- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Tuesday, 24 June 2014 22:00
- Hits: 3311
สินเชื่อแบงก์ พ.ค โต 7.88% จากงวดเดียวกันปีก่อน CIMBT เพิ่มมากสุด ส่วน TCAP เพิ่มน้อยสุด
สินเชื่อแบงก์ พ.ค 57 เติบโต 7.88% จากช่วงเดียวกันปีก่อน CIMBT โตสูงสุด 19.20% ตามด้วย TMBและ BAY ส่วนที่โตน้อยสุดคือ TCAP-TISCO โบรกฯ มองครึ่งปีหลังสินเชื่อฟื้นตัวชัดเจน จากการเร่งนโยบายลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐโดย คสช.
ผู้สื่อข่าวรายงานภาพรวมของสินเชื่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (11 แห่งที่เป็น บจ.)ในเดือนพฤษภาคม 2557มียอดให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้สุทธิ 9.17 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.88% จากเดือน พ.ค.2556 นำโดย CIMBT มีอัตราการเติบโตสูงสุดที่ 19.20% ตามด้วย TMB เติบโต 11.98% และ BAYที่ 11.29% และ TCAP ครองแชมป์สินเชื่อโตน้อยสุดที่ 0.16% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
อย่างไรก็ตาม หากเทียบจากเดือนก่อนหน้า สินเชื่อในเดือนดังกล่าวแทบจะไม่เปลี่ยนแปลง คาดมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ดังนั้น แม้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองในปัจจุบันเริ่มดีขึ้นจากการเข้ามาคุมอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)แต่น่าจะเห็นผลบวกในครึ่งปีหลังมากกว่า ในแง่ของการกระตุ้นยอดสินเชื่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และจะโดดเด่นมาในปี 25588 เป็นต้นไป
โดย บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (MBKET)ระบุว่า หากเทียบจากเดือนก่อน สินเชื่อรายย่อยยังคงได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและตลาดรถยนต์ในประเทศ ขณะที่สินเชื่อภาคธุรกิจทั้ง SME และ Corporate ยังคงเห็นต้องการสินเชื่ออยู่ แม้จะไม่โดดเด่นมากนัก แต่เห็นได้จากสินเชื่อของ BBL, KBANK และ TMB ที่ยังสามารถขยายตัวได้ โดยหากมองตั้งแต่ต้นปีสินเชื่อขยายตัวเพียง 0.6%Ytd ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำมาก จากผลกระทบทางการเมืองเป็นหลัก
"อย่างไรก็ตาม เราเริ่มมีความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น หลังจากที่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศ และคาดว่ายอดสินเชื่อจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะใน 4Q ซึ่งเป็น High Season ของความต้องการใช้สินเชื่อ "MBKET ระบุ
บทวิเคราะห์ บล.เอเชีย พลัส เปิดเผยว่า การแผ่วตัวของสินเชื่อเดือน พ.ค.57 เนื่องจากเป็นช่วงเปิดเทอม ซึ่งจะมีผลต่อความต้องการสินเชื่อรายย่อยผนวกกับผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองในประเทศที่ผ่านมา กดดันต่อภาพรวมของการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน และการบริโภคในประเทศ โดยยังเห็นการลดลงของสินเชื่อในรายเดือนของ ธ.พ.ขนาดเล็กทั้ง KKP,TISCOและ TCAP รวมถึง BAY ซึ่งล้วนเน้นสินเชื่อรายย่อยเป็นหลัก ส่วน TMBและ KBANK เป็น ธ.พ. ที่เห็นการเติบโตของสินเชื่อเดือน พ.ค. สูงสุดในกลุ่มฯ มาจากกลุ่มสินเชื่อรายใหญ่ ซึ่งยังหนักไปที่สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้น ส่วนเงินฝาก (รวมเงินกู้ยืมสำหรับกลุ่ม ธ.พ.ขนาดเล็ก) ในเดือน พ.ค.57 มียอดคงค้างที่ 7.87 ล้านล้านบาท แทบทรงตัวเช่นกัน แต่ยังเติบโต4.49% yoy นำโดย TCAP ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของบัตรเงินฝาก (NCD)
ตาราง :เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้สุทธิ ณ พ.ค 57 เทียบกับ ณ พ.ค 56
(11 ธนาคารที่เป็น บจ.)
ธนาคาร พ.ค 57(พันบาท) พ.ค 56(พันบาท) เปลี่ยนแปลง(%)
1.BBL 1,609,050,084 1,482,573,015 8.53
2.BAY 793,908,065 713,326,391 11.29
3.CIMBT 167,359,159 140,396,128 19.20
4.KKP 188,290,761 174,901,939 7.65
5.LHBANK 101,696,350 91,673,843 10.93
6.SCB 1,659,328,414 1,561,456,737 6.26
7.TCAP 753,462,748 752,189,258 0.16
8.TISCO 273,993,955 269,991,219 1.48
9.TMB 481,159,103 429,675,637 11.98
10.KBANK 1,412,524,875 1,318,512,431 7.63
11.KTB 1,733,331,470 1,567,485,203 10.90
รวม 9,174,104,984 8,502,181,801 7.88
รวบรวมโดย สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย