- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Tuesday, 15 July 2014 00:10
- Hits: 3391
ทีเอ็มบี จับมือ 3 ยักษ์ใหญ่ เอสซีจี เปเปอร์ เบอร์ลี่ ยุคเกอร์และเซ็นทรัล กรุ๊ป ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เปิดอบรม TMB Efficiency Improvement for Supply Chain รุ่นที่ 3 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทั้งซัพพลายเชนสินค้าอุปโภค
ทีเอ็มบี เอสซีจี เปเปอร์ เบอร์ลี่ ยุคเกอร์และเซ็นทรัล กรุ๊ป จับมือร่วมกันติวเข้มผู้ประกอบการในซัพพลายเชนสินค้าอุปโภค ตามโครงการ TMB Efficiency Improvement for Supply Chain เพื่อยกระดับประสิทธิภาพทั้งซัพพลายเชน เชื่อเป็นแนวทางที่ยั่งยืน ช่วยลดต้นทุน ตอบโจทย์สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน
นายปพนธ์ มังคละธนะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเอสเอ็มอีและซัพพลายเชน ทีเอ็มบี กล่าวว่าในภาวะปัจจุบันที่การแข่งขันในอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคเข้มข้น ผู้ประกอบการไม่สามารถเพิ่มราคาสินค้าได้ ในขณะที่ต้นทุนเพิ่มขึ้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องปฏิรูปตัวเอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการตลอดทั้งซัพพลายเชน ลดความสูญเสีย และตัดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นออก รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจในการทำงานร่วมกันกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น เพราะเราเชื่อว่าการพัฒนาประสิทธิภาพทั้งซัพพลายเชนย่อมส่งผลดีกว่าการพัฒนาตนเองเพียงลำพัง โครงการ TMB Efficiency Improvement for Supply Chain นี้ ได้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนหลักการดังกล่าว โดยที่ผ่านมา ทางทีเอ็มบีได้เปิดการอบรมในซัพพลายเชนอุตสาหกรรมอาหารมาแล้ว 2 รุ่น โดยผู้เข้าอบรมได้นำองค์ความรู้ไปปฏิบัติจนลดต้นทุนได้สำเร็จ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ ผู้ประกอบการต้องร่วมมือกันเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อ ลดต้นทุน เพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันในซัพพลายเชนของตน ช่วยกันทำให้ราคาสินค้าในตลาดไม่เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นเมื่อถึงมือผู้บริโภค
โครงการ TMB Efficiency Improvement for Supply Chain รุ่นที่ 3 จึงได้เลือกเปิดอบรมให้กับ ซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภค เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้มีจีดีพีสูงถึง 28% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท ซึ่งมีต้นทุนอยู่ที่ 85% ดังนั้น ทุก 1% ของต้นทุนที่ลดลง จะเป็นเงินประมาณ 28,000 ล้านบาท หรือส่งผลให้จีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้น 0.2% นั่นเอง
สำหรับ โครงการรุ่นที่ 3 นี้ได้รับการตอบรับเป็นพันธมิตรร่วมจาก 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่เป็นต้นแบบขององค์ความรู้และเข้าใจถึงความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพของเอสเอ็มอีและซัพพลายเชน ที่พร้อมใจกันเข้ามาเป็นพันธมิตรของโครงการ ได้แก่ บริษัท เอสซีจี เปเปอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านนวัตกรรมกระดาษและบรรจุภัณฑ์ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด(มหาชน) ผู้นำในธุรกิจ การผลิตสินค้า บริการ การจัดจำหน่ายและลอจิสติกส์ทั้งในประเทศและภูมิภาค รวมทั้งบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ผู้นำด้านธุรกิจค้าปลีกชั้นนำของไทย ที่เข้าถึงลูกค้าทุกระดับและครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการจะได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติในหลักการของ Lean Six Sigma ซึ่งเป็นเครื่องมือในการจัดการประสิทธิภาพ และองค์ความรู้ด้านซัพพลายเชน นอกจากนั้นยังได้เรียนรู้กรณีศึกษาจากประสบการณ์ของพันธมิตรในวงการสินค้าอุปโภค ทั้ง 3 บริษัทอีกด้วย
นายชาติชาย ลือกุลวัฒนะชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัทสยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด ในเอสซีจี เปเปอร์ กล่าวว่า เอสซีจีมีกลยุทธ์การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนที่ทุกองค์กรสามารถนำไปประยุกต์ได้ นอกจากนั้นยังยกระดับคู่ธุรกิจซึ่งเปรียบเสมือนต้นน้ำ ได้แก่ ผู้ผลิตสินค้า ผู้ให้บริการ และผู้จัดจำหน่าย โดยใช้ประสบการณ์ด้านธุรกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่องค์กรทำสำเร็จแล้วไปช่วยปรับปรุงให้คู่ธุรกิจประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน สร้างมูลค่าเพิ่ม สู่ปลายน้ำ คือ ลูกค้า ผู้อุปโภคและบริโภค ด้วยการเข้าใจและตอบสนองต่อความคาดหวังและความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า และการส่งเสริมเผยแพร่แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับภาคส่วนต่างๆ แม้จะไม่มีความเกี่ยวข้อง หรือความสัมพันธ์โดยตรงก็ตาม การปรับปรุงจากต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตลอดถึงการเพิ่มประสิทธิภาพจากความร่วมมือโดยใช้จุดแข็งที่ต่างฝ่ายต่างมีอยู่เอื้อประโยชน์เสริมกันและกัน จะช่วยเสริมให้ทั้งเราและคู่ธุรกิจมีความเป็นมืออาชีพ ตลอดจนสามารถขยายผลต่อในห่วงโซ่ต่อๆ ไป ซึ่งจะช่วยสร้างการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนกับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศโดยรวมได้
นายปฐพงศ์ เอี่ยมสุโร รองผู้จัดการใหญ่ กลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภค บริโภค บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า บีเจซี มีธุรกิจหลากหลายที่ครอบคลุมธุรกิจตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ดังนั้น บริษัทจึงให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนา และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการในทุกกระบวนการทำงาน สำหรับในการดำเนินการเกี่ยวกับโรงงานผลิต บริษัทได้นำระบบควบคุมคุณภาพและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตมาปรับใช้ อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้นำระบบ Lean Six Sigma มาใช้ในการพัฒนาประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต เพื่อควบคุมต้นทุนและพัฒนาประสิทธิภาพที่บริษัทอุตสาหกรรมทำเครื่องแก้วไทย จำกัด (มหาชน) (TGI) ซึ่งได้รับผลลัพธ์ที่ดีมาก ขณะนี้ก็ได้วางแผนนำไปปรับใช้ยังบริษัทที่ทำการผลิตอื่นๆ ในกลุ่มบีเจซี สำหรับการเข้าร่วมโครงการกับทีเอ็มบีในครั้งนี้นับว่าเป็นโอกาสที่ดีและจะเป็นประโยชน์กับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เพราะจะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เกิดการเรียนรู้ร่วมกันและเกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ผู้ประกอบการสามารถจะนำไปปรับใช้ในธุรกิจของตนเองและสร้างประโยชน์ต่อองค์กรได้ในอนาคต นับเป็นโครงการที่ดีในการสร้างความแข็งแรงและรากฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของประเทศ
นางสาวบุษบา จิราธิวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กล่าวว่า กลุ่มเซ็นทรัลได้ให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อระหว่างซัพพลายเชนเป็นอย่างมาก ด้วยการลงทุนระบบซัพพลายเชนระหว่างบริษัทในเครือเดียวกัน ทั้งในการจัดการเรื่องการขนส่ง การกระจายสินค้า การเก็บรักษาสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด นอกจากนั้น ยังได้กระจายความรู้ไปยังสาขาต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกัน กลุ่มเซ็นทรัล ถือเป็นบริษัทค้าปลีกที่มีคู่ค้าเอสเอ็มอีเป็นจำนวนมาก และเราได้ช่วยเหลือและสนับสนุนเอสเอ็มอีในระดับชุมชนทั่วประเทศ ในการจัดจำหน่ายในพื้นที่ของหน่วยธุรกิจต่างๆ ของเซ็นทรัลทั้งในและต่างประเทศ และได้ให้ความรู้เพื่อการพัฒนาต่อยอดสินค้าให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า เพื่อสนับสนุนให้สินค้าของเอสเอ็มอีไทยก้าวเข้าสู่ตลาดสากลได้
โครงการ TMB Efficiency Improvement for Supply Chain รุ่นที่ 3 สำหรับผู้ประกอบการสินค้าอุปโภค เปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่วันนี้ ถึง วันที่ 31 ก.ค. นี้ สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 087 575 7000, 02 299 2250 email : [email protected],
website : www.tmbbank.com/business และ Facebook : TMB Efficiency Improvement for Supply Chain