- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Monday, 16 January 2017 09:02
- Hits: 4296
คนร.บี้ไอแบงก์ฟื้นกิจการตีกรอบสิ้นปี60 ต้องทำกำไร
แนวหน้า : ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซุปเปอร์บอร์ด ร่วมกับรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยในช่วงต้นการประชุมนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการทุกคณะให้เวลา 3 เดือน ในทุกเรื่อง ถ้า 3 เดือนไม่ยุติ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ก็จำเป็นต้องดูแลงานโครงสร้างทั้งหมด รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาได้ตรวจสอบแล้วยังพบว่ามีปัญหาอยู่บ้างในทางปฏิบัติ และยังติดปัญหาหลายอย่าง จึงต้องมีคณะทำงานปฏิรูปขึ้นมา เช่นเดียวกับการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจทั้งหมด เรื่องนี้อยู่ที่ความร่วมมือ หรือที่ทุกคนมีจิตใจอยากจะทำอยากจะให้มันเกิดขึ้น เพื่อให้เป็นผลดีกับประเทศ
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) แถลงว่าที่ประชุมคนร.ได้หารือถึงความคืบหน้าการดำเนินตามแผนฟื้นฟูกิจการของรัฐวิสาหกิจทั้ง7 แห่ง โดยธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ไอแบงก์) ได้รายงานความชัดเจนการตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (IAM) ซึ่งได้เร่งให้โอนหนี้ด้อยคุณภาพ(เอ็นพีเอฟ) ที่ไม่ใช่ของชาวมุสลิม เกือบ 5 หมื่นล้านบาท ไปให้ IAM บริหารจัดการ
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีขอความเห็นชอบแหล่งเงินการเพิ่มทุนให้ไอแบงก์ 1.8 หมื่นล้านบาท ก่อนนำเข้าประชุมผู้ถือหุ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้และให้ไอแบงก์สรรหาพันธมิตรใหม่ให้เสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้และสิ้นปีต้องทำกำไรให้ได้
“ไม่ว่าไอแบงก์จะมีหรือไม่มีพันธมิตรใหม่ปีนี้จะต้องมีกำไร เพราะโอนหนี้เสียไปไว้ใน IAM แล้ว อีกทั้งพันธมิตรที่เข้ามาไม่จำกัดเฉพาะต่างประเทศแต่เปิดรับทั้งหมด ขอเพียงแต่เข้ามาบริหารธุรกิจด้านอิสลาม”
นอกจากนี้ ยังรับทราบความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) โดยเฉพาะข้อเสนอของร.ฟ.ท.ที่ขอพัฒนาที่ดินย่านมักกะสันและการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงเอง คนร.จึงมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม และร.ฟ.ท.พิจารณารายละเอียดอีกครั้ง โดยต้องจัดทำแผนให้ชัดเจนรวมทั้งจะลดภาระหนี้สินร.ฟ.ท.ที่มีอยู่กว่า 1 แสนล้านบาทได้อย่างไร ก่อนส่งให้คณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ และยังเร่งร.ฟ.ท.เบิกจ่ายลงทุนในปีนี้ให้ได้ตามเป้าไม่ต่ำกว่า 95% ของวงเงินลงทุนร.ฟ.ท.ทั้งหมด เพราะมีงบลงทุนในปีนี้มากถึง6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการทำงาน หรือ KPI ด้วย
ส่วนความคืบหน้ารัฐวิสาหกิจอื่นทั้งธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ซึ่งมีผลงานดีขึ้นทำกำไรได้ 1,600 ล้านบาท ปีนี้คนร.กำหนดให้ธพว.เร่งปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อราย ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท และบริหารจัดการเอ็นพีแอลไม่เกิน 1.66 หมื่นล้านบาท วันนี้ยังไม่ได้ให้ธพว.ออกจากแผนฟื้นฟู แต่จะขอพิจารณาอีก 3 เดือนก่อน โดยจะขอดูการตั้งสำรองของธนาคารให้เป็นไปตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ก่อน
ขณะที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) คนร.ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมกำกับการดำเนินงานของกรมการขนส่งทางบกและ ขสมก.ให้เป็นไปตามมติ คนร. โดยย้ำให้เข้มงวดเรื่องความปลอดภัย ส่วนปัญหารถเมล์เอ็นจีวี ขสมก.รายงานว่ามีข้อขัดแย้งกันระหว่างเอกชนและกรมศุลกากร ไม่เกี่ยวกับขสมก. แต่นายกรัฐมนตรีกำชับให้ทำทุกอย่างตามกฎระเบียบ
ด้านบริษัทการบินไทยมีผลประกอบการดีตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 เป็นต้นมา โดยการดำเนินการตามแผนส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการดำเนินการ จึงมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมดูแลอย่างเคร่งครัด และมอบหมายให้เร่งจัดทำระบบขายตั๋วให้เพิ่มสัดส่วนการขายผ่านช่องทางอินเตอร์เนต และพิจารณาความเหมาะสมการลงทุนในบริษัทลูกต่างๆ
สำหรับบริษัท ทีโอที และบริษัท กสท โทรคมนาคม ได้รายงานความคืบหน้าการปรับโครงสร้างธุรกิจของทั้ง 2 บริษัท โดยได้ควบรวมธุรกิจโครงข่ายระหว่างประเทศ (NGN) และดาต้าเซ็นเตอร์ (IDC) เป็นบริษัทภายใต้ชื่อ NGDC ในการดำเนินธุรกิจเคเบิ้ลใยแก้วใต้น้ำและอินเตอร์เนตดาต้าเซ็นเตอร์ และ NBN ในการดำเนินธุรกิจอินเตอร์เนตบรอดแบรนด์ โดยมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมร่วมกับทั้ง 2 หน่วยงานกำหนดแผนธุรกิจให้ชัดเจน