WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

SMEสาลน วงตาลเอสเอ็มอีแบงก์ มั่นใจ ปีนี้ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ตามเป้าหมาย 40,000 ลบ.คุมเอ็นพีแอลไม่เกิน20% ของสินเชื่อรวม พร้อมหวัง ครม.ใหม่ เน้นดูแลเอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งเงินทุน

   เอสเอ็มอีแบงก์ มั่นใจ ปีนี้ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ตามเป้าหมาย 40,000 ลบ. ล่าสุดปล่อยไปแล้วเกือบ 20,000 ลบ.  ตั้งเป้าคุมเอ็นพีแอลปีนี้ ไม่เกิน20% ของสินเชื่อรวม หวังครม.ใหม่ช่วยดูแลเอสเอ็มอี เน้นเข้าถึงแหล่งเงินทุน

   นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า ในปีนี้ธนาคารมั่นใจว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 40,000 ล้านบาท จากล่าสุดปล่อยแล้ว 19,256.46 ล้านบาท ส่วนการปล่อยสินเชื่อในโครงการ Policy Loan วงเงิน 15,000 ล้านบาทนั้น หากปล่อยได้หมดแล้วยังมีความต้องการสามารถขอเพิ่มจากกระทรวงการคลังใหม่ได้

   ธนาคารจะพยายามลดสัดส่วนหนี้ที่ไม่เกิดให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล สิ้นปีให้เหลือ 20,000 ล้านบาท หรือประมาณ 20% ของสินเชื่อรวม จากปัจจุบันอยู่ที่ 27,151 ล้านบาท 31.52% โดยจะมีการปรับโครงสร้างหนี้ การขายลูกหนี้ และการดูแลไม่ให้ลูกหนี้ตกชั้น โดยในเดือนหน้านี้จะขายหนี้ออกไปอีกประมาณ 1,000 ล้านบาท

   "ยืนยันว่าการลดเอ็นพีแอลทำได้ยากในภาพรวมเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งธนาคารจะพยายามลดให้ดีที่สุด โดยจะเน้นที่การดูแลลูกค้าเดิมไม่ให้ตกชั้นเป็นเอ็นพีแอล แต่อย่างไรก็ตามธนาคารยืนยันว่าหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอลทั้งหมดมีการกันสำรองไว้เรียบร้อยทั้งหมดแล้ว ซึ่งหากไม่สามารถลดลงได้ตามเป้าหมายก็เชื่อว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของธนาคาร"นางสาลินี กล่าว

    ส่วนครม.ชุดใหม่นั้น มั่นใจว่าครม.ชุดใหม่จะมีแนวทางดูแลเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการรายย่อยให้กับพี่น้องประชาชนระดับฐานรากได้ เพราะในปัจจุบันเอสเอ็มอียังเข้าถึงสถาบันการเงินได้น้อย และยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้ยอดขายลดลง

    โดยมองว่าเอสเอ็มอีทุกกลุ่มควรได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งอยากให้มองไปที่กลุ่มต่างจังหวัดที่เกษตรกรไม่สามารถปลูกข้าวได้ ส่งผลให้ยอดขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรก็ปรับลดลงด้วย

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

SME แบงก์ รับปรับโครงสร้างหนี้ยาก เดือนก.ค.ทำได้เพียง 33 ล้านบาท

    แนวหน้า : นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า การปรับโครงสร้างหนี้ ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ปรับโครงสร้างหนี้ได้เพียง 33 ล้านบาท เพราะลูกหนี้รายได้ลดลง จึงไม่พร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการ ดังนั้น ในภาวะเช่นนี้ สิ่งที่ธนาคารสามารถทำได้คือ การดูแลลูกค้าเดิมไม่ให้ตกชั้นเป็นเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นอีก

     ขณะที่ภาพรวมการแก้ไขปัญหาหนี้เอ็นพีแอล 7 เดือนแรก (  ม.ค.–ก.ค. 2558 ) ยังสามารถลดหนี้ได้จำนวน 4,809 ล้านบาท โดยมียอดหนี้เอ็นพีแอลคงค้างที่ 2.71 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 31.52% ของสินเชื่อรวม ทั้งนี้ ธนาคารยังคงเป้าหมายลดหนี้เอ็นพีแอลให้เหลือ 2 หมื่นล้านบาทภายในสิ้นปี โดยเตรียมทยอยจัดกองขายหนี้ถึงปีนี้อีก 7,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่า ในเดือน ก.ย. นี้จะขายได้อีก 1,200 ล้านบาท จากที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปีได้ทยอยขายหนี้ไปแล้วกว่า 2,700 ล้านบาท

    "เศรษฐกิจแบบนี้ทำให้การปรับโครงสร้างหนี้ทำได้ลำบากมาก เพราะลูกหนี้ส่วนใหญ่เป็นรายย่อย 2- 3 หมื่นราย อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังไม่ลดเป้าหมายแก้หนี้ให้เหลือ 2 หมื่นล้านบาทในสิ้นปี ล่าสุด ได้เชิญผู้เชี่ยวอดีตผู้บริหารแบงก์เอกชนเข้ามาช่วยดูแลเรื่องการแก้หนี้เสียโดยเฉพาะแล้ว" นางสาลินี กล่าว

SME Bank เผย 7 เดือนปีนี้ กำไร 706 ลบ. ปล่อยกู้ 1.92 หมื่นลบ., ทยอยขายหนี้เสีย

     ประธานกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.) หรือ SMEBank เผยช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ก.ค.58) ฟันกำไร 706 ล้านบาท สินเชื่อปล่อยใหม่โตฉลุย 1.92 หมื่นล้านบาท มั่นใจสิ้นปีเดินหน้าตามเป้า 4 หมื่นล้านบาท เร่งบริหารจัดการหนี้เสียเหลือ 2 หมื่นล้านบาท ลุ้น ครม.ใหม่เดินหน้ามาตรการดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น

