- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Wednesday, 08 April 2015 11:54
- Hits: 1608
ธ.ก.ส.เร่งเดินหน้าแก้หนี้เกษตรกร เยียวยาลูกค้ากว่า 8 แสนราย วงเงิน 116,000 ล้านบาท
ธ.ก.ส. ลุยแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรบรรเทาความเดือดร้อนลูกค้ากว่า 818,000 ราย มูลหนี้ 116,000 ล้านบาท ผ่านโครงการปลดเปลื้องหนี้สิน ปรับปรุงโครงสร้างหนี้และขยายเวลาชำระหนี้ พร้อมตอบแทนลูกค้าชั้นดีลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เหลือ MRR และเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนขยายการผลิต
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา ให้ ธ.ก.ส.ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรรายย่อยผ่านระบบ ธ.ก.ส. เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรรายย่อยที่มีหนี้สินรายละไม่เกิน 500,000 บาท ใช้ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2558 จำนวนประมาณ 818,000 ราย หนี้สินจำนวนประมาณ 116,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 – 31 มีนาคม 2559 ประกอบด้วย 3 โครงการย่อย ดังนี้
(1) โครงการปลดเปลื้องหนี้สิน กลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีศักยภาพ หรือมีเหตุผิดปกติ เช่น เสียชีวิต ทุพพลภาพ เจ็บป่วยเรื้อรัง และมีปัญหาสุขภาพจนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ จำนวนประมาณ 28,000 ราย หนี้สินจำนวนประมาณ 4,000 ล้านบาท วิธีดำเนินการ โดย ธ.ก.ส. จะสอบทานลูกหนี้เพื่อการจัดการหนี้และพิจารณาปลดหนี้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยโดยการจำหน่ายหนี้เงินกู้ออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญ ตามหลักเกณฑ์การจำหน่ายทรัพย์สินประเภทลูกหนี้ออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญของ ธ.ก.ส.
(2) โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ กลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีศักยภาพต่ำ โดยผ่านการประเมินศักยภาพแล้วปรากฏว่ายังมีความสามารถในการประกอบอาชีพแต่มีปัญหาในการชำระหนี้จากเหตุสุจริตจำเป็นและเป็นภาระหนัก จำนวนประมาณ 340,000 ราย หนี้สินจำนวนประมาณ 48,000 ล้านบาท วิธีดำเนินการ ธ.ก.ส.จะสอบทานลูกหนี้เพื่อการจัดการหนี้และพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่เกษตรกรลูกค้าตามศักยภาพแต่ละราย โดยให้ชำระต้นเงินตามงวดหรือระยะเวลาที่ตกลงกันแต่ไม่เกิน 10 ปี เว้นแต่มีความจำเป็นอาจกำหนดให้ชำระไม่เกิน 15 ปี และปลอดชำระต้นเงินเป็นระยะเวลา 3 ปี ธ.ก.ส.จะคิดดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในอัตราปกติ ส่วนดอกเบี้ยก่อนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้พักไว้เพื่อรอการจัดการ เมื่อเกษตรกรลูกค้าชำระหนี้ต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยได้ตามงวดชำระหนี้กำหนด ธ.ก.ส.จะพิจารณายกหนี้ในส่วนของดอกเบี้ยที่พักไว้ให้ตามศักยภาพของเกษตรกรลูกค้าแต่ละราย
ในกลุ่มนี้ ธ.ก.ส.ดำเนินการฟื้นฟูการประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกรลูกค้าตามโครงการนี้ ผ่านศูนย์เรียนรู้ชุมชน หรือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการฟื้นฟูผ่านศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติมให้แก่เกษตรกรลูกค้าตามแผนฟื้นฟูการประกอบอาชีพการเกษตรหรืออาชีพอื่นที่เหมาะสม เงินกู้ต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท วงเงินสินเชื่อรวม 15,000 ล้านบาท โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราปกติของ ธ.ก.ส.
(3) โครงการขยายระยะเวลาชำระหนี้ กลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีศักยภาพในการประกอบอาชีพ แต่ได้รับผลกระทบจากการงดทำนาปรัง และราคายางพาราตกต่ำ จำนวนประมาณ 450,000 ราย หนี้สินจำนวนประมาณ 64,000 ล้านบาท วิธีดำเนินการ ธ.ก.ส.จะสอบทานหนี้เพื่อการจัดการหนี้ และพิจารณาขยายระยะเวลาชำระหนี้ตามศักยภาพของเกษตรกรลูกค้า โดย ธ.ก.ส.คิดดอกเบี้ยในอัตราปกติของ ธ.ก.ส. และไม่คิดเบี้ยปรับ นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติมให้แก่เกษตรกรลูกค้าเพื่อปลูกพืชอื่นทดแทน หรือประกอบอาชีพการเกษตรอย่างอื่น หรือประกอบอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ เงินกู้ต่อรายไม่เกิน 100,000 บาท วงเงินสินเชื่อรวม 35,000 ล้านบาท โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราปกติเช่นกัน
ทั้งนี้ มาตรการการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรในโครงการที่ 2 และ 3 เป็นการขยายเวลาการชำระหนี้เพื่อให้เกษตรกรลูกค้ามีโอกาสฟื้นฟูการประกอบอาชีพ ถือเป็นการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกค้าเช่นเดียวกับสถาบันการเงินทั่วไป สำหรับการปลดเปลื้องหนี้สินในโครงการที่ 1 ธ.ก.ส.จะตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบก่อนดำเนินการ ซึ่งเกษตรกรลูกค้ากลุ่มนี้มีภาระหนี้หนักและไม่อยู่ในวิสัยที่จะชำระคืนได้ด้วยเหตุสุจริตจำเป็น ซึ่ง ธ.ก.ส.ได้กันสำรองหนี้ไว้ครบทั้งจำนวนแล้ว
นายลักษณ์ กล่าวว่า ในปีบัญชี 2558 นี้ นอกจาก ธ.ก.ส.จะแก้ปัญหาหนี้สินแก่เกษตรกรลูกค้าแล้ว เพื่อเป็นการตอบแทนเกษตรกรลูกค้าที่มีวินัยทางการเงินและสร้างขวัญกำลังใจแก่เกษตรกรลูกค้าในการประกอบอาชีพ สำหรับเกษตรกรลูกค้าที่ชำระหนี้ได้ตามกำหนด ธ.ก.ส.ได้กำหนดมาตรการในการดูแลเกษตรกรลูกค้าโดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้แก่ 1.ยกย่องให้เป็นลูกค้าชั้นดีเยี่ยม (AAA และ AAA+) และได้รับดอกเบี้ยในอัตราต่ำสุดโดยลดอัตราดอกเบี้ยให้ทุกปี ซึ่งอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดในขณะนี้เท่ากับ MRR (ร้อยละ7ต่อปี) 2.ให้ความมั่นใจในด้านการประกอบอาชีพ โดยการสนับสนุนเงินทุนอย่างต่อเนื่องและเพียงพอ รวมทั้งดูแลสนับสนุนเงินทุนไปถึงบุคคลในครัวเรือน ประกอบไปด้วยการให้สินเชื่อเพิ่มเติมสำหรับใช้จ่ายยามฉุกเฉินหรือจำเป็นในครอบครัว ตามโครงการสินเชื่อเงินด่วน (A -Cash) วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR (ร้อยละ7ต่อปี) ให้สินเชื่อเพิ่มเติมในการจัดหาปัจจัยการผลิตผ่านบัตรสินเชื่อเกษตรกร รายละไม่เกิน 50,000 บาท ให้สินเชื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพหรือการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบครอบคลุมไปถึงบุคคลในครอบครัวของลูกค้า วงเงิน 100,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 เดือน 3.ให้บริการเงินฝาก
ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษพร้อมสวัสดิการต่างๆ เพิ่มเติม โดยได้รับสิทธิ์ในการเข้าร่วมโครงการกองทุนทวีสุขเพื่อการออมเงินยามเกษียณ พร้อมรับดอกเบี้ยพิเศษและสวัสดิการโครงการ
นายลักษณ์ กล่าวว่า สำหรับผลการดำเนินงานปีบัญชี 2557 (1 เมษายน 2556–31 มีนาคม 2557) ที่อยู่ระหว่างรอการรับรองงบการเงินจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นั้น ธ.ก.ส.ได้ปล่อยสินเชื่อสู่ภาคการเกษตรไปแล้วทั้งสิ้น 1,089,764 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 12.27% มีเงินรับฝาก 1,233,956 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 7.03% มีรายได้ 74,647 ล้านบาท ส่งผลให้ ธ.ก.ส.มีกำไรสุทธิ 10,000 ล้านบาท โดยประมาณ ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อยู่ที่ 3.40% ลดลงจากปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ 3.90%
สำหรับ เป้าหมายการดำเนินงานปีบัญชี 2558 (1 เมษายน 2558 – 31 มีนาคม 2559) นอกจากการแก้ไขปัญหาหนี้สินและการฟื้นฟูการประกอบอาชีพของเกษตรกรลูกค้าที่มีปัญหาตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว ธ.ก.ส.จะสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการปรับโครงสร้างการเกษตรตามนโยบายรัฐบาลและบูรณาการการให้สินเชื่อเพื่อสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชนประกอบด้วยสินเชื่อวิสาหกิจชุมชน สินเชื่อต่อยอดกองทุนหมู่บ้านเป็นสถาบันการเงินชุมชน สินเชื่อตลอดห่วงโซอุปทาน (Value Chain financing) ผ่านขบวนการสหกรณ์การเกษตร โดยตั้งเป้าขยายสินเชื่อเพิ่มขึ้น 76,700 ล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 7% และกำหนดเป้าหมายรับฝากเงินเพิ่มขึ้น 65,000 ล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 5% โดยจะควบคุมสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs)ไว้ไม่ให้เกิน 3.50% และคาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 10,500 ล้านบาทโดยประมาณ
สำนักประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร ธ.ก.ส. โทร 02 558 6100 ต่อ 6733, 6734 และ 6740