WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

แบงก์รัฐคุมเข้ม NPL ไม่เกิน 5%

     บ้านเมือง : นายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า ธนาคารมีเป้าหมายบริหารความเสี่ยงการเกิดหนี้เสีย (NPL) เพื่อรักษาระดับเอ็นพีแอล ปีนี้ไม่เกิน 5% โดยธนาคารได้ตั้งหน่วยงานบริหารความเสี่ยงลูกหนี้ เข้าไปดูแลและติดตามหนี้ปกติ (PL) ไม่ให้กลายเป็นหนี้เสีย โดยให้แต่ละสาขาเข้าไปติดตามเป็นรายๆ และทุกเดือน จากเดิมติดตามเป็นรายปี หากลูกหนี้ปกติเริ่มมีปัญหาชำระหนี้ จะได้เร่งดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้นได้ทันที

     แม้ว่าตั้งแต่ครึ่งหลังปีที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้มีลูกหนี้ตกชั้นเพียง 0.5% และยังไม่มีสัญญาณเพิ่มขึ้น แต่ยอมรับว่า ภายใต้เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวชัดเจนเช่นนี้ กลุ่มเอสเอ็มอีรายย่อยมีแนวโน้มหนี้เสียเพิ่มขึ้นจริง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง และธนาคารพาณิชย์ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ แต่ด้วยนโยบายหลักของธนาคารต้องเข้าไปช่วยเหลือสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี จึงต้องป้องกันความเสี่ยงการก่อหนี้เอ็นพีแอล

   ดังนั้น โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น หอการค้าและบีโอไอ และเจ้าหน้าที่ของธนาคารในภาคสนามแต่ละสาขา หาวิธีการปล่อยสินเชื่อรายย่อยมากขึ้น โดยเฉพาะภาคการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ในท้องถิ่น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในต่างจังหวัด

     นายกมลภพ วีระพละ รองกรรมการผู้จัดการ กำกับดูแล ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธนาคารมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อบ้านที่อยู่อาศัยตามเกณฑ์ของ ธปท. และการติดตามลูกหนี้อย่างใกล้ชิด หากลูกหนี้เริ่มมีปัญหาผ่อนชำระในเดือนแรก จะติดตามและช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้เพิ่มขึ้น โดยกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ ขณะนี้ธนาคารต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องจากปีที่แล้ว

   ตั้งเป้าหมายเพื่อบริหารจัดการลดหนี้เสีย (NPL) ในปี 2557 อยู่ที่ 5.36% และในเป้าหมายในปีนี้รักษาระดับให้ไม่เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน โดยธนาคารเตรียมหารือกับคณะกรรมการธนาคาร พิจารณาปรับลดเป้าหนี้ เอ็นพีแอล ปีนี้ลงจากที่ตั้งไว้ก่อนหน้านี้ที่ 5.75% ด้วย ขณะที่เป้าหมายในระยะยาว หรือภายในปี 2562 ยังคงตั้งเป้ามีสินเชื่อคงค้างทะลุ 1 ล้านล้านบาท และมีสัดส่วนหนี้ เอ็นพีแอล เหลือ 4% รวมถึงในส่วนของการปล่อยสินเชื่อใหม่วงเงินไม่เกิน 1.5 ล้านบาท เตรียมหารือกระทรวงการคลัง ขอปรับเพิ่มวงเงินไม่เกิน 2 ล้านบาท สำหรับการปล่อยสินเชื่อตามนโยบายของรัฐบาล โดยจะต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้มีรายได้น้อยที่มีความต้องการสินเชื่อบ้านที่อยู่อาศัยให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาชีพ นิยามรายได้และการประเมินรายได้ทั้งครัวเรือน เป็นต้น

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!