- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Thursday, 25 June 2015 14:07
- Hits: 2011
เอสเอ็มอีแบงก์ โชว์ผลงาน 5 เดือน กำไรสุทธิ 503 ล้านบาท สามารถรักษาคุณภาพหนี้ได้ ลูกค้าเริ่มยื่นขอกู้ดอกเบี้ยต่ำ 4 %
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ได้แถลงข่าวผลการดำเนินงาน 5 เดือน และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ Policy Loan โดยนางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ และนายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์ ดังนี้
1. สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Policy Loan) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2558 ที่ได้อนุมัติวงเงิน 15,000 ล้านบาท ให้เอสเอ็มอีแบงก์นำไปปล่อยกู้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็ก ในอัตราดอกเบี้ย 4 % ต่อปี โดยกระทรวงการคลังจะชดเชยให้เอสเอ็มอีแบงก์อีก 3 % และให้ บสย.ค้ำประกันโดยมีเพดานค้ำสูงสุด 18% ของยอดสินเชื่อที่ปล่อยออกไป คณะกรรมการธนาคารได้กำหนดรายละเอียดในการกู้ยืมไว้แล้ว โดยมีสาระสำคัญคือ เงินกู้ที่มีวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท เพื่อช่วยสนับสนุน SMEs รายย่อย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีหลักประกัน จะให้กู้ยืมเงินได้โดยให้ บสย.ค้ำประกันทั้งจำนวน ส่วนวงเงิน 1-5 ล้านบาท ในกรณีที่เป็นสมาชิกของภาคีของธนาคาร และภาคีเหล่านี้ช่วยกลั่นกรองคุณภาพให้ในเบื้องต้น จะสามารถผ่อนปรนในเรื่องหลักประกันได้ โดยให้ บสย.ค้ำประกันบางส่วน วงเงิน 5 -15 ล้านบาท การพิจารณาเป็นไปตามเกณฑ์ของธนาคาร ทั้งในเรื่องศักยภาพของลูกหนี้ และการกำหนดมูลค่าหลักประกัน
ทั้งนี้ มีเงื่อนไขว่าการกู้ยืมในทุกวงเงิน SMEs โดยเฉพาะรายย่อยที่มากู้ยืมจะต้องไปจดทะเบียนการค้ากับกระทรวงพาณิชย์ หรืออย่างน้อยกับศูนย์ดำรงธรรมของกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และในขณะนี้ภาคีของธนาคาร ได้แก่ สภาอุตสาหกรรม สมาพันธ์เอสเอ็มอี กรมพัฒนาชุมชน และสมาคมการค้าต่าง ๆ ได้เริ่มพา SMEs ที่เป็นสมาชิกเข้ามายื่นขอกู้แล้ว เชื่อว่าสามารถปล่อยกู้ได้ครบ 15,000 ล้านบาท ภายในสิ้นปี 2558 ตามที่กำหนดไว้
2. ผลประกอบการธนาคาร เดือน พ.ค. 2558 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 78 ล้านบาท ดีขึ้นจากเดือน เม.ย ทำให้มีกำไรสุทธิรวม 5 เดือน ( มค.-พค.2558) จำนวน 503 ล้านบาท ดีกว่าที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟู ส่วนทางด้านการขยายสินเชื่อ ได้มียอดเบิกจ่าย 2,469 ล้านบาทในเดือน พค.2558 รวมเป็นการปล่อยสินเชื่อใหม่ มค.-พค.2558 เท่ากับ 13,623 ล้านบาท ทั้งนี้ สินเชื่อที่ปล่อยกู้เพิ่มในปี 2558 มีวงเงินต่อรายไม่เกิน 15 ล้านบาท และมีจำนวน 6,061 ราย มียอดสินเชื่อคงค้าง 86,461 ล้านบาท
3. หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ธนาคารสามารถรักษาคุณภาพลูกหนี้ ในเดือน พ.ค.2558 ได้ดีขึ้น กล่าวคือ NPLs เพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย. 2558 เพียง 17 ล้านบาท โดย ณ สิ้นเดือน พ.ค. 2558 ธนาคารมียอด NPLs เท่ากับ 28,785 ล้านบาท (คิดเป็น 33.29 %) ลดลงจากยอด NPLs จำนวน 31,960 ล้านบาท (คิดเป็น 37.61 %) ณ สิ้น ธ.ค. 2557 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนับเป็นผลงานที่น่าพึงพอใจตามควรเมื่อพิจารณาได้ว่า SMEs รายย่อยซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคาร ได้รับผลกระทบสูงมากจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และคาดว่าเดือน มิ.ย.2558 NPLs ของธนาคารจะลดลงได้อีก เพราะการขายลูกหนี้ NPLs ที่ธนาคารดำเนินการอยู่จะปรากฎผลในเดือน มิ.ย.
