- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Tuesday, 22 September 2015 22:45
- Hits: 13350
ไอแบงก์ ปล่อยกู้ฐานลูกค้าเก่าชาวมุสลิม เติมสภาพคล่องกิจการ เน้นคุณภาพกันหนี้เน่า
แนวหน้า : นายมนต์ชัย รัตนเสถียร กรรมการและรักษาการผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ไอแบงก์) เปิดเผยว่า ธนาคารจะเน้นปล่อยสินเชื่อฐานลูกค้าเก่าที่เป็นชาวมุสลิม เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปเสริมสภาพคล่องในกิจการของตนเอง ให้มีเงินทุนหมุนเวียนเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจะพิจารณาผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ ดูความสามารถในการชำระหนี้และผลประกอบการในแต่ละราย
ขณะเดียวกัน ยังได้เข้าร่วมโครงการปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในอัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน ที่ให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้สถาบันการเงินเข้าร่วม 18 แห่ง วงเงินรวม 1 แสนล้านบาท คาดว่าจากโครงการดังกล่าวจะสามารถปล่อยกู้ให้กลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นชาวมุสลิมได้กว่า 1,000 ล้านบาท ขณะนี้มีลูกค้ายื่นคำขอสินเชื่อแล้ว 3,500 ราย วงเงินมากกว่า 3 แสนบาทต่อราย
ที่ผ่านมา ธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อกลุ่มมุสลิมมากขึ้นตามพันธกิจและเป็นไปตามคำสั่งของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด โดยมีโครงการสนับสนุนเอสเอ็มอี เช่น สินเชื่อเพื่อปรับปรุงสินค้าฮาลาล สินเชื่อเอสเอ็มอีรายย่อย ขณะนี้มีจำนวนลูกค้าที่เป็นมุสลิม 9 หมื่นราย เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีจำนวนมาก
“เราจะเน้นดูแลฐานลูกค้าเก่าก่อน ส่วนสินเชื่อใหม่ก็จะมีความเข้มงวดโดยจะดูลูกค้ามุสลิมเป็นหลักและจะต้องปล่อยสินเชื่อที่มีคุณภาพดี ไม่ให้เกิดหนี้เสียอีก”
ส่วนการแก้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)และความคืบหน้าของแผนฟื้นฟูนั้น ธนาคารได้จ้างที่ปรึกษาทางการเงินเข้ามาดำเนินการแยกหนี้ดีและหนี้เสียหรือกูดแบงก์ และ แบดแบงก์ ซึ่งจะต้องเร่งสรุปแนวทางเบื้องต้นเพื่อเสนอคณะกรรมการธนาคารและซูเปอร์บอร์ดพิจารณาช่วงสิ้นเดือนกันยายนนี้
ก่อนหน้านี้นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานกรรมการไอแบงก์ กล่าวว่า ธนาคารจ้างบริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ และบริษัทหลักทรัพย์ แมคควอรี (Macquarie) เข้าดำเนินการแยกหนี้ดีและดีเสีย และช่วยหาพันธมิตรร่วมทุนเข้ามาบริหารหนี้ดี ส่วนหนี้เสียก็จะตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือ เอเอ็มซี เข้าบริหารจัดการ คาดว่าชัดเจนภายใน 6 เดือน หรือไตรมาสแรกของปี 2559
นอกจากนี้ ยังจ้างที่ปรึกษาด้านกฎหมาย คือ บริษัทเบเคอร์แอนด์แมคเคนซี่(Baker & McKenzie) ซึ่งอยู่ระหว่างหารือกันในส่วนของสัดส่วนที่กระทรวงการคลังถือหุ้น เนื่องจากสถาบันการเงินที่จะเข้ามาร่วมทุนด้วยต้องการมีสิทธิ์ในการบริหารจัดการ หรือต้องถือหุ้นสูงกว่า 50% จึงต้องมีการแก้ไขในส่วนของกฎหมาย คาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 3 เดือนนี้