- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Tuesday, 20 January 2015 00:14
- Hits: 4401
ออมสิน เผยผลการดำเนินงานปี 2557 กำไรสุทธิ 24,389 ล้านบาท ผอ.ออมสิน คนใหม่ พร้อมนำธนาคารมุ่งสู่ ‘ธนาคารออมสินยุคใหม่ GSB New Era’
ธนาคารออมสิน เผยผลประกอบการปี 2557 มีกำไรสุทธิ 24,389 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายถึง 128% โดยมาจากการขยายตัวของเงินให้สินเชื่อ การติดตามและปรับปรุงคุณภาพหนี้ ส่งผลให้สินเชื่อรวมสุทธิเพิ่มขึ้นกว่า 124,669 ล้านบาท และมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 55,654 ล้านบาท ขณะที่ด้านส่งเสริมการออม มีเงินฝากเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านล้านบาท ด้าน'ชาติชาย พยุหนาวีชัย” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เผยเป้าหมายจากนี้เป็น 'ธนาคารของประชาชน' ส่งเสริมการออม พัฒนาและเสริมสร้างความแข็งแกร่งของประชาชน เศรษฐกิจ และสังคมตั้งแต่ระดับฐานราก ภายใต้แนวทาง 7 ด้าน มุ่งสู่การเป็น'ธนาคารออมสินยุคใหม่ GSB New Era'
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยผลประกอบการธนาคารออมสินปี 2557 (1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2557) ว่า มีกำไรสุทธิหลังหักโบนัสจำนวน 24,389 ล้านบาท สูงกว่าปี 2556 จำนวน 2,480 ล้านบาท และสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งปี 2557 จำนวน 19,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 128.36% ส่วนสำคัญมาจากรายได้ดอกเบี้ยจากการขยายตัวของสินเชื่อ รวมทั้งความสำเร็จในการบริหารสินทรัพย์และหนี้สินอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการติดตามและปรับปรุงคุณภาพหนี้ให้ดีขึ้น โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 ธนาคารฯ มีเงินให้สินเชื่อรวม 1,802,978 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 124,669 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงกว่าแผนงานของธนาคาร ที่ตั้งเป้าหมายไว้ 75,500 ล้านบาท หรือสูงกว่าแผน 165.12% และมีสินทรัพย์รวม 2,261,402 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 84,501 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ นโยบายการให้สินเชื่อของธนาคารฯ ในปี 2557 ยังดำรงสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยต่อสินเชื่อรายใหญ่อยู่ที่ร้อยละ 93 : 7 สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นนั้น มาจากการปล่อยสินเชื่อที่เป็นไปตามนโยบายเพื่อสนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยเฉพาะสินเชื่อแก่กลุ่มเศรษฐกิจฐานราก สินเชื่อกลุ่มลูกค้ารายย่อย สินเชื่อเพื่อธุรกิจSMEs ตลอดจนสินเชื่อแก่หน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ สินเชื่อบุคคลรายย่อย สินเชื่อเคหะ ทำให้ในปี 2557 ธนาคารออมสินยังมีรายได้หลักจากดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งตลอดทั้งปี มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 55,654 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1,747 ล้านบาท สูงกว่าแผนที่ตั้งไว้ 52,260 ล้านบาท หรือ 106.49%
“ในช่วงไตรมาส 4 มีปริมาณความต้องการสินเชื่อของลูกค้าอย่างมากในทุกประเภทสินเชื่อ รวมถึงสินเชื่อตามนโยบายรัฐบาล โครงการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน โครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่สินเชื่อปกติในธุรกิจของธนาคารออมสิน ยังคงนำเสนอผลิตภัณฑ์ เงื่อนไข ที่น่าสนใจและตรงกับความต้องการของลูกค้าต่อเนื่อง”นายชาติชาย กล่าว
ขณะที่ รายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 3,692 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากปีก่อน1,056 ล้านบาท และสูงกว่าแผนงาน ที่ตั้งเป้าหมายไว้ 2,900 ล้านบาท หรือคิดเป็น 127.31% โดยรายได้ด้านนี้ส่วนสำคัญมาจากการบริหารพอร์ตลงทุนที่ได้กำไรและเงินปันผลในระดับที่ดี ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิอยู่ที่ 4,008 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากปีก่อน 267 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากรายได้ค่าธรรมเนียมเงินกู้และค่าธรรมเนียมจากธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์
ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวต่อไปว่า ในปี 2557 มีเหตุการณ์และสถานการณ์หลายปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจ มีผลกระทบทำให้ลูกค้าบางส่วนขาดความสามารถในการชำระหนี้ ธนาคารออมสิน ได้เร่งดำเนินการแก้ไขในช่วงไตรมาสที่ 2 โดยการผ่อนปรนด้วยมาตรการต่างๆ ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อรายย่อยจนถึงระดับ SMEs ด้วยการลดเงินงวดผ่อนชำระเป็นเวลา 6 เดือน มาตรการบรรเทาเหตุแผ่นดินไหว พักชำระหนี้ลูกค้าเดิมไม่เกิน 6 เดือน ลดเงินงวด/ขยายเวลาผ่อนชำระ ช่วยให้ลูกค้าสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างคล่องตัวขึ้น ขณะที่ธนาคารฯ มีการตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญค่อนข้างสูง จากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก
อย่างไรก็ตาม จากการที่ธนาคารฯ มุ่งให้ความสำคัญกับการบริหารสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างรัดกุมและผ่อนปรนตามความเหมาะสม โดยเน้นประสิทธิภาพในทุกกระบวนการตามมาตรการแก้ไขหนี้ สอดคล้องกับปริมาณสินเชื่อ ที่เพิ่มขึ้นอย่างสมดุล ที่ได้ดำเนินการควบคู่กันด้วยการปรับปรุงกระบวนการให้สินเชื่อใหม่อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นการการทำงานอย่างหนักของผู้บริหารและพนักงาน จนทำให้ปริมาณหนี้ด้อยคุณภาพทยอยปรับลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 3 ถึงไตรมาส 4 ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPLs ทยอยปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง จน ณ สิ้นปี 2557 อยู่ที่ 1.37% ของสินเชื่อรวม
ในด้านของการรับฝากเงิน ภายใต้ภารกิจความเป็นสถาบันเพื่อการออมของธนาคารออมสิน ปรากฏว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 มียอดเงินฝากรวม 1,952,504 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 73,079 ล้านบาท ส่วนมากเป็นเงินฝากประจำ 3 เดือน เงินฝากประจำ 12 เดือน เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 11 เดือน รวมถึงผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษเพื่อส่งเสริมการออมในระหว่างปี ได้แก่ ‘เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษเพิ่มสุข’อัตราดอกเบี้ยสูงสุด 5.5% ต่อปี ‘เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 5 เดือน’ อัตราดอกเบี้ยจาก 2.20% ต่อปี’เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 11 เดือนงอัตราดอกเบี้ย 2.65% ต่อปี และ’เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 7 เดือน’อัตราดอกเบี้ย 2.70-2.80% ต่อปี นอกจากนี้ยังมี’สลากออมสินพิเศษ 3 ปี’แคมเปญแจกทองคำมูลค่ารวมกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งจะเปิดรับฝากไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2558
นายชาติชาย กล่าวต่อไปว่า ในปี 2558 ธนาคารฯ จะมุ่งให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนเศรษฐกิจ ฐานรากตามนโยบายของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบของสินเชื่อ Micro SME และ สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาหนี้ครัวเรือน ผ่านสินเชื่อที่ให้วงเงินกู้และเงื่อนที่ผ่อนปรนเหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย โดยเฉพาะกลุ่มรายย่อย พร้อมทั้งการดูแลคุณภาพหนี้เพื่อพัฒนาให้มีศักยภาพเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศต่อไป อีกทั้งภายใต้ภารกิจของธนาคารออมสินในการมุ่งส่งเสริมการออม และสร้างวินัยทางการเงินในภาคประชาชน ตลอดจนการขยายธุรกรรมทางการเงินที่หลากหลายครอบคลุมลูกค้าทุกกลุ่ม พร้อมกับการทำหน้าที่ เป็นแหล่งทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในระดับฐานราก รวมถึงรองรับความต้องการเข้าถึงแหล่งทุนตามนโยบายรัฐบาล
สำหรับ แนวนโยบายการดำเนินงาน ภายหลังเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2558 นายชาติชาย กล่าวว่า จากนี้ไปธนาคารออมสินจะดำเนินภารกิจเพื่อไปสู่การเป็น 'ธนาคารของประชาชน' โดยส่งเสริมการออม พัฒนาและเสริมสร้างความแข็งแกร่งของประชาชน เศรษฐกิจ และสังคมตั้งแต่ระดับฐานราก เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศไทย พร้อมกับ ยกระดับบริการทางการเงินและคุณภาพการให้บริการสู่มาตรฐานสากล ก้าวสู่การเป็น’ผู้นำธนาคารประชาชนแห่งภูมิภาคอาเซียน’โดยกำหนดแนวทางการดำเนินงาน 7 ด้าน ภายใต้แนวคิดมุ่งสู่การเป็น ‘ธนาคารออมสินยุคใหม่ GSB New Era’ดังนี้
