทรัพย์สินภายใต้การจัดการของกองทุนเป็นจำนวน 42,999 ล้านบาท”
สื่อมวลชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ ทิพวรรณ (โม)โทร 081 421 2923 หรือ E-mail: [email protected]
KKP ตั้งเป้าปี 60 สินเชื่อโต 5% จากปีก่อนติดลบ 0.8% คุม NPL ไม่เกิน 5.2% รักษา NIM 4.7-4.9%
นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า การดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประกอบไปด้วย ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) บล.ภัทร และ บลจ.ภัทร ในปี 60 คาดว่าจะสามารถขยายสินเชื่อได้อีกราว 5% จากสิ้นปี 59 ที่มียอดรวมของสินเชื่อรายย่อยที่ 124,000 ล้านบาท ฟื้นตัวจากปีก่อนที่สินเชื่อติดลบ 0.8%
ขณะที่ตั้งเป้าจะลดสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้เหลือต่ำกว่า 5.2% จากปี 59 อยู่ที่ระดับ 5.6% และ รักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ไว้ในช่วง 4.7-4.9% จากปีก่อนอยู่ในระดับ 4.9%
ทั้งนี้ KKP มองว่าภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปี 60 นี้ คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในระดับ 3.2% คาดว่ารัฐบาลจะใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นในครึ่งแรกของปี และหวังว่าการลงทุนภาครัฐจะเร่งตัวขึ้นช่วยพยุงเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังได้ นอกจากนี้ ยังประเมินว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนตัวเมื่อเทียบกับดอลลาร์ แต่แข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินในตลาดเกิดใหม่ ซึ่งการเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 3 ประการ ได้แก่ แรงงาน การลงทุน และผลิตภาพการผลิต
นายอภินันท์ เปิดเผยว่า ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อรวมปีนี้ของเติบโต 5%จากสิ้นปีก่อนที่สินเชื่อรวมของธนาคารติดลบ 0.8% โดยกลยุทธ์ของธนาคารจะเน้นการขยายงานทางด้านสินเชื่อบุคคล สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อเอสเอ็มอีคูณสาม จะเป็นการขายผ่านช่องทาง ADC (Alternative Distribution Channel) ซึ่งเป็นสายงานด้านตัวแทนขายผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 ประเภท โดยธนาคารตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อดังกล่าวรวมมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท จากปี 59 ปล่อยไปทั้งสิ้น 5 พันล้านบาท ซึ่งธนาคารได้เพิ่มจำนวนพนักงานเป็น 600 คนในปีนี้ จากปีก่อนมีจำนวน 300 หรือเพิ่มจำนวนพนักงานอีกเท่าตัว
สำหรับ แนวโน้มสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในปีนี้ คาดว่าจะมีการเติบโตเล็กน้อย หรือทรงตัวจากปีก่อนที่ติดลบไป 2.7% ซึ่งเป็นไปตามภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์มียอดขายรถยนต์ยังไม่ได้ฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน โดยในปีก่อนยอดขายรถยนต์ติดลบ 4% โดยสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของธนาคารในปัจจุบันเป็นสินเชื่อรถยนต์ใหม่อยู่ที่ 48% รถยนต์มือสอง (Used Car) อยู่ที่ 52% จากเดิมสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ทั้งสองประเภทมีสัดส่วนเท่ากันที่ 50% อีกทั้งแนวโน้มการขาดทุนรถยึดในปีนี้คาดว่าจะทยอยลดลง จากปีก่อนขาดทุนรถยึดไป 600 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามภาวะราคาขายรถยนต์มือสองที่ทยอยฟื้นตัวขึ้น หลังจากผ่านพ้นช่วงจุดต่ำสุดไปแล้วจากการทยอยสิ้นสุดมาตรการรถยนต์คันแรก
ด้านสินเชื่อผู้ประกอบการขนาดใหญ่ (Coporate) ในปีนี้ยังต้องติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับช่องทางการระดมทุนของลูกค้า เพราะในที่ผ่านมาลูกค้าส่วนใหญ่ใช้วิธีการออกหุ้นกู้เป็นจำนวนมาก และนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นมาชำระคืนหนี้ให้กับธนาคาร ทำให้ยอดสินเชื่อผู้ประกอบการขนาดใหญ่ไม่เติบโตมากนัก เพราะวงสินเชื่อที่ธนาคารให้กับลูกค้าไปไม่ได้มีการเบิกใช้ และมีปริมาณการชำระคืนหนี้ที่ค่อนข้างสูง อีกทั้งลูกค้าส่วนใหญ่ยังชะลอการลงทุนหลังภาวะเศรษฐกิจไทยชะลอตัว
อีกทั้ง ในปีนี้ธนาคารคาดว่าจะมีงานด้านวาณิชธนกิจที่ต่อเนื่องจากปีก่อนทยอยออกมาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ธนาคารเร่งให้มีการเกิดขึ้นเพื่อเสริมสร้างรายได้ให้กับธนาคาร ซึ่งจะมีลูกค้าผู้ประกอบการขนาดใหญ่วางแผนที่จะระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผ่านวิธีการการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนครั้งแรก (IPO) และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) ที่เป็นลูกค้าของธนาคารราว 4-5 ดีล ซึ่งเป็นดีลที่ต่อเนื่องมาจากปี 59
"ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยหรือ NIM ในปีนี้เราก็พยายามรักษาให้อยู่ในช่วง 4.7-4.9% จากปีก่อนที่ 4.9% โดยเราจะเน้นการปล่อยสินเชื่อที่ให้ยีลด์ดี โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อยที่เราเสนอผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทาง ADC ซึ่งปีที่ผ่านมาเราเริ่มการให้บริการช่องทาง ADC ไปเพียง 11 เดือนและก็มียอดปล่อยสินเชื่อได้มากถึง 5 พันล้านบาท ปีนี้เราเพิ่มพนักงานอีก 1 เท่า แล้วเราก็ตั้งเป้าปล่อยเพิ่มเป็น 1 หมื่นล้านบาท"นานอภินันท์ กล่าว
ขณะที่สัดส่วนหนี้ที่มิก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปีนี้จะควบคุมให้ลดลงต่ำกว่า 5.2% จากปีก่อนที่อยู่ 5.6% โดยแนวโน้มคุณภาพสินเชื่อของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มีคุณภาพหยนี้ที่ดีขึ้น ประกอบกับ ธนาคารมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการต่างๆมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่จะพิจารณาให้สินเชื่อเป็นรายโครงการ แต่การลด NPL ของธนาคารยังไม่มีแผนที่จะตัดจำหน่ายหนี้ออกไป
และแนวโน้มการตั้งสำรองในปีนี้คาดว่าจะใกล้เคียงกับปี 59 ที่ตั้งไป 2.3 พันล้านบาท โดยส่วนอัตราส่วนการตั้งสำรองต่อหนี้สงสัยจะสูญ (coverage ratio) ในปีนี้จะรักษาให้ใกล้เคียงกับปีก่อนที่อยู่ 110% แม้ว่าจะยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ที่มี coverage ratio อยู่ที่ 140% ซึ่งธนาคารยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องเพิ่มให้เท่ากับระบบอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ เพราะสินเชื่อของธนาคารส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันคุ้มค่า
อินโฟเควสท์