WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

CIMBT คาดปี 58 กำไรสูงกว่าปีก่อน ตั้งเป้าสินเชื่อโต 15-20% คุม NPL

    นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย(CIMB) กล่าวว่า กำไรสุทธิในปี 58 น่าจะสูงกว่าปี 57 ที่มีกำไร 989 ล้านบาท หลังจากภาพรวมเศรษฐกิจฟื้นตัว ประกอบกับ ธนาคารได้ปรับกลยุทธ์ในการติดตามตามหนี้ โดยจะดูแลระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ในปีนี้ให้ต่ำกว่า 3.4% จากสิ้นปี 57 อยู่ที่ 3.3%

    "ปี 58 กำไรน่าจะฟื้นกลับมา เพราะเศรษฐกิจก็ฟื้นตัว คุม NPL รายย่อยได้ดีขึ้น จากปีก่อนที่รายย่อยขาดสภาพคล่อง ปีนี้เชื่อความสามารถชำระหนี้ดีขึ้น"นายสุภัค กล่าว

    ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าหมายสำคัญของปี 58 จะขยายฐานสินเชื่อให้เติบโต 15-20% ฐานเงินฝาก 15-20% รายได้ดอกเบี้ย 18-22% รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย 25-30% นอกจากนี้ จะรักษา NIM ให้มากกว่า 3.4% และคุมอัตราส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมให้น้อยกว่า 3.4%

    "ปี 58 เป็นปีที่ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จะใช้ทรัพยากรด้านคน ระบบ ผลิตภัณฑ์และบริการ ผสานเข้ากับพันธมิตรทางธุรกิจ และเครือข่ายอาเซียน เข้าไปนำเสนอบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ลูกค้ารายกลุ่มอย่างเต็มศักยภาพ โดยมองว่าท่ามกลางสมรภูมิการแข่งขันอันดุเดือดของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ก็ยังมีช่องว่างที่ธนาคารจะสามารถเข้าไปเจาะตลาด โดยใช้กลยุทธ์การมุ่งตอบสนองความต้องการลูกค้าให้ตรงจุดมากที่สุด"นายสุภัค กล่าว

   สิ่งที่น่าจับตาในปีนี้คือ ธนาคารได้พันธมิตรสำคัญที่ช่วยขยายขอบเขตช่องทางให้บริการกลุ่มลูกค้ารายย่อยอย่างสร้างสรรค์ ได้แก่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(ADVANC)หรือ เอไอเอส สร้างสรรค์ธนาคารรูปแบบใหม่บนมือถือ“Beat Banking"เข้ากับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่ต้องการความสะดวก-รวดเร็ว-เลือกได้ตามจังหวะชีวิตของลูกค้า โดยเตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์แรกอย่างเป็นทางการเร็วๆนี้

    นายสุภัค มองว่า การแข่งขันในตลาดลูกค้ารายย่อยในปีนี้จะรุนแรงขึ้น ซึ่งธนาคารตั้งเป้าหมายธุรกิจลูกค้ารายย่อยปี 58 จะเน้นขยายฐานใหม่อีก 2 แสนราย ให้เพิ่มจาก 9 แสนราย เป็น 1.1 ล้านราย หรือเติบโต 22% ด้านเงินฝากลูกค้ารายย่อยจะระดมเข้ามาใหม่ 2.2 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ฐานเพิ่มจาก 1.2 แสนล้านบาท เป็น 1.42 แสนล้านบาท หรือเติบโต 20%

     ด้านสินเชื่อมีหลักประกันจะปล่อยใหม่ 1.45 หมื่นล้านบาท เพื่อเพิ่มฐานจาก 6.56 หมื่นล้านบาท เป็น 8.25 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 20% ในจำนวนนี้เป็นสินเชื่อบ้านที่จะปล่อยใหม่ 1.3 หมื่นล้านบาท เพื่อให้พอร์ตสินเชื่อบ้านเพิ่มจาก 4.7 หมื่นล้านบาท เป็น 5.6 หมื่นล้านบาท หรือ เติบโต 20% ขณะที่สินเชื่อบุคคลจะปล่อยกู้ใหม่ 1 หมื่นล้านบาท ทำให้พอร์ตสินเชื่อเพิ่มจาก 1.05 หมื่นล้านบาทเป็น 1.72 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 65% แม้เป็นการเติบโตที่สูง แต่จะเติบโตในกลุ่มลูกค้าคุณภาพ

    สำหรับไฮไลต์ของธุรกิจรายย่อยในปีนี้คือ การขายกองทุน ตราสารหนี้ ตราสารอนุพันธ์และ Structured Notes ผ่านสาขาธนาคาร สืบเนื่องจากปีที่ผ่านมาธนาคารประสบความสำเร็จในการนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนและได้รับการตอบรับที่ดีมากสะท้อนถึงความไว้วางใจของลูกค้า โดยทำยอดขายได้สูงถึง 3 หมื่นล้านบาท จึงตั้งเป้าหมายทำยอดขายปีนี้อีก 6 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราเติบโตสูงถึง 100% ขณะที่การขายประกันชีวิตผ่านสาขาธนาคารตั้งเป้าหมายเบี้ยปีแรกไว้ที่ 1.3 พันล้านบาทใกล้เคียงปีก่อน ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นคือประกันอื่นๆ (non-life) ซึ่งตั้งเป้าหมายเบี้ยประกันที่ 123 ล้านบาท เติบโตเกือบเท่าตัวเปรียบเทียบกับเบี้ยประกันที่ 70 ล้านบาทในปีที่แล้ว

   ส่วนกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จะขยายฐานลูกค้าขนาดเล็กต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ควบคู่ไปกับการบุกทำตลาดในต่างจังหวัด ผนวกเข้ากับจุดเด่นในการเป็นธนาคารภูมิภาคอาเซียน และความสามารถในการดูแลเข้าใจถึงความต้องการของลูกค้าอย่างใกล้ชิด ทำให้สามารถต่อยอดในการนำเสนอบริการและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ให้แก่ลูกค้า

   นายสุภัค กล่าวว่า ปีที่แล้วได้จัดโครงสร้างพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีขึ้นใหม่และเน้นนำเสนอผลิตภัณฑ์ด้านบริหารเงินและ Structured Product ให้กลุ่มลูกค้าที่เดิมทียังไม่ค่อยมาใช้บริการ ประกอบกับได้ปรับกระบวนการสร้างทีมให้แข็งแกร่ง ปีนี้ธนาคารจึงพร้อมรุกอย่างเต็มที่ โดยจะมุ่งขยายฐานกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ เช่น ลูกค้า Trade, ธุรกิจ Cross Border ตามแนวตะเข็บชายแดน, ลูกค้าภาคการผลิตและส่งออก ปีนี้ตั้งเป้าหมายขยายสินเชื่อเอสเอ็มอีให้เติบโต 16-17% หรือ ประมาณ 9 พันล้านบาท

   ด้านกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ (Wholesale Banking) และวาณิชธนกิจ เครือข่ายและผู้เชี่ยวชาญตลาดอาเซียนยังคงเป็นกลยุทธ์หลัก โดยธนาคารจะต่อยอดความสำเร็จจากปีก่อนหน้าที่มีธุรกิจวาณิชธนกิจเป็นตัวนำในการได้ดีลสำคัญเข้ามาและสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้ายิ่งขึ้นจากเครือข่ายอาเซียนที่เรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนในต่างประเทศ ผลอันเป็นรูปธรรมคือลูกค้าให้ความไว้วางใจและเข้ามาต่อยอดธุรกิจทั้งด้านเงินฝากและบริการธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมให้ธนาคารอย่างมีนัยสำคัญ

