- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Tuesday, 09 June 2015 07:48
- Hits: 3469
'ไอแบงก์'จ่อขายสมบัติประเทศ ยอมต่างชาติถือหุ้นใหญ่แทนคลัง
แนวหน้า : นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ไอแบงก์) เปิดเผยว่า ธนาคารอยู่ระหว่างเจรจา กับสถาบันการเงินอิสลามรายใหญ่จากต่างประเทศ ทั้งในแถบตะวันออกกลาง และในเอเชีย เพื่อเข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมทุนถือหุ้นในไอแบงก์ และมาบริหารจัดการฐานะทางการเงินให้ธนาคาร รวมถึงเปลี่ยนบทบาทสามารถเชื่อมโยงการเงินการลงทุนได้ทั่วโลก โดยคาดว่า สรุปอย่างชัดเจนภายใน 6 เดือนนี้
สำหรับ สัดส่วนการถือครองหุ้นของพันธมิตรต่างชาตินั้น จะเข้ามาถือหุ้นมากกว่าที่รัฐถืออยู่ในปัจจุบัน แต่รัฐต้องมีสัดส่วนอยู่บ้างพอสมควร โดยไม่จำเป็นต้องถือหุ้นใหญ่ และไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐวิสาหกิจ หากพันธมิตรเอกชนจากต่างชาติเข้าถือหุ้นจะสามารถผลักดันให้ไอแบงก์เชื่อมโยงธุรกิจระหว่างประเทศได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2559
"เหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยอยู่ธนาคารนครหลวงไทย ที่ใช้เวลาหาพันธมิตรอยู่ร่วม 9 เดือน ทำให้มีประสบการณ์และปรับนำมาใช้กับไอแบงก์ ซึ่งมั่นใจไอแบงก์มีความเป็นไปได้ที่จะหาพันธมิตรที่เชี่ยวชาญและมีระบบอิสลามิค แบงก์ ,อิสลามิค ไฟแนนซ์ และอิสลามิค ฟันด์ ซึ่งคงใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ไม่เกิน 9 เดือนจากนี้ โดยจะมีกรอบสัญญาในการใส่เงินทุนและบริหารจัดการไม่เกิน 10 ปี"นายชัยวัฒน์ กล่าว
นอกจากนี้ ธนาคารยังอยู่ระหว่างดำเนินตามแผนฟื้นฟูที่ได้รับการอนุมัติจากซูเปอร์บอร์ด ให้ดำเนินการแยกหนี้ดีและดีไม่ดี ออกจากกัน โดยธนาคารจะจ้างที่ปรึกษาทางการเงินเข้ามาดำเนินการ ในส่วนหนี้ที่ดีก็ต้องต่อยอดดำเนินการต่อ ขณะที่หนี้ไม่ดี ก็บริหารให้ถูกต้อง ซึ่งจะนำออกมาขายหรือไม่นั้นต้องดูก้อนลูกหนี้ว่าเป็นอย่างไร หากเป็นลูกหนี้ที่ทำให้ธนาคารเสียหายก็ไม่ควรขาย เพราะจะทำให้ผู้กระทำความผิดหลุดลอยไป ทางไอแบงก์จะดำเนินการเอาผิดต่อไป
ขณะที่ยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ของไอแบงก์ในปัจจุบันมีอยู่ 5.7 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นกว่า 50% ของสินเชื่อคงค้างที่กว่า 1 แสนล้านบาท มีการตั้งสำรองสูงถึง 3.2 หมื่นล้านบาท โดยหลังจากไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ พบว่าเอ็นพีแอลได้หยุดไหล และลูกหนี้มีอาการดีขึ้น จากการเรียกลูกหนี้เข้าเจรจาเพื่อปรับโครงสร้างทั้งหมด คาดว่าหากใช้ระยะเวลาการปรับสถานะลูกหนี้เป็นหนี้ดีตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะทำให้หนี้ลดลงไป 1.08 หมื่นล้านบาท และยังมั่นใจ สิ้นปี 2558 นี้ หนี้เอ็นพีแอลจะลดลง 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้เงินสำรองกลับมาประมาณ 1 หมื่นล้านบาท