- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Thursday, 26 March 2015 00:17
- Hits: 2222
คลังป๋าอัดฉีดโบนัสแบงก์รัฐ ออมสิน-ธอส.โกย 5-7 เดือนฟาก'บตท.'ขอเพิ่มธุรกรรม
ไทยโพสต์ : พระรามหก * คลังใจปล้ำอัดฉีดโบนัสแบงก์รัฐอู้ฟู่ ออมสินลุ้นโกย 5 เดือนครึ่ง ด้าน ธอส.เต็ง 7 เดือน ฟากเอสเอ็มอีแบงก์-ไอแบงก์โดนแตะเบรกหลังฐานะการเงินระส่ำหนัก บตท.อ้อนคลังขอยกเครื่องกฎหมายใหม่
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้อนุมัติจ่ายเงินโบนัสให้กับผู้บริหารและพนักงานธนาคารออมสินสำหรับผลการดำเนินงานปี 2557 เป็นจำนวน 4.98 เดือน ซึ่งน้อยกว่าปีที่แล้วที่ได้ 5.9 เดือน เนื่องจากธนาคารมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และต้องใส่เงินเพิ่มทุนให้กับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) หรือไอแบงก์ ในฐานะที่ธนาคารออมสินเป็นผู้ถือหุ้น หลังจากที่ไอแบงก์มีหนี้เสียจำนวนมาก และเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) ติดลบ
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังจะมีการพิจารณาโบนัสให้กับผู้บริหารและพนักงานธนาคารออมสิน จากการประเมินประ สิทธิภาพการทำงาน ซึ่งคาดว่าจะได้โบนัสเพิ่มขึ้นอีกคนละครึ่งเดือน ทำให้ได้โบนัสรวมประมาณ 5 เดือนครึ่ง นอกจากนี้ สคร.ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาจ่ายเงินโบนัสให้กับผู้บริหารและพนักงานธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เป็นจำนวน 7 เดือน เท่ากับปีที่ผ่าน มา เนื่องจากผลการดำเนินงานและตัวชี้วัดต่างๆ ของธนาคารอยู่ในระดับที่ดี
รายงานข่าวระบุอีกว่า ในส่วนของการจ่ายเงินโบนัสให้กับผู้บริหารและพนักงานธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ยังไม่มีการพิจารณา แม้ว่าผลการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูจะเดินหน้าได้ตามแผน จนทำให้ฐานะของธนาคารดีขึ้นอย่างรวดเร็วก็ตาม
สำหรับ ไอแบงก์จะไม่มีการพิจารณาจ่ายเงินโบนัสให้กับผู้บริหารและพนักงาน เนื่องจากมีผลการดำเนินงานที่มีผลขาดทุนสะสมสูง มีหนี้เสียเพิ่มขึ้นจาก 5 หมื่นล้านบาท เป็น 5.7 หมื่นล้านบาท ไม่สามารถทำตามแผนฟื้นฟูที่รายงานให้กับคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ดรับทราบได้
รายงานข่าวยังระบุอีกว่า ขณะนี้ นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานไอแบงก์ ยังไม่ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง แม้ว่าจะมีแรงกด ดันจากการทำงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะมีการนำการแก้ปัญหาของไอแบงก์ไปเทียบกับเอสเอ็มอีแบงก์ที่ นางสาลินี วังตาล เป็นประธานอยู่ ที่มีการบริหารที่ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด
ด้าน นางพรนิภา หาชัยภูมิ กรรมการและผู้จัดการ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) เปิดเผยภายหลังนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เข้าตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอกระทรวงการคลังพิจารณาร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บตท. ซึ่งประกาศใช้มาเป็นเวลานาน และยังไม่เคยมีการปรับปรุงกฎหมายเลย เพื่อให้สามารถออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รองรับผลการดำเนินงานได้ อาทิ การค้ำประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Mortgage Guarantee), การตั้งบริษัทสินเชื่อเคหะการ (Mortgage Company) และสินเชื่อสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage) และการพัฒนาตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยค้ำ (MBS) โดยคาดว่าเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้เร็วๆ นี้
นางพรนิภากล่าวอีกว่า ในปี 2558 บตท.ตั้งเป้ามีกำไร (หลังหักสำรองแล้ว) อยู่ที่ 120 ล้านบาท ตั้งเป้าจัดซื้อพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินชั้นนำอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท โดยระหว่างนี้ บตท.ได้ทำเรื่องขอเงินเพิ่มทุนจากกระทรวงการคลังจำนวน 1.5 พันล้านบาท เพื่อรองรับการซื้อพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงปี 2559-2561 เฉลี่ยปีละ 1 หมื่นล้านบาท และจะช่วยสนับสนุนให้บีไอเอสของ บตท.อยู่ไม่ต่ำกว่า 14-15% และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) สิ้นปีนี้ไม่เกิน 2.5%