  ในปีนี้ธนาคารมีธุรกรรมที่กำลังเจรจา เป็นธุรกรรม IPO (รวมทั้งกองทุน REIT ที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์)หลายรายการ มูลค่ารวมถึง 1.4 หมื่นล้านบาท และรายการซื้อขายกิจการที่มีมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท ขณะที่ IPO ในมือที่มีอยู่แล้ว 3-4 ดีล เตรียมยื่นไฟลิ่งในไตรมาสแรกของปีนี้ เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์(SET)ทั้งหมด มูลค่าระดมทุนรวมประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท ได้แก่ ธุรกิจเกษตร บริการ และอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น รวมทั้งกอง REIT อีก 1-2 รายที่เลื่อนมาจากปีก่อน และมีงานที่ปรึกษาการควบรวมกิจการ 5-6 ดีล ทั้งบริษัทไทยซื้อบริษัทไทย และบริษัทต่างประเทศเข้ามาซื้อกิจการบริษัทไทย

   นอกจากนี้ ด้วยศักยภาพและการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจในสปป.ลาว ธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อให้แก่บริษัทลาวโคคา-โคลา  และศูนย์การค้ารายใหญ่ในประเทศลาวเมื่อปลายปี 57 และในปี 58 ธนาคารมีแผนที่จะปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการใน สปป.ลาวอีกอย่างน้อย 3-4 รายขึ้นไป ซึ่งดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ อาหารและเครื่องดื่ม เทรดดิ้ง รวมวงเงินสินเชื่อประมาณ 1.5-2 พันล้านบาท

   ขณะเดียวกัน ธุรกิจ Treasury หรือบริหารเงินเป็นบริการที่นับเป็นจุดแข็งของธนาคารโดยปีที่ผ่านมาได้รับรางวัล “Best Structured Product House in Thailand" จากงาน The Asset Triple A Private Banking, Wealth Management & Investment Awards 2014 ซึ่ง Treasury ช่วยเติมเต็มทำให้ธนาคารสามารถนำเสนอบริการแบบแพ็คเกจซึ่งตอบโจทย์ธุรกิจขนาดใหญ่ครบทุกด้าน

    นายสุภัค กล่าวว่า ปีนี้จะเพิ่มการเชื่อมโยงธุรกิจของบริษัทในกลุ่มซีไอเอ็มบีไทยเข้ากับเครือข่ายธนาคารให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ของบริษัท เวิลด์ลีส จำกัด และบริษัท เซ็นเตอร์ ออโต้ ลีส จำกัด ซึ่งพบว่าในปีที่ผ่านมาเติบโตได้ค่อนข้างดี ขณะเดียวกัน เร็วๆนี้ จะได้เห็นการเชื่อมโยงบริการของตลาดทุนเข้ามาในสาขาธนาคารมากยิ่งขึ้น จากทั้ง บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล และ บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย)

                อินโฟเควสท์

CIMBT ตั้งเป้าสินเชื่อ - เงินฝากปี 58 โต 15-20% เน้นเจาะลูกค้ารายย่อย เชื่อมโยงธุรกิจในกลุ่ม

  CIMBT ตั้งเป้าสินเชื่อ เงินฝากปี 58 โต 15-20% พร้อมคาดรายได้ดอกเบี้ยปี 58 โต 18-22% ส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยโต 25-30% หวังรักษา NIM ปีนี้มากกว่า 3.4% - คุม NPL ให้ต่ำกว่า 3.4% เปิดแผนเน้นเจาะลูกค้ารายย่อย และเชื่อมโยงธุรกิจในกลุ่มเข้าด้วยกัน เผยมีดีล IPO - REIT ในมือมูลค่ารวม 1.4 หมื่นลบ และ M&A อีกกว่า 1 หมื่นลบ. เตรียมปล่อยสินเชื่อใน สปป.ลาวปีนี้รวม 1.5-2 พันลบ.

  นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่าในปี 2558 นี้ ธนาคารตั้งเป้าหมายขยายฐานสินเชื่อให้เติบโต 15-20% ฐานเงินฝากโต 15-20% ส่วนรายได้ดอกเบี้ยคาดว่าจะเติบโต 18-22% และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยโต 25-30%

  นอกจากนี้ระรักษา NIM ให้มากกว่า 3.4% และคุมอัตราส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวม (NPL) ให้น้อยกว่า 3.4%

  โดยในปีนี้ ธนาคารมีแผนจะเชื่อมโยงธุรกิจของบริษัทในกลุ่มซีไอเอ็มบีเข้ากับเครือข่ายธนาคารให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ของบริษัท เวิลด์ลีส จำกัด และบริษัท เซ็นเตอร์ ออโต้ ลีส จำกัด ซึ่งพบว่าในปีที่ผ่านมาเติบโตได้ค่อนข้างดี ขณะเดียวกันเร็วๆนี้จะได้เห็นการเชื่อมโยงบริการของตลาดทุนเข้ามาในสาขาธนาคารมากยิ่งขึ้น ทั้งจาก บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล และ บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย)

  จากปี 2557 ซึ่งนับเป็นปีที่ธนาคารประสบผลสำเร็จในการทำธุรกิจกับลูกค้ารายใหญ่อย่างต่อเนื่อง โดยมีธุรกรรมเด่น ๆ ซึ่งหลายรายการเป็นการเชื่อมโยงกับกลุ่มซีไอเอ็มบี เช่น การเป็นผู้ให้สินเชื่อแก่กลุ่มอี ฟอร์แอล ในการเข้าซื้อกิจการ บริษัท วุฒิศักดิ์ คลินิค อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด มูลค่า 4.5 พันล้านบาท (วงเงินสินเชื่อ 1.7 พันล้านบาท) การเป็นที่ปรึกษาการเงินให้แก่ บริษัท บี.กริม.เพาเวอร์ จำกัด ธุรกิจพลังงานชั้นนำของประเทศไทย ในการเข้าซื้อโรงไฟฟ้า 2 แห่ จาก บริษัท ไชม์ดาร์บี้ พีทีอี เอนเนอร์จี จำกัด มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 175 ล้านเหรียญสหรัฐ การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้แก่ บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล ในการเข้าซื้อกิจการ บลจ.ฟินันซ่า มูลค่า 178 ล้านบาท ล่าสุดการเป็นที่ปรึกษาการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายร่วมหุ้นสามัญของบริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มูลค่า 7 พันล้านบาท ที่ส่งผลให้ดีลนี้ได้รับรางวัล "Best Equity Deal of The Year 2014 in Southeast Asia" จาก นิตยสาร Alpha Southeast Asia

  สำหรับปี 2558 มีธุรกรรมที่กำลังเจรจาโดยเป็นธุรกรรม IPO (รวมกอง REIT) หลายรายการ มูลค่ารวม 1.4 หมื่นล้านบาท และรายการซื้อขายกิจการ (M&A) ที่มีมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท

  นายสุภัค กล่าวว่า แนวโน้มการแข่งขันในตลาดลูกค้ารายย่อยปีนี้จะรุนแรงขึ้น โดยธนาคารจะเน้นขยายฐานลูกค้ารายใหม่อีก 2 แสนราย เพื่อให้ฐานลูกค่าเพิ่มจาก 9 แสนราย เป็น 1.1 ล้านราย หรือเติบโต 22% ด้านเงินฝากลูกค้ารายย่อยจะระดมเข้ามาใหม่ 2.2 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ฐานเงินฝากรายย่อยเพิ่มจาก 1.2 แสนล้านบาท เป็น 1.42 แสนล้านบาท หรือเติบโต 20%

  สินเชื่อมีหลักประกันจะปล่อยใหม่ 1.45 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ฐานสินเชื่อเพิ่มจาก 6.56 หมื่นล้านบาท เป็น 8.25 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 20% ในจำนวนนี้เป็นสินเชื่อบ้านที่จะปล่อยใหม่ 1.3 หมื่นล้านบาท เพื่อเพิ่มพอร์ตสินเชื่อบ้านจาก 4.7 หมื่นล้านบาท เป็น 5.6 หมื่นล้านบาท เติบโต 20% ขณะที่สินเชื่อบุคคลจะปล่อยกู้ใหม่ 1 หมื่นล้านบาท ทำให้พอร์ตสินเชื่อเพิ่มจาก 1.05 หมื่นล้านบาท เป็น 1.72 หมื่นล้านบาท เติบโต 65% แม้เป็นการเติบโตที่สูงแต่จะเติบโตในกลุ่มลูกค้าคุณภาพ