   "ผลการดำเนินงานในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ธนาคารมีกำไรอยู่ที่ 706 ล้านบาท ขณะที่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมามีกำไรสุทธิ 102 ล้านบาท ดีกว่าประมาณการตามแผนในปี 2558 โดยเป็นผลมาจากดอกเบี้ยรับจากการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น สินเชื่อมีคุณภาพดีขึ้นลดภาระที่ต้องกันสำรองและธนาคารสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและต้นทุนเงินได้เป็นไปตามแผน" นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์ กล่าว

   ขณะเดียวกัน ธนาคารฯ สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่อยู่ที่ 1.92 หมื่นล้านบาท โดยทั้งหมดเป็นลูกหนี้สินเชื่อวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท จำนวน 8.71 พันราย และสิ้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมามียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 8.61 หมื่นล้านบาท ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(บีไอเอส) อยู่ที่ 10.05% โดยจากแนวโน้มดังกล่าว ทำให้มั่นใจว่าในปีนี้ ธนาคารจะสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ตามเป้าหมายที่ 4 หมื่นล้านบาท

   ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 2.71 หมื่นล้านบาท หรือ 31.52% ของสินเชื่อรวม โดยในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ธนาคารสามารถลดหนี้เสียได้ 4.8 พันล้านบาท จากการขายหนี้ภาคตะวันออก กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคเหนือ รวมถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 6 กอง คิดเป็น 2.76 พันล้านบาท รวมทั้งมีการปรับโครงสร้างหนี้และรับชำระหนี้จากลูกหนี้เอ็นพีแอลด้วย โดยภายในสิ้นปีนี้ธนาคารพยายามบริหารจัดการหนี้เสียให้ลดลงเหลือ 2 หมื่นล้านบาท หรือ 20% ของสินเชื่อรวม

   "ปัจจุบันการปรับโครงสร้างหนี้ทำได้ยาก เนื่องจากลูกหนี้มียอดขายลดลงมาก ดังนั้นในภาวะเช่นนี้ สิ่งที่ธนาคารสามารถทำได้คือการดูแลลูกค้าเดิมไม่ให้ตกชั้นเป็นหนี้เสีย รวมถึงในปีนี้ ธนาคารยังมีแผนจะขายหนี้เสียอีกราว 7 พันล้านบาท โดยในเดือน ก.ย. จะมีการขายอีก จำนวน 1.2 พันล้านบาท" นางสาลินี กล่าว

    สำหรับ โครงการสินเชื่อ Policy Loan ดอกเบี้ยต่ำ 4% ณ วันที่ 19 ส.ค. ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีติดต่อขอสินเชื่อแล้ว จำนวน 8.2 พันล้านบาท คิดเป็น 1.68 พันราย ซึ่งเฉลี่ยวงเงินกู้รายละ 4.8 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจชะลอตัวสูงถึง 70% หรือคิดเป็นวงเงิน 5.65 พันล้านบาท คิดเป็น 1.28 พันราย ขณะที่ธนาคารสามารถอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 510.15 ล้านบาท คิดเป็น 158 ราย โดยการพิจารณาในช่วงต้นค่อนข้างล่าช้า เนื่องจากมีประเด็นเรื่องคำนิยามการเป็นลูกหนี้ที่ถูกผลกระทบทางเศรษฐกิจหรือไม่ ซึ่งธนาคารได้ซักซ้อมความเข้าใจกับสาขาทั่วประเทศแล้ว ทำให้เชื่อว่าในระยะต่อไปจะสามารถทำงานได้เร็วขึ้น

     ส่วนลูกค้าที่ไม่ผ่านเกณฑ์การกู้เงินในโครงการดังกล่าว ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในการให้ความช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มดังกล่าว ซึ่งอาจไม่ใช่การให้สินเชื่อ แต่อาจเป็นการแนะนำวิธีการบริหารจัดการต้นทุน ซึ่งน่าจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางการให้ความช่วยเหลือเร็วๆ นี้

     ประธานกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในโครงการกองทุนรวมลงทุนในกิจการเอสเอ็มอี กองย่อยกองที่ 1(Venture Capital) วงเงิน 500 ล้านบาท ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เข้าข่ายรวมลงทุนเพิ่มอีก 4 ราย โดยเป็นธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ 2 ราย อุตสาหกรรมพื้นฐาน 1 รายและอุตสาหกรรมแปรรูปจากพืชผลทางการเกษตร 1 ราย ส่วนผู้ประกอบการ 4 รายแรกที่เข้าร่วมโครงการไปแล้ว ธนาคารและผู้จัดการทรัพสต์ (Trust Manager) อยู่ระหว่างพิจารณาแผนการขยายกิจการ เพื่อกำหนดจำนวนเงินที่ธนาคารจะเข้าร่วมลงทุน ซึ่งตั้งเพดานไว้ไม่เกินรายละ 30 ล้านบาท รวมถึงอยู่ระหว่างการหารือกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับการเข้าร่วมในโครงการดังกล่าวด้วย

   ประธานกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์ มั่นใจว่า ครม.ชุดใหม่จะมีแนวทางการดูแลเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการรายย่อยได้เป็นอย่างดีเพราะปัจจุบันเอสเอ็มอียังเข้าถึงสถาบันการเงินได้น้อย และยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้ยอดขายลดลง โดยมองว่าเอสเอ็มอีทุกกลุ่มควรได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งอยากให้มองไปที่กลุ่มต่างจังหวัดที่เกษตรกรไม่สามารถปลูกข้าวได้ ส่งผลให้ยอดขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรก็ปรับลดลงด้วย

                อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!