- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Sunday, 31 July 2016 23:53
- Hits: 5598
KKP กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เสริมแกร่งธุรกิจ ขยายฐานสินเชื่อทั้งรายย่อยและบรรษัท พร้อมบุกตลาดกลุ่มลูกค้าบริหารเงินลงทุน 2 ลบ.
'กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร-KKP'เผยภาพรวมยังคงรักษาผลประกอบการได้ดี แม้สินเชื่อโดยรวมจะยังไม่ขยายตัว ครึ่งปีหลังยังคงเดินตามแผนธุรกิจที่วางไว้ โดยธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้ขยายฐานสินเชื่อไปสู่สินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นที่ไม่ใช่สินเชื่อเช่าซื้อผ่านสายงานที่จัดตั้งใหม่ เผยการตอบรับดีเกินคาดหลังเริ่มให้บริการเมื่อต้นปี ส่วนสินเชื่อรวมได้พิจารณาปรับลดเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อรวมเป็น 3-5% ตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงผันผวน ด้านตลาดทุนยังคงเน้นกลุ่มลูกค้า Wealth Management โดยเฉพาะ Mass Affluent ระดับ 2 ล้านบาท เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพสูงและต้องการวางแผนทางการเงินมากขึ้น
นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร(Mr. Aphinant Klewpatinond, Chief Executive Officer, Kiatnakin Phatra Financial Group) เปิดเผยว่า ครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ภาพรวมผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจฯ อยู่ในเกณฑ์ที่ดี แม้การขยายสินเชื่อรวมไม่เป็นไปตามคาดซึ่งมาจากหลายปัจจัย อาทิ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ยังคงหดตัวตามภาวะตลาดรถโดยรวม ในขณะที่สินเชื่อรถมือสองเติบโตดีขึ้นและสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่ารถใหม่ ส่วนสินเชื่อบรรษัทที่เป็นสินเชื่อขนาดใหญ่ที่ให้กับฐานลูกค้าในกลุ่มบริษัทจดทะเบียนและบริษัทขนาดใหญ่ มีการอนุมัติได้ค่อนข้างมากสอดคล้องกับเป้าหมายแต่ก็มีการชำระคืนกลับมาเร็ว ทำให้ยอดสินเชื่อคงค้างไม่ได้เพิ่มมากนัก นอกจากนี้ ทางด้านต้นทุนทางการเงินสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพส่งผลให้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลดลงอย่างต่อเนื่อง (ปัจจุบันอยู่ที่ 2.7%)
ในด้านคุณภาพสินเชื่อ คุณภาพหนี้ของรายย่อยดีขึ้นมาก ส่วนคุณภาพสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มเสื่อมถอยลงบ้าง แต่ก็ไม่ได้มากและไม่ได้มีภาระเรื่องกันสำรองเนื่องจากมีหลักประกันเต็มจำนวน นอกจากนี้ในส่วนของธุรกิจบริหารหนี้ ธนาคารมีการขายทรัพย์รอการขายได้ในอัตราที่ใกล้เคียงกับไตรมาสแรก รวมถึงรายได้จากตลาดทุนในเรื่องของการเป็นนายหน้าดีขึ้นตามลำดับจากมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นตามสภาวะตลาด ตลอดจนรายได้จากธุรกิจการลงทุนที่ดีขึ้นในเกือบทุกประเภท ทั้งนี้ จากผลประกอบการที่ออกมาค่อนข้างดี ธนาคารได้ทำการสำรองทั่วไปเพิ่มขึ้นใน 6 เดือนแรกอยู่ที่ 650 ล้านบาท ส่งผลให้อัตราส่วนสำรองต่อสำรองตามเกณฑ์อยู่ในระดับที่ดีที่ 169.8% เพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจ
“ส่วนครึ่งปีหลังยังคงดำเนินตามแผนธุรกิจที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง โดยจะมุ่งเน้นที่สินเชื่อที่ในอดีตธนาคารไม่ได้ดำเนินการ เช่น สินเชื่อบรรษัทที่จะก่อให้เกิดรายได้ที่เป็นดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมที่ดี และเริ่มเห็นผลจากการร่วมมือระหว่างเกียรตินาคินและภัทรอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ตลอดจนจะมุ่งขยายฐานลูกค้าสินเชื่อรายย่อย ผ่านทางเครือข่ายสาขาและสายงานช่องทางการตลาดและพัฒนาฐานลูกค้าที่จัดตั้งใหม่เมื่อปลายปี 2558 ซึ่งโดยรวมแล้ว สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเคหะ สินเชื่อ KK SME รถคูณสาม สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ราว 500-600 ล้านบาทต่อเดือน โดยเฉพาะครึ่งปีหลังจะเห็นผลอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น และจะช่วยผลักดันให้รายได้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและมีการกระจายตัวที่ดีขึ้นได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าภาวะเศรษฐกิจต่อจากนี้จะค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และยังคงมีความผันผวนจากภาวะเศรษฐกิจโลกอยู่บ้าง ตลอดจนอุตสาหกรรมธนาคารมีการแข่งขันสูงเพื่อเป็นการดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง จึงได้พิจารณาปรับลดเป้าอัตราการเติบโตของสินเชื่อรวมเป็น 3-5% (จากเดิม 15%)
