WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

SME แบงก์สอบทุจริตอดีตเอ็มดี คดีหนี้เน่าสินเชื่อชะลอเลิกจ้าง

     แนวหน้า : นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ฟ้องร้องดำเนินคดีเกี่ยวกับผู้ที่กระทำการทุจริต ทำให้ธนาคารเกิดความเสียหาย ตามที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ(ซุปเปอร์บอร์ด) เร่งให้ดำเนินการ โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1. การฟ้องร้องบุคคลภายนอกและอดีตพนักงาน ผู้บริหาร ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือมีส่วนร่วม ในการทำให้เกิดความเสียหายเกิดขึ้นแก่ภาครัฐและธนาคาร มีคดีถึงที่สุดแล้ว อยู่ระหว่างการบังคับคดีกับผู้กระทำผิด 4 เรื่อง เป็นจำนวน 4 ราย และอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอีก 6 เรื่อง มีอีกจำนวน 19 ราย และเตรียมฟ้องร้องดำเนินคดีต่อไป

    2.การตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกับพนักงานที่อยู่ในข่ายกระทำความผิด เมื่อสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วในแต่ละกรณีก็จะตั้งคณะกรรมการลงวินัยตามระเบียบของรัฐวิสาหกิจต่อไป โดยขณะนี้มีเรื่องอยู่ระหว่างดำเนินการ 19 กรณี มีจำนวน 32 ราย แบ่งเป็นการกระทำผิดด้านสินเชื่อ 6 เรื่อง ด้านร่วมลงทุน 6 เรื่อง ด้านการดำเนินงานที่ขัดนโยบาย 4 เรื่อง และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการทำผิดระเบียบธนาคารอีก 7 เรื่อง คาดว่าจะสอบสวนเสร็จสิ้นได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้

    นอกจากนี้ ยังตรวจสอบพบว่ามีอดีตกรรมการผู้จัดการเอสเอ็มอีแบงก์รายหนึ่ง มีความเกี่ยวโยงกับการปล่อยสินเชื่อแบบผิดปกติ โดยในจำนวนหนี้เสียเอ็นพีแอลทั้งหมด 3.1 หมื่นล้านบาท มีเอ็นพีแอลจัดตั้งปล่อยกู้แบบผิดปกติ โดยเฉพาะในปี52 ปล่อยให้กับโครงการชะลอการเลิกจ้าง วงเงินตั้งแต่ 50-200 ล้านบาท มูลค่ากว่า 3,000-4,000 ล้านบาท ซึ่งหลังจากนี้เอสเอ็มอีแบงก์จะให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)มีความเข้มข้นในการตรวจสอบการทุจริตมากขึ้น

   นางสาลินี กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขเอ็นพีแอล ธนาคารได้คัดเลือกเอ็นพีแอลที่มีหลักประกัน วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท และแบ่งขายเป็นกองแรกแล้วในภาคตะวันออกวงเงิน 500 ล้านบาท แต่ลูกหนี้บางรายได้ขอประนอมหนี้ทำให้เหลือยอดหนี้คงค้างของกองดังกล่าวมีอยู่ 316 ล้านบาท โดยขณะนี้สิ้นสุดระยะประมูลขายแล้ว มีบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) หลายรายให้ความสนใจซื้อซองและยื่นข้อเสนอราคา ซึ่งธนาคารได้เปิดซองประมูลแล้วเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2558 ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจารายละเอียดกับ AMC ผู้เสนอราคาซื้อสูงสุด

   สำหรับ ลูกหนี้เอ็นพีแอลรายย่อยที่ไม่มีหลักประกัน วงเงิน 5,000 ล้านบาท ขณะนี้ทำสัญญากับบริษัทเงินสดทันใจ มาดำเนินการเก็บหนี้แทน โดยร่วมมือกับกรมบังคับคดีเป็นตัวกลางช่วยไกล่เกลี่ย เป็นผลสำเร็จกว่า 500 ราย เป็นวงเงิน 300 ล้านบาท ส่วนเอ็นพีแอลที่เหลืออีก 1.6 หมื่นล้านบาท จะปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กลับมาเป็นปกติ

   อย่างไรก็ตาม ในจำนวนลูกหนี้เอ็นพีแอลกลุ่มหลังดังกล่าว มีบางส่วนเป็นลูกหนี้ที่เกิดจากโครงการสินเชื่อภาครัฐ หรือพีเอสเอ โดยคาดว่าจะสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้สำเร็จภายในเดือน เม.ย.2559 หากไม่สามารถดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ในกลุ่มนี้ได้ ก็จะขอเบิกเงินชดเชยจากกระทรวงการคลังต่อไป

 

ฝ่าวิกฤติคอร์รัปชั่น

   เอสเอ็มอีแบงก์ ฟ้องศาลแรงงาน เรียกค่าเสียหาย'โสฬส สาครวิศว'อดีตเอ็มดี 1,795 ล้านบาท ข้อหาฝืนมติบอร์ด-ปล่อยกู้เกินวงเงิน

13 สิงหาคม 2014 : http://thaipublica.org/2014/08/sme-bank-sued-former-md/

    จากการที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้านำเสนอข่าวกรณีนายโสฬส สาครวิศว อดีตกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ฝ่าฝืน มติคณะกรรมการธนาคารครั้งที่ 4/2552ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 กรณีการปล่อยสินเชื่อโครงการชะลอการเลิกจ้างแรงงาน ตามเงื่อนไขปล่อยได้ไม่เกินวงเงินที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) นำมาฝากกับธนาคาร โดย สปส. นำเงินมาฝากกับธนาคารลอตแรก 6,000 ล้านบาท ธนาคารจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากให้ สปส. 1% ต่อปี และลอตที่ 2 อีก 1,000 ล้านบาท ธนาคารจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากที่อัตรา 1.5% ต่อปี รวม สปส. นำเงินมาฝากกับเอสเอ็มอีแบงก์ทั้งหมด 7,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นแหล่งเงินทุน (Source of fund) ในการปล่อยกู้ต่อให้กับลูกค้า โดยคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 5% เป็นระยะเวลา 5 ปี

   ปรากฏว่า ปิดโครงการปี 2553 นายโสฬส อนุมัติสินเชื่อออกไปทั้งสิ้น 23,350 ล้านบาท ซึ่งเกินวงเงินปล่อยกู้ที่บอร์ดมีมติ 16,350 ล้านบาท ปกติธนาคารต้องคิดอัตราดอกเบี้ยกับลูกค้า MLR +1 หรือ 2% (ณ ปี 2552-2553 MLR = 7.25%) แต่นายโสฬสปล่อยกู้โดยคิดดอกเบี้ยลูกค้าแค่ 5% ทำให้ธนาคารเสียโอกาสในการหารายได้จากดอกเบี้ยประมาณ 2% คิดเป็นมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น 1,795 ล้านบาท

    นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรมว.คลัง  นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง อดีตรมว.อุตสาหกรรม   นายไพฑูรย์ แก้วทอง  อดีตรมว.แรงงาน ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ(MOU) โดยสำนักงานประกันสังคมจะนำเงินมาฝากกับ เอสเอ็มอีแบงก์วงเงิน 6,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นแหล่งทุน โครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงานเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2552 ณ สำนักงานใหญ่ เอสเอ็มอีกแบงก์  ที่มาภาพ : http://www.industry.go.th/sme_bank/Lists/info_news/Disp.aspx?List=52e62293-1c49-4655-9d64-aae39250d106&ID=83

   นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรมว.คลัง นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง อดีตรมว.อุตสาหกรรม นายไพฑูรย์ แก้วทอง อดีตรมว.แรงงาน ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ(MOU) โดยสำนักงานประกันสังคมจะนำเงินมาฝากกับ เอสเอ็มอีแบงก์วงเงิน 6,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นแหล่งทุน โครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงานเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2552 ณ สำนักงานใหญ่ เอสเอ็มอีกแบงก์ ที่มาภาพ : http://www.industry.go.th/sme_bank/Lists/info_news/Disp.aspx?List=52e62293-1c49-4655-9d64-aae39250d106&ID=83

   วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 คณะกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์มีมติแต่งตั้งนายพิชัย ชุณหวชิร อดีตประธานกรรมการบริหาร เอสเอ็มอีแบงก์ เป็นประธานกรรมการสอบข้อเท็จจริงนายโสฬส สรุปผลการสอบสวนมีมูลความผิด ธนาคารจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ดำเนินการเรียกค่าเสียหายอดีตเอ็มดีเอสเอ็มอีแบงก์ 1,795 ล้านบาท

   คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดฯใช้เวลาเกือบ 2 ปี ในการรวบรวมพยานหลักฐานสรุปสำนวนคดีส่งให้ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารชุดก่อนที่มีดร.นริศ ชัยสูตร เป็นประธานฯลงนามอนุมัติก่อนดร.นริศยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2557 เวลา 13.00 น.เอสเอ็มอีแบงก์ได้ยื่นฟ้องนายโสฬสที่ศาลแรงงานกลาง เพื่อบังคับให้นายโสฬสชดใช้ค่าเสียหายให้ธนาคาร 1,795 ล้านบาท เนื่องจากในสัญญาว่าจ้างนายโสฬสเป็นกรรมการผู้จัดการเอสเอ็มอีแบงก์ ระบุว่า หากนายโสฬสทำความเสียหายให้กับธนาคาร ธนาคารในฐานะผู้ว่าจ้างสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้

    แหล่งข่าวระดับสูงจากเอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่ากรณีนี้ธนาคารเกรงว่าคดีจะขาดอายุความ เจ้าหน้าที่และผู้บริหารที่รับผิดชอบคดี อาจจะมีความผิดฐานละเว้นปฏิบัติ ตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 157 กรณีนายโสฬสผ่าฝืนมติบอร์ด อนุมัติสินเชื่อ โครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงานเกินวงเงิน เข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539มีอายุความ 2 ปี ซึ่งคดีนี้จะครบอายุความวันที่ 14 สิงหาคม 2557

   ต่อเรื่องนี้นายโสฬสเปิดเผยว่า ช่วงที่ผมยังดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคาร คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเรียกผมไปสอบปากคำเพียงครั้งเดียว หลังจากผมลาออกจากตำแหน่งไปแล้ว ทราบว่าบอร์ดเอสเอ็มอีแบงก์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ขึ้นมาสอบสวนผม ซึ่งผมคิดว่ามันคือ ศาลเตี้ยเพราะคณะกรรมการชุดนี้ไม่ได้มีการแต่งตั้งบุคคลภายนอกหรือคนกลาง องค์ประกอบของคณะกรรมการชุดนี้มีพนักงานระดับรองกรรมการผู้จัดการเป็นประธาน ส่วนกรรมการอีก 2 คนเป็นพนักงานระดับล่าง ซึ่งผมอาจจะไม่ได้รับความเป็นธรรม หลังจากที่ผมลาออกมาแล้ว ก็ไม่ได้ไปให้ปากคำต่อคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดฯ เพราะคิดว่าไปต่อสู้ในศาล ผมน่าจะได้รับความเป็นธรรมมากกว่า

   นายโสฬส กล่าวต่อว่า ข้อเท็จจริงที่ผมต้องการชี้แจงให้สาธารณชนได้รับทราบมีดังนี้ 1. ข้อกล่าวหาที่ว่าผมอนุมัติสินเชื่อโครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงานเกินวงเงินไป 16,350 ล้านบาท ทำให้ธนาคารเสียหาย ข้อเท็จจริงคือ ปิดโครงการปี 2553 ธนาคารมีการอนุมติสินเชื่อโครงการนี้ไปทั้งสิ้น 23,350 ล้านบาทจริง แต่มีลูกค้าเบิกเงินกู้แค่ 14,000 ล้านบาท ขณะที่ สปส. นำเงินมาฝากกับธนาคาร 7,000 ล้านบาท จึงมียอดเบิกจ่ายเกินไปแค่ 7,000 ล้านบาทเท่านั้น

  ประการที่ 2 ข้อกล่าวหาที่ว่า หาก สปส. ไม่นำเงินมาฝากกับธนาคาร โครงการนี้มีต้นทุนของแหล่งเงิน (Cost of fund) ประมาณ 3.5% ต้นทุนการดำเนินงาน (Operate cost) อีก 3 % รวมต้นทุนทั้งหมด 6.5% แต่ผมนำไปปล่อยกู้ คิดดอกเบี้ยลูกค้า 5% ต่อปี ทำให้ธนาคารขาดทุน 1.5%

   นายโสฬสชี้แจงว่า ถ้าย้อนหลังกลับไปดูอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินช่วงปี 2552-2554 จะพบว่าดอกเบี้ยในตลาดเงินต่ำมาก อย่างเช่น ปี 2552-2553 แบงก์เอกชนจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ฝากเงินประเภทนิติบุคคลประมาณ 1% ต่อปี ปี 2554 ประมาณ 2% ต่อปี ซึ่งเอสเอ็มอีแบงก์ก็จ่ายดอกเบี้ยใกล้เคียงกับแบงก์เอกชน หาก สปส.ไม่นำเงินมาฝากกับเอสเอ็มอีแบงก์ ธนาคารระดมทุนจากแหล่งอื่นมาใช้ในการปล่อยสินเชื่อ Cost of fund ไม่น่าจะสูงถึง 3.5% ต่อปี เพราะในช่วงปี 2552-2554 ตลาดเงินจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 1-2% ต่อปีเท่านั้น

   กรณีที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงชุดนี้ ระบุว่า ส่วนต้นทุนการดำเนินงานของเอสเอ็มอีแบงก์อยู่ที่ 3% นายโสฬส กล่าวว่าปกติธนาคารมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่แล้ว เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ เงินเดือนพนักงาน เป็นต้น หากไม่ขยายสินเชื่อ ก็อาจจะขาดทุน ดังนั้นผมจึงพยายามเร่งขยายสินเชื่อ เพื่อลดผลขาดทุน หรือ ลดค่าใช้จ่ายต่อหน่วยของธนาคารลง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการดำเนินงานลดจาก 3% เหลือเพียง 2% เท่านั้นนายโสฬสกล่าว

    ประการที่ 3 ข้อกล่าวหาที่ว่าตนอนุมัติสินเชื่อเกินวงเงิน ทำให้ธนาคารเสียโอกาสในการหารายได้ แทนที่ธนาคารจะนำเงินส่วนเกินจำนวนนี้ไปปล่อยกู้ลูกค้าทั่วไป ซึ่งมีดอกเบี้ยรับอยู่ที่ 7-8% แต่ตนนำมาปล่อยกู้แค่ 5% นายโสฬส กล่าวว่า ประเด็นนี้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ควรจะวิเคราะห์เจาะลึกลงในรายละเอียดและจะพบว่าความจริงไม่มีความเสียหายใดๆ เกิดขึ้น กล่าวคือ เอสเอ็มอีแบงก์นำเงินฝาก สปส. ต้นทุน 1% ต่อปี ปล่อยกู้ลูกค้าคิดดอกเบี้ย 5% ต่อปี เริ่มปี 2552 เป็นปีแรกได้รับส่วนต่างกำไร 4% หักค่าใช้จ่ายดำเนินการ 2% ก็ยังกำไรอยู่ ปี 2553 รับส่วนต่างกำไรก่อนหักค่าใช้จ่าย 3-4% ปี 2554 รับส่วนต่างกำไร 2% พ้นกำหนดดอกเบี้ยคงที่ขึ้นไปที่ 6 คิดดอกเบี้ยขั้นต่ำ 7.25% ธนาคารรับส่วนต่างกำไรก่อนหักค่าใช้จ่าย 5-6% ไปอีก 2-5 ปี ทำไมไม่นำกำไรส่วนนี้มาคำนวณด้วย

     ช่วงปี 2552-2553 ดอกเบี้ยในตลาดต่ำมาก ผมขอถามคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดฯว่าหากผมปล่อยกู้ลูกค้า โดยคิดดอกเบี้ยที่ 7-9% จะมีลูกค้ารายไหนมากู้เงินกับธนาคาร และถ้าไม่มีลูกค้ามากู้เงิน แต่ธนาคารมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เป็นรายจ่ายคงที่รออยู่ ถามว่าถ้าอยู่เฉยๆ ขาดทุนใช่หรือไม่ และถ้าไปตรวจดูตัวเลขทางบัญชีของธนาคาร ก็จะพบว่าโครงการนี้ไม่ได้ขาดทุนตามข้อกล่าวหา นอกจากนี้ช่วงปิดโครงการปี 2553 ขณะนั้นมีคุณพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ เป็นประธานบอร์ด ก็ประเมินผลงานผมดีในทุกๆ ด้าน หากผมทำผิดจริง ทำไมบอร์ดชุดนี้ไม่ดำเนินคดีกับผม แต่พอกระทรวงการคลังเปลี่ยนประธานบอร์ดเป็น ดร.นริศ ชัยสูตร ทำไมเพิ่งมาดำเนินคดีผม ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้ ผมจะนำไปต่อสู้ในชั้นศาลนายโสฬสกล่าว

     สำหรับ วิธีการคำนวณความเสียหายของคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ กรณีนายโสฬสอนุมัติสินเชื่อโครงการนี้เกินวงเงิน 7,000 ล้านบาท แหล่งข่าวระดับสูงจากเอสเอ็มอีแบงก์เปิดเผยว่า คณะกรรมการความรับผิดทางละเมิดฯ ใช้วิธีการคำนวณความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงเป็นหลักการสำคัญ ซึ่งแตกต่างจากวิธีคำนวณตามคำชี้แจงของนายโสฬส กล่าวคือ ลูกค้าที่เข้าโครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงานธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปี เริ่มปีที่ 6 เป็นต้นไป คิดอัตราดอกเบี้ย MLR (7.25%) บวก 0-2% ลูกค้าแต่ละรายจะถูกบวกดอกเบี้ยเพิ่มไม่เท่ากัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเครดิตหรือความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า เช่น บางกรณีถูกบวกดอกเบี้ยเพิ่มอีก 0.5% บางกรณีมีความเสี่ยงสูง อาจจะถูกบวก 1% เป็นต้น กล่าวคืออัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ธนาคารจะคิดกับลูกค้าทั่วไป กรณีสปส.ไม่ได้นำเงินมาฝากกับเอสเอ็มอีแบงก์

   ดังนั้น คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดฯ จึงใช้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้หลังปีหลังพ้นกำหนด 5 ปีไปแล้วมาเป็นพื้นฐานในการคำนวณความเสียหาย โดยใช้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปีที่ 6 ขั้นต่ำ 7.25% ต่อปีลบอัตราดอกเบี้ยคงที่ 5% ทำให้ธนาคารสูญเสียโอกาสในการหารายได้ไปประมาณ 2-2.25% มาเข้าโปรแกรมคำนวณความเสียหาย แบบลดต้นลดดอกเบี้ย คำนวณเป็นรายเดือน และรายบัญชีเงินกู้ เช่น ลูกค้าชำระหนี้เดือนนี้เข้ามาแล้วเหลือเงินต้นเท่าไหร่ คำนวณความเสียหายเฉพาะต้นเงินกู้คงค้างเท่านั้น โดยทำการคำนวณในรูปแบบนี้ไปถึงครบอายุสัญญาเงินกู้ 7-10 ปี จากนั้นก็จะนำตัวเลขความเสียหายที่เกิดขึ้นทุกบัญชีมารวมกัน สรุปยอดเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด 1,795 ล้านบาทแหล่งข่าวกล่าว

     แหล่งข่าวกล่าวต่อไปอีกว่า ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ให้อำนาจคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดฯ ดำเนินการได้ 2 แนวทาง คือ 1.รวบรวมพยานหลักฐาน สรุปสำนวนส่งให้ธนาคารดำเนินคดีในชั้นศาล ฐานผิดสัญญาว่าจ้าง และ 2. ใช้อำนาจทางการปกครอง เรียกให้นายโสฬสชำระค่าเสียหายได้โดยตรง หรือ บังคับคดีโดยไม่ต้องผ่านหน่วยงานอื่น ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารได้ออกคำสั่งทางการปกครองเรียกให้นายโสฬสมาชดใช้ค่าเสียหาย แต่นายโสฬสไม่ยอมจ่าย และมาใช้สิทธิยื่นคำขออุทธรณ์กับธนาคารตามขั้นตอนของกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งทางธนาคารได้พิจารณาคำขออุทธรณ์แล้ว ยืนยันว่านายโสฬสต้องชดใช้ค่าเสียหาย คาดว่านายโสฬสอาจจะนำผลการพิจารณาคำร้องขออุทธรณ์ไปยื่นศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งทางการปกครองของธนาคาร กรณีใช้อำนาจบังคับให้นายโสฬสชดใช้จ่ายเสียหายต่อไป

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!