- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Wednesday, 21 October 2015 14:47
- Hits: 2609
กรุงศรี รายงานผลกำไรสุทธิ 4.9 พันล้านบาท สำหรับไตรมาส 3 ปี 2558 เพิ่มขึ้น 11.5% จากไตรมาส 2 ปี 2558
กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) ในเครือมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) วันนี้ได้รายงานผลกำไรสุทธิไตรมาส 3 ปี 2558 จำนวน 4.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.5% จากไตรมาส 2/2558 โดยปัจจัยขับเคลื่อนผลงานที่น่าพอใจมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ
สำหรับ เก้าเดือนแรกของปี 2558 กรุงศรีมีกำไรสุทธิ 13.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.3% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557
สรุปผลประกอบการ (ตามงบการเงินรวม) และฐานะการเงินที่สำคัญ สำหรับไตรมาส 3/2558
การเติบโตของเงินให้สินเชื่อ: เพิ่มขึ้น 22.1% หรือจำนวน 224 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2557 และลดลง 0.7% หรือจำนวน 8.1 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 สะท้อนความต้องการสินเชื่อที่ชะลอตัวในช่วงดังกล่าว
การเติบโตของเงินรับฝาก: เพิ่มขึ้น 20.9% หรือจำนวน 175 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2557 และเพิ่มขึ้น 0.5% หรือจำนวน 5.2 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558
กำไรสุทธิ: เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.9 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 11.5% จากไตรมาส 2/2558 และเพิ่มขึ้น 38.3% จากไตรมาส 3/2557
ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM): อยู่ที่ 4.24% ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2558 โดยในไตรมาส 3/2558 ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 3.79% จาก 3.70% ในไตรมาส ก่อนหน้า ปัจจัยหลักมาจากต้นทุนทางการเงินปรับตัวดีขึ้น
รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ: เพิ่มขึ้น 1.9% จากไตรมาส 2/2558 และเพิ่มขึ้น 14.1% จากไตรมาส 3/2557
อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้: อยู่ที่ 47.1% ระดับเดียวกับในไตรมาส 2/2558
สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้: อยู่ที่ 2.44% ต่อเงินให้สินเชื่อรวม เมื่อเทียบกับ 2.35% ในไตรมาส ก่อนหน้า
อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้: อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 139%
อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง: อยู่ที่ 14.3% เมื่อเทียบกับ 14.7% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2557
สินเชื่อมียอดรวมอยู่ที่ 1.237 ล้านล้านบาท สำหรับเก้าเดือนแรกของปี 2558 สินเชื่อขยายตัว 22.1% โดย เพิ่มขึ้นจำนวน 224 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2557 โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น 73.5% ปัจจัยหลักมาจากสินเชื่อ BTMU สาขากรุงเทพฯ ที่โอนมายังกรุงศรีในเดือนมกราคม 2558 ขณะที่สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหดตัว 8.1% สะท้อนกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลง สินเชื่อเพื่อรายย่อยเพิ่มขึ้น 5.1% จากความต้องการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์
เงินรับฝากมีจำนวนทั้งสิ้น 1.013 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 175 พันล้านบาท หรือ 20.9% จากเดือนธันวาคม 2557 การเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลจากการรับโอนเงินฝากจาก BTMU สาขากรุงเทพฯ ในเดือนมกราคมและความสำเร็จต่อเนื่องในการระดมเงินฝากผ่านผลิตภัณฑ์ "เงินฝากประจำ Step Up" และเงินฝากออมทรัพย์ "กรุงศรีมีแต่ได้" และ "ออมทรัพย์จัดให้" ทั้งนี้ สัดส่วนของเงินรับฝากประเภทออมทรัพย์และจ่ายคืนเมื่อทวงถามต่อสัดส่วนเงินรับฝากทั้งหมดอยู่ที่ 52.1% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2558
ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 4.24% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 โดยในไตรมาส 3/2558 ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 3.79% จาก 3.70% ในไตรมาสก่อนหน้า ปัจจัยหลักเกิดจากต้นทุนทางการเงินปรับตัวดีขึ้น
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2558 อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งหมดอยู่ที่ 2.44%
นายโนริอากิ โกโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "แม้ว่าสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 ยังคงอ่อนแอ แต่กรุงศรีสามารถสานต่อกลยุทธ์และมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจ และสะท้อนกับแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความรอบคอบระมัดระวังและความมุ่งมั่นในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า"
นายโกโตะ ให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มธุรกิจโดยรวมของธนาคาร "กรุงศรีคาดว่าในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือ ผู้ประกอบการ SME กอปรกับปัจจัยด้านฤดูกาลที่ขับเคลื่อนความต้องการสินเชื่อทั้งในส่วนของสินเชื่อเพื่อรายย่อยและสินเชื่อธุรกิจในช่วงไตรมาส 4 จะช่วยอัตราการขยายตัวของสินเชื่อของปี 2558 อยู่ในกรอบล่างของเป้าสินเชื่อที่ 4-6% (ไม่รวมผลจากสินเชื่อที่ได้รับโอนจาก BTMU สาขากรุงเทพฯ)"
ณ วันที่ 30 กันยายน 2558 กรุงศรีซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่ใหญ่เป็นอันดับห้าในไทยมีสินเชื่อรวม 1.2 ล้านล้านบาท เงินรับฝาก 1.0 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวม 1.6 ล้านล้านบาท ขณะที่ เงินกองทุนของธนาคารยังคงแข็งแกร่งอยู่ที่ 168.2 พันล้านบาท หรือเทียบเท่า 14.3% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นของเจ้าของคิดเป็น 12.5%