- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Wednesday, 11 January 2017 22:19
- Hits: 7831
กสิกรไทยออกมาตรการเร่งช่วยเหลือเอสเอ็มอีประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้
สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้วิกฤติหนัก กระทบวงกว้าง 12 จังหวัด กสิกรไทยออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าเอสเอ็มอี พักชำระเงินต้น 12 เดือน ขยายเทอมตั๋วสัญญาใช้เงินและวงเงินต่างประเทศ พร้อมสนับสนุนวงเงินเพื่อซ่อมแซม และส่งทีมงานลงพื้นที่ดูแล ช่วยลูกค้าที่ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิด
นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ สร้างความเสียหายให้กับ 12 จังหวัด ประกอบด้วย พัทลุง นราธิวาส ยะลา สงขลา ปัตตานี ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนอง กระบี่ และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวนอกจากสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อลูกค้าธุรกิจของธนาคารที่อยู่ในพื้นที่ โดย ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับความเสียหายทั้งสถานประกอบการ สินค้าและวัตถุดิบที่เก็บไว้ในสต็อก และไม่สามารถขายสินค้าได้ ธนาคารจึงออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจของธนาคารใน 12 จังหวัดเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระและเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกค้าในช่วงประสบอุทกภัย
มาตรการการช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมภาคใต้ ประกอบด้วย การลดยอดผ่อนชำระหรือพักชำระเงินต้นนานสูงสุด 12 เดือน รวมถึงการขยายเทอมตั๋วสัญญาใช้เงินและวงเงินการค้าต่างประเทศ และหากสถานการณ์คลี่คลายแล้ว ลูกค้าที่ต้องการวงเงินเพื่อซ่อมแซมสถานประกอบการ เครื่องจักร รวมถึงชดเชยสต็อกสินค้าที่เสียหายจากอุทกภัย ธนาคารจะพิจารณาให้วงเงินกู้โดยพักชำระเงินต้นนานสูงสุด 6 เดือน และไม่ต้องประเมินราคาหลักประกันใหม่ โดยต้องขอวงเงินภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้
นายสุรัตน์ กล่าวตอนท้ายว่า ธนาคารได้ให้การช่วยเหลือลูกค้าในทุกครั้งที่เกิดวิกฤติและได้รับผลกระทบ เพื่อให้ลูกค้าของธนาคารสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ สำหรับเหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้ในครั้งนี้ มีลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารจำนวน 14,395 รายที่อยู่ใน 12 จังหวัดดังกล่าว ซึ่งลูกค้าได้รับผลกระทบมากน้อยแตกต่างกันไป ธนาคารกำลังลงพื้นที่สำรวจและประเมินความเสียหายของลูกค้าที่ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิด โดยหวังว่ามาตรการการช่วยเหลือในครั้งนี้จะช่วยบรรเทาภาระและให้ลูกค้ามีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจต่อไป จนกว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะเข้าสู่ภาวะปกติ
ลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารที่ได้รับผลกระทบสามารถติดต่อขอรับมาตรการช่วยเหลือได้ที่ผู้ดูแลความสัมพันธ์ลูกค้า หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ K-Biz Contact Center โทร. 02-8888822