WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

BAY มอง กนง.อาจหั่น ดบ.นโยบายลง 0.25% ในช่วงครึ่งปีหลัง หากท่องเที่ยว -บริโภค -ลงทุนไม่ฟื้น ด้านที่ปรึกษา TDRI ชี้ไทยยังไม่เผชิญภาวะเงินฝืด

   BAY มอง กนง.อาจหั่น ดบ.นโยบายลง 0.25% ในช่วงครึ่งปีหลัง หากท่องเที่ยว -บริโภค -ลงทุนไม่ฟื้น ด้านที่ปรึกษา TDRI ชี้ ไทยยังไม่เผชิญภาวะเงินฝืด มองเงินเฟ้อที่ติดลบ มาจากราคาพลังงานที่ลดลง พร้อมหนุนรัฐเก็บภาษีทรัพย์สิน มองการเกิดฐานภาษีใหม่ช่วยสร้างความยั่งยืนการคลัง 

   ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานสัมมนา ปี 2558 หัวเลี้ยวหัวต่อของการคลี่คลายวิกฤตเศรษฐกิจโลก จัดโดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ  BAY นายกฤษณ์ จันทโนทก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกลยุทธ์ลูกค้าบุคคล และบริหารผลิตภัณฑ์เงินฝาก การลงทุน ประกันภัย ธนบดี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY เปิดเผยว่า ธนาคารฯมองว่าในปีนี้มีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. อาจตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในช่วงครึ่งปีหลัง หากเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวล่าช้า การท่องเที่ยว การลงทุนภาครัฐ และเอกชน รวมไปถึงการบริโภคยังไม่ฟื้นตัว

   อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะมีผลต่ออัตราดอกเบี้ย คือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศอุตสาหกรรมหลัก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ซึ่งอาจมีผลให้ไทยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม แต่ทั้งนี้คงต้องจับตาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบาง นอกจากนี้อัตราแลกเปลี่ยนของไทยที่อ่อนค่าน้อยกว่าประเทศคู่ค้า ยังจะส่งผลต่อคสามสามารถในการแข่งขันในเรื่องของการส่งออกในปีนี้ด้วย

   "มันมีโอกาสที่เราอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในช่วงครึ่งปีหลัง แต่คงต้องดูการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศว่าจะสามารถฟื้นตัวได้หรือไม่"นายกฤษณ์ กล่าว

    ด้านนายวิรไท สันติประภพ ที่ปรึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ  TDRI  เปิดเผยว่า ยืนยันว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนมกราคม 2558 ที่ออกมาติดลบ 0.41% นั้นยังไม่ถือเป็นภาวะเงินฝืด แต่เป็นช่วงเวลาที่อัตราเงินเฟ้อในประเทศติดลบ เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง

   "ไทยไม่ได้เผชิญเงินฝืด เพราะเงินฝืดจะเกิดจากความกังวลด้านดีมานกับอุปสงค์ ราคาสินค้าติดลบประชาชนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย แต่ครั้งนี้เกิดจากอุปทานบางตัว โดยราคาน้ำมันมีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นช่วงเงินเฟ้อติดลบระยะหนึ่งเท่านั้น"รายวิรไท กล่าว

   ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าไทยน่าจะเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดลง เนื่องจากเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมัน ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนสินค้าถูกลง ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าอาจสางผลกระทบกับกลุ่มลงทุนที่เกี่ยวข้องกับพลังงานบ้างที่จะส่งผลให้การลงทุนในระยะนี้ลดลง

    สำหรับ ความเสี่ยงที่ต้องจับตามองในปีนี้ คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีความแตกต่างกัน ขณะที่ในประเทศนั้นจะถูกขับเคลื่อนจากการท่องเที่ยว การลงทุน เป็นหลัก ขณะที่ภาคเกษตรยังชะลอตัวลงจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

    ส่วนกรณีที่ธนาคารกลางหลายแห่ง เช่น ญี่ปุ่น และยุโรป ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้สภาพคล่องล้นระบบนั้น อาจส่งผลให้ตลาดการเงินโลกมีความผันผวน เกิดกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายไปยังภูมิภาคต่างๆ รวมถึงส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนด้วย และความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์

    "สภาพคล่องล้นในตอนนี้เงินก็จะไหลเข้ามาประเทศอื่นๆ ทั้งภูมิภาคเอเชียรวมถึงไทย แต่ก็ต้องระวังด้วยในยามที่มีข่าวต่างๆที่เข้ามากระทบต่อความเชื่อมั่นเงินก็จะมีโอกาสไหลออกเร็วได้เช่นกัน ดังนั้นนักลงทุนจะต้องระมัดระวังในปีนี้"นายวิรไท กล่าว

    นายวิรไท กล่าวอีกว่า ในมุมมองส่วนตัวเห็นด้วยที่รัฐบาลจะมีการปฏิรูปภาษี โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีมรดก และทรัพย์สินต่างๆ เนื่องจากเป็นการสร้างฐานภาษีใหม่ และก่อให้เกิดความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาวด้วย

    "ไทยกำลังประสบปัญหาเชิงโครงสร้างที่รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย เพราะไทยกำลังเข้าสู่ประเทศประชากรผู้สูงอายุ ดังนั้นไทยจะต้องเร่งหารายได้ใหม่ ซึ่งการจะจัดเก็บภาษีทรัพย์สินนั้นถือเป็นทางเลือกหนึ่ง แต่จะทำได้หรือไม่ จะเก็บได้หรือไม่นั้นเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ แต่เชื่อว่าการปฏิรูปภาษีนั้นจะก่อให้เกิดการหาแหล่งรายได้ของรัฐบาลใหม่ๆ"นายวิรไท กล่าว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!