- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Monday, 13 July 2015 18:54
- Hits: 2500
บอร์ด ธ.ก.ส.แก้ปัญหาภัยแล้ง อุ้มเกษตรกร 1 ล้านราย
บอร์ด ธ.ก.ส.มีมติอนุมัติมาตรการด้านสินเชื่อแก้ปัญหาภัยแล้งให้แก่เกษตรกร ทั้งขยายเวลาชำระหนี้ออกไปสูงสุด 12 เดือน เพิ่มสินเชื่อเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในระยะสั้นและสินเชื่อเพื่อปรับปรุงระบบการผลิตในระยะยาววงเงินรวมกว่า 60,000 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน คาดจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรกว่า 1 ล้านราย
ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานใหญ่ บางเขน นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส.มีมติเห็นชอบตามที่ฝ่ายจัดการเสนอมาตรการเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้พี่น้องเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. และสมาชิกสหกรณ์การเกษตรที่ประสบภัยแล้ง ประกอบไปด้วย 3 มาตรการหลักดังนี้ 1.มาตรการขยายเวลาชำระหนี้เดิม เป็นการพิจารณาขยายระยะเวลาชำระหนี้สินเดิมให้แก่เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ที่ประสบปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยขยายออกไปไม่เกิน 9 เดือน กรณีพิเศษไม่เกิน 12 เดือน ให้สอดคล้องกับแหล่งที่มาของรายได้ และช่วยเหลือสหกรณ์การเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากการชำระหนี้ของสมาชิก โดยพิจารณาปรับตารางกำหนดชำระหนี้ที่มีอยู่กับ ธ.ก.ส.
2.มาตรการสนับสนุนสินเชื่อระยะสั้นวงเงิน 30,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 มาตรการย่อย คือ มาตรการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรลูกค้าธนาคาร (สินเชื่อฉุกเฉิน) วงเงิน 10,000 ล้านบาท ปล่อยกู้ไม่เกิน 10,000 บาทต่อราย กำหนดกู้ไม่เกิน 3 เดือนตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.-15 ต.ค. 58 ชำระคืนไม่เกิน 12 เดือน ปลอดดอกเบี้ย 0% ระยะเวลา 3 เดือน โดยเดือนที่ 4-12 จะคิด อัตราเอ็มอาร์อาร์ หรือเท่ากับ 7% ต่อปี
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อฟื้นฟูการผลิตหลังประสบภัย (สินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 10,000 ล้านบาท กู้รายละไม่เกิน 20,000 บาท ระยะเวลาให้เงินกู้เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.-15 ต.ค. 58 ชำระคืนเสร็จไม่เกิน 12 เดือน กรณีพิเศษไม่เกิน 18 เดือน อัตราดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ เท่ากับ 7% ต่อปี และมาตรการสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อฟื้นฟูการผลิตของสมาชิกสหกรณ์การเกษตร (สินเชื่อฟื้นฟูสมาชิกสหกรณ์) วงเงินอีก 10,000 ล้านบาท กู้เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.-15 ต.ค. 58 กำหนดชำระคืนเสร็จไม่เกิน 12 เดือน อัตราดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ -1.25 หรือเท่ากับ 3.75% ต่อปี
และ 3.มาตรการสินเชื่อระยะยาวเพื่อปรับปรุงระบบการผลิตด้านการเกษตร เป็นการพิจารณาให้สินเชื่อเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตรหรือเพื่อปรับเปลี่ยนการผลิตเป็นรูปแบบอื่นที่มีความเหมาะสมมากขึ้น โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.เข้าร่วมโครงการปีละ 100,000 ราย เป็นระยะเวลา 3 ปี รวม 300,000 ราย วงเงินกู้รายละไม่เกิน 100,000 บาท วงเงินสินเชื่อปีละ 10,000 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 ปี รวม 30,000 ล้านบาท กำหนดระยะเวลาให้เงินกู้ 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. 58 – 31 ก.ค. 61 ชำระคืนเงินกู้ภายใน 10 ปี กรณีจำเป็นยังไม่ต้องชำระเงินต้น 3 ปีแรก อัตราดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ - 2% หรือเท่ากับ 5% ต่อปี
“ธ.ก.ส.คาดว่าเกษตรกรลูกค้าของ ธ.ก.ส.จำนวนประมาณ 1,000,000 รายและเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์การเกษตรที่ประสบภัยแล้งจะได้รับการบรรเทาความเดือดร้อนด้านภาระหนี้สินและมีเงินทุนไว้ใช้จ่ายในครัวเรือนกรณีเร่งด่วน รวมทั้งมีเงินทุนเพื่อการฟื้นฟูและการประกอบอาชีพการเกษตรหรือปรับปรุงระบบการผลิตการเกษตรอย่างเพียงพอ”นายสมหมายกล่าว
นอกจากนั้น การประชุมในวันนี้ บอร์ดได้เห็นชอบการสนับสนุนการออกสลากเพื่อสังคมและการสนับสนุนสินเชื่อให้กับกิจการเพื่อสังคมในวงเงิน 1,000 ล้านบาท รวมทั้งเห็นชอบสนับสนุนสินเชื่อให้กับกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกู้เงินฤดูการผลิตปี 2557/2558 วงเงิน 16,953 ล้านบาทเพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวไร่อ้อยตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2558 โดยมีเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับประโยชน์มากกว่า 150,000 ราย