1.Customer Centric ปรับโครงสร้างองค์กรและกระบวนการ มุ่งเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) เข้าใจความต้องการของลูกค้า เพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่ม โดยให้เข้าไปสู่จิตวิญญาณของลูกค้า (Human Spirit) สร้างความดึงดูดใจเพื่อให้ประทับใจและใช้บริการของธนาคารออมสินไปนานๆ และมีการบอกต่อให้แพร่หลายในวงกว้างมากขึ้นให้มาใช้บริการกับธนาคารออมสิน
2.Branding & Marketing สร้างแบรนด์ที่มีอายุถึง 102 ปี ให้มีความชัดเจนและทันสมัย อยู่ตลอดเวลา เพื่อดึงกลุ่มลูกค้า Gen Y ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่ธนาคารมีอยู่เป็นจำนวนน้อย พร้อมกับสร้างการรับรู้ – จดจำ และเน้นย้ำแบรนด์ 'ธนาคารออมสิน'ควบคู่กับการส่งเสริมการออม การพัฒนาสังคม ชุมชน และประชาชน ระดับ ฐานรากให้มีความเข้มแข็ง อีกทั้งดำเนินการปรับรูปแบบสาขา บรรยากาศที่สาขา (Look & Feel) ให้ทันสมัย และพัฒนาแผนการสื่อสารการตลาดแบบ 'ผสมผสาน'โดยเฉพาะ สื่อรูปแบบใหม่ๆ อาทิ e-Channel, Social Media, Social Network เป็นต้น
3.Product & Service พัฒนา Product & Solution ที่ตอบสนองความต้องการ พฤติกรรม และ Life Style ที่เฉพาะเจาะจงของลูกค้า มี Product Innovation และ Product Management ที่ดี ปรับโฉมผลิตภัณฑ์ ให้แปลกใหม่และทันสมัย เช่น’MYMO’หรือ Mobile Banking ของธนาคาร มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้าน บัตรอิเล็คทรอนิกส์ ทั้งบัตรเดบิต บัตรกดเงินสด และบัตรเครดิต โดยยกระดับคุณภาพการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการ (Service Quality) ให้ได้มาตรฐานระดับสากล รวมถึงพัฒนาช่องทางให้บริการใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทุกที่ทุกเวลา เช่น Internet Banking, Mobile Banking, e-Chanel เป็นต้น
4.พัฒนาคน ลงทุนด้านการพัฒนาบุคลากร เพื่อสร้างทักษะความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และมุมมองใหม่เพื่อเพิ่มศักยภาพพนักงานมากกว่า 15,000 คน ภายใต้งบประมาณกว่า 400 ล้านบาท ด้วยหลักสูตรเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจ จำนวน 15 หลักสูตร ที่จะเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถบุคลากรให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง (Change Management) ซึ่งจะทำให้พนักงานมีความเป็นมืออาชีพด้านการบริการ (Sale & Service Excellence) พร้อมให้บริการด้วยใจ และสามารถเป็นที่ปรึกษาด้านการเงินได้อย่างมืออาชีพ
5.พัฒนา IT ตอบโจทย์ลูกค้าในยุค Internet และ Smart Device พัฒนาไปสู่ความเป็นดิจิตอล เพื่อให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายในการรับบริการจากธนาคาร เช่น Internet/Mobile Banking, Payment Online พัฒนาระบบฐานข้อมูลลูกค้า เพื่อให้ธนาคารู้จักตัวตนของลูกค้าในแต่ละกลุ่ม (Know you customer) ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์/บริการ และการตัดสินใจ โดยธนาคารออมสินจะต้องมีระบบ IT ที่ทันสมัย เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจแบบลูกค้าเป็นศูนย์กลาง พร้อมทั้งพัฒนาระบบบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ (PCI DSS, ISO 27001)
6.มุ่งเน้นค่าธรรมเนียม มุ่งเน้นการบริการทางการเงินแก่ประชาชน เพื่อให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายในการใช้บริการจากธนาคาร โดยธนาคารออมสินจะเป็น Transactional Banking ผ่านช่องทางที่หลากหลาย ทันสมัย และครอบคลุมทุกพื้นที่
7.การกำกับดูแลและการบริหารความเสี่ยง เพิ่มระดับเงินกองทุนให้ใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์ พร้อมทั้งลดการพึ่งพารายได้ดอกเบี้ย โดยเพิ่มสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ เพื่อให้สามารถรองรับวิกฤติเศรษฐกิจ หรือผลกระทบเชิงลบต่างๆ อีกทั้งต้องบริหารคุณภาพสินทรัพย์และควบคุม NPLs ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งในการบริหารความเสี่ยงด้านสินเชื่อ จะพัฒนากระบวนการและอำนาจอนุมัติสินเชื่อ พัฒนาเครื่องมือการบริหารความเสี่ยง เช่น B-score, Credit Bureau Score และการบริหารความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ (Operation Risk) เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง ท้ายที่สุดคือมุ่งเน้นการกำกับดูแลกิจการที่ดี เป็นองค์กรแห่งธรรมาภิบาล