  ขณะเดียวกัน ธุรกิจที่จะเป็นไฮไลของธุรกิจรายย่อยในปีนี้ คือ การขายกองทุน ตราสารหนี้ ตราสารอนุพันธ์และ Sturctured Notes ผ่านสาขาธนาคารสืบเนื่องจากปีที่ผ่านมาธนาคารประสบความสำเร็จในการนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนและได้รับการตอบรับที่ดีมากสะท้อนถึงความไว้วางใจของลูกค้า โดยทำยอดขายได้สูงถึง 3 หมื่นล้านบาท จึงตั้งเป้าหมายทำยอดขายปีนี้อีก 6 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราเติบโตสูงถึง 100%

  ขณะที่การขายประกันชีวิตผ่านสาขาธนาคารตั้งเป้าหมายเบี้ยปีแรกไว้ที่ 1.3 พันล้านบาท ใกล้เคียงปีก่อนที่จะเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น คือ ประกันอื่นๆ (non-life) ซึ่งตั้งเป้าหมายเบี้ยประกันที่ 123 ล้านบาท เติบโตเกือบเท่าตัวเปรียบเทียบกับเบี้ยประกันที่ 70 ล้านบาทในปีที่แล้ว

  นายสุภัค กล่าวว่า สำหรับกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จะเดินหน้าขยายฐานลูกค้าขนาดเล็กต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ควบคู่ไปกับการบุกทำตลาดในต่างจังหวัด ผนวกกับจุดเด่นของธนาคารที่เป็นธนาคารภูมิภาคอาเซียน และความสามารถในการดูแลเข้าใจถึงความต้องการของลูกค้าอย่างใกล้ชิด ทำให้สามารถต่อยอดในการนำเสนอบริการและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ให้แก่ลูกค้า โดยปีที่แล้วได้จัดโครงสร้างพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีขึ้นใหม่ และเน้นนำเสนอผลิตภัณฑ์ด้านบริหารเงินและ Structured Product ให้กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีที่ยังไม่ค่อยมาใช้บริการ ประกอบกับได้ปรับกระบวนการ สร้างทีมให้แข็งแกร่งปีนี้ธนาคารจึงพร้อมรุกธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างเต็มที่ โดยจะมุ่งขยายฐานลูกค้าใหม่ ๆเช่น ลูกค้า Trade, ธุรกิจ Cross Border ตามแนวตะเข็บชายแดน ลูกค้าภาคการผลิตและส่งออก เพื่อสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมให้มากขึ้น ปีนี้ตั้งเป้าหมายขยายสินเชื่อเอสเอ็มอีให้เติบโตอีก 16-17% หรือประมาณ 9 พันล้านบาท

  ด้านกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ (Wholsale Banking) และวาณิชธนกิจเครือข่ายและผู้เชี่ยวชาญตลาดอาเซียนยังคงเป็นกลยุทธ์หลัก โดยธนาคารจะต่อยอดความสำเร็จจากปีก่อนหน้าที่มีธุรกิจวาณิชธนกิจเป็นตัวนำในการได้ดีลสำคัญเข้ามาและสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้ายิ่งขึ้นจากเครือข่ายอาเซียนที่เรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนในต่างประเทศ ผลอันเป็นรูปธรรมคือลูกค้ให้ความไว้วางใจและเข้ามาต่อยอดธุรกิจทั้งด้านเงินฝากและบริการธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมให้ธนาคารอย่างมีนัยสำคัญ

  นอกจากนี้ ด้วยศักยภาพการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจใน สปป.ลาว ธนาคารมีแผนจะปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการใน สปป. ลาวอีกอย่างน้อย 3-4 รายในปีนี้ วงเงินสินเชื่อรวมประมาณ 1.5-2 พันล้านบาท ในธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ อาหารและเครื่องดื่ม เทรดดิ้ง

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!