- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Monday, 09 June 2014 23:13
- Hits: 3649
แบงก์รัฐนำร่องกระตุ้นศก./ออมสินโดดอุ้ม SME ธกส.อัด 6.5 หมื่นล.ลงรากหญ้า
แนวหน้า ; ธนาคารรัฐ รับลูก 'คสช.'พร้อมปล่อยกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ กระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว'พร้อมตั้ง กองทุนฯอีกหมื่นล้าน เคลียร์หนี้ข้าราชการ ตลึง!ครู ทหาร ตำรวจ มียอดสินเชื่อคงค้างรวมกันกว่า 6 แสนล้านบาท
นายธัชพล กาญจนกูล รองผู้อำนวยการธนาคารออมสินอาวุโส ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มอบหมายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือแบงก์รัฐ ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทางธนาคารออมสินจึงออกสินเชื่อในโครงการ ‘สินเชื่อ SMEs สุขใจ’กู้ไว ดอกถูก ผ่อนนาน เพื่อเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้มีสภาพคล่องมากขึ้น โดยเริ่มให้บริการไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย.2557
สำหรับ โครงการนี้ ธนาคารออมสินได้เปิดให้บริการสำหรับลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใหม่ และลูกค้าเดิมของธนาคาร ที่ประกอบธุรกิเอสเอ็มอี และเป็นลูกค้าในกลุ่มสินเชื่อธุรกิจห้องแถว สินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ สินเชื่อสำหรับผู้ผลิต ผู้ประกอบการโอท็อป ตลอดจนวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการตามห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) วงเงินกู้รายละไม่เกิน 10 ล้านบาท มีทั้งเงินกู้ระยะสั้น และ เงินกู้ระยะยาว โดยอัตราดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ระยะยาว ปีที่ 1 อยู่ที่ MLR -1% (ปัจจุบัน MLR ของธนาคารออมสินอยู่ที่ 6.875%) หลังจากนั้น ปีที่ 2 เป็นต้นไป คิดอัตราดอกเบี้ย MLR ขณะที่ เงินกู้ระยะสั้น อัตราดอกเบี้ย ปีที่ 1 อยู่ที่ MOR -1% (ปัจจุบัน MOR อยู่ที่ 7.25%) ปีต่อไปเป็นไปตามประกาศของธนาคาร
“ธนาคารออมสิน ได้เตรียมวงเงินสำหรับโครงการนี้ไว้ประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งจะเน้นปล่อยกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้สะดวกและคล่องตัวขึ้น หลังจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งปกติสินเชื่อสำหรับลูกค้ากลุ่มนี้ ธนาคารออมสินจะคิดอัตราดอกเบี้ย MLR บวกเพิ่มความเสี่ยง แต่ ณ เวลานี้ ต้องช่วยกันบรรเทาผลกระทบเพื่อพลิกฟื้นธุรกิจของผู้ประกอบการกลุ่มนี้อย่างเร่งด่วนก่อน โดยธนาคารฯ จะเข้าดูแลลูกค้าตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงการหาตลาดให้ หรือบางกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพมากก็จะผลักดันให้สามารถระดมทุนได้ด้วยตัวเองผ่านตลาดทุน เป็นต้น” นายธัชพล กล่าว
นายธัชพล กล่าวว่า ธนาคารออมสินอยู่ระหว่างการศึกษาเรื่องการตั้ง กองทุนลูกหนี้กลุ่มข้าราชการครู ทหาร ตำรวจและลูกหนี้สวัสดิการ มูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เป็นลักษณะนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) ทำหน้าที่แปลงสินทรัพย์ให้เป็นหลักทรัพย์ เพื่อดึงลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวเข้ามาอยู่ในกองทุน และเตรียมเปิดหาที่ปรึกษาทางการเงิน
ซึ่งที่ผ่านมาได้หารือกับ ธนาคารเอชเอสบีซี (ฮ่องกงแบงก์) ลองเข้ามาตีมูลค่าหลักทรัพย์ และหานักลงทุนที่สนใจเข้ามาลงทุนในกองทุนดังกล่าว เบื้องต้น เชื่อว่ามีทั้งนักลงทุนต่างประเทศ และในประเทศเช่นกลุ่มธุรกิจประกัน ที่ต้องการลงทุนระยะกลาง สนใจเข้ามาลงทุนในกองทุนนี้
ทั้งนี้ เมื่อผลการศึกษาได้ข้อสรุปจะต้องเสนอขอกระทรวงการคลังให้เห็นชอบแนวทางการจัดตั้งกองทุนนี้ก่อน เพื่อเสนอต่อไปยังคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้อนุมัติต่อไป
ล่าสุดยอดหนี้กลุ่มครู ทหาร ตำรวจ มียอดสินเชื่อคงค้างรวมกันกว่า 6 แสนล้านบาท ส่วนลูกหนี้กลุ่มสวัสดิการ มีมูลหนี้รวมกันกว่า 2 แสนล้านบาท มียอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพียงกว่า 2 % ถ้าสามารถนำหนี้ดังกล่าวออกมาตั้งเป็นกองทุนได้ 1 หมื่นล้านบาท จะทำให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ( บีไอเอส) ของธนาคารปรับเพิ่มได้อีก 1 % จากปัจจุบัน บีไอเอส อยู่ที่ 11 %
ส่วน นายฐานิศร์ สุทธสุวรรณ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธนาคารได้จัดเตรียมวงเงินสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนวงเงิน 65,900 ล้านบาท แบ่งเป็น สินเชื่อตลอดห่วงโซ่มูลค่าสินค้าเกษตรจำนวน 25,000 ล้านบาท สินเชื่อวิสาหกิจชุมชน 7,500 ล้านบาท สินเชื่อผู้ประกอบการ 3,400 ล้านบาท และสินเชื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก (บัตรสินเชื่อเกษตรกร) จำนวน 30,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ การสนับสนุนสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีดังกล่าว ก็เพื่อกระตุ้นการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจภาคชนบท โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ กลุ่มองค์กรชุมชน วิสาหกิจชุมชน ที่สนใจลงทุนในกิจการที่สนับสนุนหรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร เช่น การผลิต การรวบรวม การแปรรูป การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การบรรจุหีบห่อไปถึงการส่งออก ทั้งพืชอาหาร พืชพลังงานทดแทน และสัตว์เศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ยังมีเป้าหมายการกระจายสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคชนบทในปี 2557 รวมทั้งสิ้น 535,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว โดยคาดว่าจะช่วยส่งผลให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน และการใช้จ่ายในภาคครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น