- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Saturday, 07 January 2017 10:38
- Hits: 3542
หนี้เน่าแบงก์รัฐพุ่งกระอัก 3.35 หมื่นล.อ้างเศรษฐกิจไม่ดี
ไทยโพสต์ * คลังเปิดผลงานแบงก์รัฐไตรมาส 3 ปี 59 ตะลึงหนี้เน่ากระหึ่ม 3.35 หมื่นล้าน บาท โอดเศรษฐกิจชะลอกระ ทบความสามารถชำระหนี้
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐ กิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) สิ้นไตรมาส 3 ปี 2559 โดยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มียอดคงค้าง 2.53 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.35 หมื่นล้านบาท สัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมยังปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 6.4% เมื่อเปรียบเทียบกับสิ้นไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เนื่องจากลูกค้า ประชาชน และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามที่กำหนด เพราะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทำให้ตัวเลขเอ็นพีแอลปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ขณะที่สินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2559 มียอดคงค้าง 1.57 แสนล้านบาท ลดลง 1.88 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นไตรมาส 2 โดยสัดส่วนต่อสินเชื่อรวม สิ้นไตรมาส 3 ปี 2559 อยู่ที่ 4% ลดลงเมื่อเทียบกับสิ้นไตรมาส 2 ปี โดยแบงก์รัฐได้มีการกันสำรองอยู่ในระดับที่สูงเพียงพอต่อการรองรับความเสี่ยงดังกล่าว โดยมีสัดส่วนกำไรกันสำรองต่อเอ็นพีแอล คิดเป็น 142.6%
ทั้งนี้ ระบบแบงก์รัฐสิ้น ไตรมาส 3 ปี 2559 ยังมีเสถียร ภาพ และผลการดำเนินงานอยู่ ในเกณฑ์ที่ดี โดยสินเชื่อยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และมีเงินกองทุนอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการดำเนินงานในระยะต่อไป โดยมีกำไรสุทธิ 2.98 หมื่นล้าน บาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 2.74 หมื่นล้านบาท โดยอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ เฉลี่ยอยู่ที่ 2.6% ส่วนอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ 12.6% ซึ่งเป็นระดับที่เพียงพอต่อการดำเนินงานในระยะต่อไป
ขณะที่สินเชื่อของแบงก์รัฐสิ้นไตรมาส 3 ปี 2559 มีจำนวนทั้งสิ้น 4.18 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.6% แต่สินเชื่อธุรกิจปรับตัวลดลง 2.5%.
สศค เผยศก.ไทย พ.ย.ปรับตัวดีขึ้น หลังส่งออกขยายตัวสูง 10.2%-การบริโภคเอกชน การเบิกจ่ายภาครัฐยังหนุน
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤศจิกายน 2559 ว่า ปรับตัวดีขึ้นโดยได้รับปัจจัยบวกจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 10.2 ต่อปี ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนและการเบิกจ่ายภาครัฐยังคงสนับสนุนเศรษฐกิจต่อเนื่อง นอกจากนี้ เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยทั้งภายในและภายนอกประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดีสามารถรองรับความผันผวนจากต่างประเทศได้ดี
โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจาก ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนพฤศจิกายน 2559 ที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกันที่ร้อยละ 10.6 ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ขยายตัวร้อยละ 12.2 และเขตภูมิภาคที่ขยายตัวร้อยละ 4.1 เช่นเดียวกับยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 ต่อปี ขณะที่การใช้จ่ายของรัฐบาลโดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนยังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง สะท้อนจากการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนในเดือนพฤศจิกายน 2559 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 89.8 ต่อปี ทำให้รายจ่ายลงทุนในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 ขยายตัวที่ร้อยละ 40.9 ต่อปี
มูลค่าการส่งออกในเดือนพฤศจิกายน 2559 มีมูลค่า 18.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ร้อยละ 10.2 ต่อปี โดยขยายตัวได้ดีในทุกกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ เกษตรกรรม อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และส่วนประกอบ เป็นสำคัญ โดยส่งออกไปยังตลาดหลัก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา เวียดนาม กลุ่มประเทศในอาเซียน และในแอฟริกา สำหรับมูลค่าการนำเข้าในเดือนพฤศจิกายน 2559 พบว่าขยายตัวร้อยละ 3.0 ต่อปี จากการนำเข้าเชื้อเพลิง วัตถุดิบหักทอง และสินค้าทุน เป็นสำคัญ ทั้งนี้ ดุลการค้าในเดือนพฤศจิกายน 2559 ยังคงเกินดุลที่ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการเกินดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการผลิตยังคงมีสัญญานที่ดี สะท้อนจากความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันที่ระดับ 87.6 และเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 20 เดือน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความคาดหวังของผู้ประกอบการต่อมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงปลายปี ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็มีการจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นยอดขายในหลายอุตสาหกรรมในช่วงสิ้นปี ทำให้มีการผลิตเพื่อรองรับบรรยากาศการใช้จ่ายภายในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
เสถียรภาพเศรษฐกิจยังคงแข็งแกร่ง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนพฤศจิกายน 2559 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.6 และ 0.7 ตามลำดับ อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.0 ของแรงงานรวม นอกจากนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ( GDP) ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2559 อยู่ที่ระดับร้อยละ 42.7 ถือว่ายังอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0
ส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2559 อยู่ที่ 174.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสัดส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศเมื่อเทียบกับหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ณ เดือนตุลาคม 2559 คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 3.3 เท่า สะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคงของเศรษฐกิจไทยในการรองรับความเสี่ยงจากความ ผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ธันวาคม 2559 คาดว่าจะดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนพฤศจิกายน หลังตัวเลขการส่งออกสูงถึง 10.2% คิดเป็นมูลค่า 18,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยขยายตัวได้ดีในทุกกลุ่มสินค้า แต่ทั้งปี 2559 ยังคงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.3%
"การส่งออกในเดือนธ.ค.น่ายังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดย สศค.เชื่อว่าส่งออกปีนี้จะดีขึ้น จากเดิมคาดหดตัว 0.5% อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามการเบิกจ่ายภาครัฐอย่างใกล้ชิดว่าจะเป็นไปตามกรอบเวลาที่ตั้งไว้หรือไม่ ส่วนจีดีพีไทยปีนี้ยังคงเดิมที่ 3.3%"นายกฤษฎา กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย