- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Thursday, 21 January 2016 22:17
- Hits: 4865
กรุงไทยมีกำไรจากการดำเนินงานในปี 2558 จำนวน 65,689 ล้านบาท
ผลประกอบการธนาคารกรุงไทยในปี 2558 มีกำไรจากการดำเนินงาน 65,689 ล้านบาท หลังหักสำรองหนี้สูญและภาษีเงินได้มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร 28,492 ล้านบาท รายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักเติบโตต่อเนื่อง เนื่องจากสินเชื่อในกลุ่มที่มีผลตอบแทนสูงขยายตัว และมีการบริหารต้นทุนทางการเงินอย่างเหมาะสม ยังคงดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังและให้ความสำคัญกับคุณภาพสินทรัพย์
นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย แจ้งผลประกอบการในปี 2558 เปรียบเทียบกับปี 2557 ว่าธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงาน 65,689 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,784 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.66 หลังหักสำรองหนี้สูญและภาษีเงินได้ มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร 28,492 ล้านบาท ลดลง 4,699 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.16 ทั้งนี้รายได้หลักยังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 3,710 ล้านบาท รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 2,723 ล้านบาท เนื่องจากการบริหารต้นทุนอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังมีการขยายตัวจากรายได้ของธุรกรรมเพื่อการค้ารวมทั้งปริวรรตเงินตราต่างประเทศ
ณ 31 ธันวาคม 2558 ธนาคารและบริษัทย่อยมีเงินให้สินเชื่อ 2,027,441 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 74,445 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.81 โดยเพิ่มขึ้นจากสินเชื่อ SME และรายย่อย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีผลตอบแทนสูง มีเงินฝาก 2,135,499 ล้านบาท ลดลง 15,769 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.73 จากสิ้นปี 2557 โดยลดลงจากเงินฝากประจำที่ครบกำหนด ทั้งนี้ธนาคารได้ออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิตามเกณฑ์ Basel III สกุลเงินริงกิตมาเลเซียจำนวน 9,091 ล้านบาท
จากนโยบายการดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง และรักษาระดับของอัตราส่วนเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ธนาคารและบริษัทย่อยได้กันสำรองหนี้สูญ และขาดทุนจากการด้อยค่าจำนวน 30,541 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,898 ล้านบาท หรือร้อยละ 63.82 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามแนวโน้ม NPL ที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มลูกหนี้ SME รายย่อย และลูกค้าอุตสาหกรรมเหล็กรายใหญ่
ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ณ 31 ธันวาคม 2558 จำนวน 76,371 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18,882 ล้านบาท หรือร้อยละ 32.84 อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL Ratio net) เท่ากับร้อยละ 1.73 ทั้งนี้หากไม่รวมสินเชื่อด้อยคุณภาพจากอุตสาหกรรมเหล็กรายใหญ่ สินเชื่อด้อยคุณภาพเท่ากับ 65,863 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,374 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.57 อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL Ratio net) เท่ากับร้อยละ 1.59
สำหรับ เงินกองทุนชั้นที่ 1 มีจำนวน 225,092 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.43 และเงินกองทุนทั้งสิ้นเท่ากับ 299,621 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.22 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามเกณฑ์ความเสี่ยง ซึ่งคำนวณตามเกณฑ์ Basel III ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
ฝ่ายสื่อสารองค์กรและภาพลักษณ์ โทร. 0-2208-4174-7 21 มกราคม 2559