นอกจากนั้น ในเรื่องการดูแลลูกค้า SMEs รายย่อยที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง ธนาคารได้จัดงานเริ่มต้นวันใหม่ โดยเชิญลูกหนี้สถานะคดีฟ้องร้องแล้วถึงพิพากษาและบังคับคดี ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียง จำนวน 3,078 ราย คิดเป็นเงินต้น 1,403 ล้านบาท ซึ่งจะจัดคลินิกเจรจาต่อรองเป็นรายบุคคล เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกหนี้รายย่อยไม่ถูกฟ้องล้มละลาย ได้มีโอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่ โดยภายในงานมีกิจกรรมฝึกอาชีพ เพื่อเสริมสร้างโอกาสการทำธุรกิจใหม่ให้ลูกค้าที่สามารถเจรจาหนี้เรียบร้อย และเริ่มต้นเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติม นอกจากนี้ ธนาคารยังได้มีการมอบทุนการศึกษาให้กับบุตรของลูกค้าที่ปรับปรุงโครงการสร้างหนี้ ที่มีประวัติการชำระหนี้ที่ดีต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 6 เดือน จำนวน 10 ทุนๆ ละ 2,000 บาท
4. นอกเหนือการให้สินเชื่อและการร่วมลงทุนใน Private Equity Trust Fund ของกระทรวงการคลังแล้ว พันธกิจสำคัญอีกประการหนึ่งของเอสเอ็มอีแบงก์ คือการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs ทั้งก่อนและหลังอนุมัติสินเชื่อ โดยมีโครงการเพิ่มขีดความสามารถ SMEs โดยการให้คำปรึกษาแนะนำ ในลักษณะ Coaching แบบพี่เลี้ยงธุรกิจแบบตัวต่อตัว ณ สถานประกอบการจริง ในการเขียนแผนธุรกิจและการจัดทำงบการเงิน ในปีนี้มีเป้าหมาย 1,000 ราย และธนาคารอยู่ระหว่างดำเนินการกับหน่วยราชการอื่นๆ เพิ่มช่องทางจำหน่ายให้ SMEs ค้าขายผ่านสื่อออนไลน์ และขอพื้นที่วางจำหน่ายตามซุปเปอร์มาร์เก็ต
5. เรื่องธรรมาภิบาล ได้ตั้งคณะกรรมการธนาคารเพื่อสอบสวนคณะผู้บริหารระดับสูง 3 คน ในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และผู้อำนวยการฝ่าย นอกจากนั้น ยังให้สอบสวนพนักงานระดับปฎิบัติการอีก 1 คน เพราะมีมูลชัดเจนว่าพนักงานเหล่านี้ได้ดำเนินการ หรือละเลยในการบริหารงาน ทำให้ธนาคารเกิดความเสียหาย โดยในระหว่างสอบสวนก็จะให้พนักงานเหล่านี้ ออกจากตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และผู้อำนวยการฝ่ายไว้ก่อน แต่ยังคงเป็นพนักงานของธนาคาร ในส่วนของคณะกรรมการที่ทำหน้าที่สอบสวน จะประกอบด้วย บุคคลภายนอก อาทิเช่น ผู้เชี่ยวชาญที่เชิญมาจากกรม DSI นักกฎหมายจากสำนักทนายความ อดีตผู้ตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น ทั้งนี้ยืนยันว่าคณะกรรมการชุดปัจจุบันของธนาคาร จะให้ความสำคัญในเรื่องความโปร่งใส ความซื่อสัตย์สุจริต และความมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานอย่างจริงจัง ตรงไปตรงมา ตามนโยบายของรัฐบาล
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม โทร.02-265-4564-5