- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Saturday, 27 February 2016 23:04
- Hits: 5364
สภาแบงก์รัฐเตรียมใช้กองทุนฯพัฒนาระบบคอร์แบงกิ้งของสมาชิก
แนวหน้า : นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ในฐานะประธานสภาสถาบันการเงินของรัฐ เปิดเผยว่า ได้มีการหารือเรื่องแนวทางการใช้เงินในกองทุนพัฒนาสถาบันการเงินของรัฐ ว่าสามารถเอามาพัฒนาได้ในหลายรูปแบบไม่จำเป็นต้องเอามาใช้เพิ่มทุนให้แบงก์รัฐที่มีปัญหาเพียงอย่างเดียว แต่สามารถนำเงินมาใช้เพื่อพัฒนาระบบที่เป็นส่วนรวมได้ ซึ่งที่ผ่านมาทางธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและ ขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ ได้มาหารือกับธนาคารออมสิน ว่าต้องการให้ธนาคารออมสินเข้ามาช่วยพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์หลัก หรือ คอร์แบงกิ้งให้ เอสเอ็มอีแบงก์ รวมถึงแบงก์รัฐขนาดเล็ก แห่งอื่นๆ ด้วย เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ลดระยะเวลาในการพัฒนาระบบเองที่ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี และยังลดค่าใช้จ่ายเพราะเป็นการต่อยอดหรือพัฒนามาจากระบบของธนาคาร ซึ่งจะทำให้มีต้นทุนที่ถูกลง
"เป็นแนวคิดที่ไม่เป็นทางการที่ทางเอสเอ็มอีแบงก์เข้ามาหารือกับออมสินเรื่องนี้ เพราะที่เอสเอ็มอีแบงก์ มีแค่การปล่อยสินเชื่อเพียงอย่างเดียว และระบบของออมสินใช้มานานไม่มีปัญหา จึงน่าเข้ามาพัฒนาให้แบงก์รัฐ โดยเฉพาะแบงก์ขนาดเล็ก ส่วน กรณีไอแบงก์ ไม่มีระบบคิดดอกเบี้ยกับลูกค้า คงต้องใช้คอร์แบงก์ของตัวเอง ส่วนเรื่องแหล่งเงินที่จะเอามาใช้พัฒนาระบบคอร์แบงกิ้งครั้งนี้ ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะใช้เงินของแต่ละแห่ง หรือ เงินจากกองทุนพัฒนาแบงก์รัฐ" นายชาติชายกล่าว
รายงานข่าวจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการธอส.ล่าสุด มีมติอนุมัติให้เปิดให้มีการจัดซื้อ จัดจ้างระบบคอร์แบงกิ้งใหม่ ในวงเงิน 2,000 ล้านบาท โดยให้เร่งดำเนินการเปิดประมูลภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 และยังให้สิทธิเข้าประมูลได้ทั้งผู้วางระบบรายเก่า คือ บริษัท อินโฟซิส เทคโนโลยี และรายใหม่สามารถยื่นข้อเสนอเข้ามาได้ คาดว่าจะใช้เวลาในการพัฒนาระบบราว 2 ปี ขณะที่สัญญาเดิมกำลังครบกำหนดในสิ้นเดือนเม.ย. 2560 นี้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาระบบคอร์แบงกิ้งของธนาคารมีปัญหา และได้ทยอยแก้ไขอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ถือว่าสำเร็จสมบรูณ์ โดยก่อนหน้านี้มีการเสนอให้ว่าจ้างบริษัทเดิม คือ บริษัท อินโฟซิส เทคโนโลยี เข้ามาอัพเกรดระบบเพิ่มเติมจากระบบ คอร์แบงกิ้งที่ใช้อยู่ปัจจุบัน โดยเสนอราคา 800 ล้านบาท แทนการพิจารณาว่าจ้างบริษัทใหม่ แต่ คณะกรรมการชุดก่อนหน้านี้ยังไม่มีการลงมติเป็น เอกฉันท์ เพราะเกรงว่าไม่สามารถแก้ข้อผิดพลาด ที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้นคณะกรรมการชุดใหม่จึงเห็นให้มีการเปิดประมูลผู้วางระบบรายใหม่ โดยที่ไม่ ตัดสิทธิ์รายเดิม เพื่อเปิดให้มีการเสนอระบบใหม่ เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างโปร่งใสกับทุกฝ่าย