ด้านตลาดทุน สภาวะตลาดในไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมาค่อนข้างผันผวน ตลาดได้รับผลกระทบจากความกังวลในเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางของสหรัฐและการลงประชามติของสหราชอาณาจักรอังกฤษที่ลงคะแนนเห็นชอบกับการออกจากสหภาพยุโรป ส่งผลให้ตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกต้องปรับตัว โดยมีการเคลื่อนย้ายสภาพคล่องส่วนเกินจำนวนมากสู่ประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจที่ดี ผลักดันให้ตลาดในประเทศไทยรวมทั้งตลาดที่เกิดขึ้นใหม่เป็นที่สนใจ เปรียบเสมือน Safe Haven ทำให้นักลงทุนต่างชาติหันมาซื้อสุทธิมากขึ้น ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจฯ ยังคงเน้นการทำงานใน 2 ด้านหลักคือการต่อยอดธุรกิจ Wealth Management ที่ปัจจุบันมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การให้คำแนะนำ (Asset Under Advice : AUA) ที่ 343,000 ล้านบาท กลุ่มที่มีโอกาสเติบโตสูงคือ Phatra Edge ที่มีพอร์ตการลงทุนและเงินฝากตั้งแต่ระดับ 2 ล้านบาท มีความต้องการบริหารเงินลงทุนเพิ่มขึ้น และอีกหนึ่งด้านคือรักษาความเป็นผู้นำในด้านธุรกิจวานิชธนกิจ (Investment Banking) ที่ภัทรเป็นผู้นำในธุรกิจนี้อยู่แล้ว ขณะนี้บริษัทมีงานขนาดใหญ่อยู่ในมือ ซึ่งก็ขึ้นอยู่ว่าจะสามารถเป็นไปตามแผนในครึ่งหลังของปีหรือไม่ ส่วนการลงทุนระยะยาวซึ่งเป็นการลงทุนโดยตรง (Direct Investment) ในต่างประเทศในหุ้นที่มีราคาต่ำกว่าราคาพื้นฐานได้มีการลงทุนที่เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนที่สูง”
นายชวลิต จินดาวณิค ประธานสายการเงินและงบประมาณ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (Mr. Chavalit Chindavanig, Head of Finance and Budgeting, Kiatnakin Bank Plc.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานงวดครึ่งปีแรกปี 2559 เปรียบเทียบกับงวดครึ่งปีแรกปี 2558 ว่า “กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร มีกำไรสุทธิรวม 2,404 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 70.1% และกำไรเบ็ดเสร็จรวม 2,841 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 108.8% ส่วนของรายได้ แบ่งเป็นรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 4,872 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.7% โดยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจาก 4.1% เป็น 4.7% รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ 1,805 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 6.5% รายได้รวมจากการดำเนินงาน 7,600 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 10.9% มีเงินให้สินเชื่อรวม 175,108 ล้านบาทลดลง 1.6% จากสิ้นปี 2558 โดยสินเชื่อเช่าซื้อหดตัว 2% สินเชื่อธุรกิจหดตัว 7.9%
ในขณะที่สินเชื่อบรรษัทขยายตัว 13% ในด้านคุณภาพของสินเชื่อ อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาส 2 อยู่ที่ 6.1% เพิ่มขึ้นจาก 5.8% ณ สิ้นปี 2558 โดยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อด้อยคุณภาพของสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สำหรับคุณภาพของสินเชื่อในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อยังคงมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ลดลงอยู่ที่ 2.1% สำหรับสถานการณ์ขายขาดทุนรถยึดของธนาคารยังคงมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากสิ้นปีก่อน ส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) คำนวณตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งรวมกำไรถึงสิ้นปี 2558 อยู่ที่ 17.81% (เป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 15.09%) หากรวมกำไรถึงสิ้นไตรมาส 2/2559 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงจะเท่ากับ 19.24% (เงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 16.52%) ทั้งนี้ธนาคารได้ตั้งสำรองทั่วไป (General Provision) ในไตรมาส 1/2559 จำนวน 350 ล้านบาท และในไตรมาส 2/2559 อีก 300 ล้านบาทรวมเป็น 650 ล้านบาท ส่งผลให้อัตราส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 95.7% และอัตราส่วนสำรองต่อสำรองตามเกณฑ์สูงถึง 169.8%
สื่อมวลชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ ทิพวรรณ (โม) โทร 081 421 2923 หรือ E-mail: [email protected]