- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Tuesday, 30 April 2024 00:18
- Hits: 8139
KKP จับมือ Thairath Money จัดงานเสวนา ‘KKP Financial Talk: Money Master #เรื่องเงินอย่าปล่อยให้รู้งี้’ เผยภาพภาระสังคมสูงวัยของไทยใน 5-10 ปีข้างหน้า พร้อมแนะแนวทางบริหารเงินรับมือ
(จากซ้าย) พงศธร ลีลาประชากุล นักวิเคราะห์การลงทุน บล.เกียรตินาคินภัทร, ถนอม เกตุเอม (TaxBugnoms), ณชา อนันต์โชติกุล หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์ KKP Research บล.เกียรตินาคินภัทร, พัทนัย เหลืองตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสำนักสื่อสารองค์กรและการตลาด KKP, วัชร วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม ไทยรัฐทีวี ไทยรัฐออนไลน์, ธนวลัย วัชรพล เจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการ ไทยรัฐออนไลน์, ปุริม รัตนเรืองวัฒนา (ปลื้ม) นักแสดง และ สรวงพิเชฏฐ์ หลายชูไทย CEO บริษัท แพลทคอนซัลแทนท์ จำกัด ในฐานะ IFA บล.เกียรตินาคินภัทร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ร่วมกับ Thairath Money จัดงานสัมมนา KKP Financial Talk: Money Master #เรื่องเงินอย่าปล่อยให้รู้งี้ ฉายภาพภาระสังคมสูงวัยของไทยที่จะเกิดขึ้นใน 5-10 ปีข้างหน้า พร้อมคำแนะนำการบริหารจัดการเงินเพื่อเตรียมรับมือตั้งแต่ความรู้พื้นฐาน ไปจนถึงการใช้เครื่องมือเพื่อสร้างความมั่งคั่งอย่างมั่นคง โดยหวังสนับสนุนความรู้เรื่องการเงินและทักษะการเงินให้กับคนไทย ในการนี้ นางสาวพัทนัย เหลืองตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสำนักสื่อสารองค์กรและการตลาด กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) และ นายวัชร วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทยรัฐทีวี ไทยรัฐออนไลน์ ร่วมเป็นประธานกล่าวเปิดงาน เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ณ เกษร เออร์เบิน รีสอร์ท และไลฟ์สดผ่านช่องทางออนไลน์ของ Kiatnakin Phatra, EDGE Invest, Dime, Thairath และ Thairath Money
นางสาวพัทนัย เหลืองตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสำนักสื่อสารองค์กรและการตลาด กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า ในฐานะสถาบันการเงินที่อยู่คู่สังคมไทยมากว่า 5 ทศวรรษ หนึ่งในสิ่งที่ KKP สามารถเป็นแรงสนับสนุนสังคมได้อย่างมีความหมายก็คือการนำเอาองค์ความรู้ทางด้านการเงินการลงทุนที่เป็นหัวใจของธุรกิจมาสร้างทักษะทางการเงินให้แก่ผู้คน นี่คือที่มาของการจัดโครงการส่งเสริมวินัยการเงินในรูปแบบต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องนับสิบปี จนล่าสุดเกิดเป็นแคมเปญส่งเสริมความรู้ทางการเงิน #เรื่องเงินอย่าปล่อยให้รู้งี้ ที่ KKP ร่วมมือกับสื่อหลักของสังคมไทยที่เข้มแข็งในด้านการสื่อสารอย่าง Thairath Money เพื่อนำเสนอเนื้อหาและกิจกรรมให้คนไทยมีความเข้าใจถึงความสำคัญของการวางแผนการเงิน ที่จะนำไปสู่ความมั่นคงของตนเองและครอบครัว ตลอดจนอาจต่อยอดไปสู่ความมั่งคั่ง อิสรภาพทางการเงิน และการบรรลุเป้าหมายอื่นๆ ในชีวิต
ด้านนายวัชร วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม ไทยรัฐทีวี ไทยรัฐออนไลน์ กล่าวว่า ด้วยบทบาทหน้าที่ของสื่อ เรามุ่งหวังเป็นศูนย์รวมข้อมูล ความรู้ แรงบันดาลใจให้คนหันมาสนใจเรื่องการเงินมากขึ้น เป็นพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ หรือแม้กระทั่งทำหน้าที่เป็นสื่อกลางเชื่อมโยงระหว่างผู้ชมผู้อ่านกับสถาบันการเงิน เพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องของการเข้าถึงความรู้และบริการทางการเงินได้ง่ายยิ่งขึ้น การร่วมงานกับ KKP ในครั้งนี้ เป็นการหลอมรวมความเชี่ยวชาญด้านการสื่อสารของไทยรัฐ กับความเชี่ยวชาญทางการเงินของ KKP สร้างทักษะทางการเงินและภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งให้กับคนไทย ทำให้การเงินดีและชีวิตดีเป็นเรื่องที่เป็นไปได้สำหรับทุกคน
ภายในงาน มีการเสวนาหัวข้อ “Sandwich Generation : เดอะแบกต้องรอด” โดยดร.ณชา อนันต์โชติกุล หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์ KKP Research กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ถึงสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยว่าประชากรไทยวัย 40-50 ปี ปัจจุบันมีอยู่ 10 ล้านคน หรือคิดเป็น 15% ของประชากรไทย และกลุ่มคนที่อายุ 35-55 ปี ก็มีอยู่ประมาณ 20 ล้านคน หรือคิดเป็น 30% ของประชากร ดังนั้นในอีก 5 – 10 ปีข้างหน้า เมื่อรวมคนเตรียมเกษียณกับคนที่เกษียณแล้วจะกลายเป็นกว่า 40% ของทั้งประเทศ สะท้อนโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงวัย ปัญหาสังคมสูงวัยคือ ขนาดเศรษฐกิจจะเล็กลง (คนกินคนใช้น้อยลง) จำนวนแรงงานลดลง สร้างภาระทางการคลังมากขึ้น ในภาวะเช่นนี้ ‘เดอะแบก’ หรือประชากรกลุ่มที่กำลังมีลูกเล็กและพ่อแม่เริ่มแก่ชรา จะเหนื่อยขึ้นกับภาระที่ต้องรับผิดชอบ แม้กระทั่งกลุ่มคนเดอะแบกที่ไม่มีลูก ก็ไม่ได้อยู่ในสถานะลอยตัวจากปัญหา เพราะหากไม่วางแผนทางการเงิน หรือขาดวินัยในการออม ก็มีโอกาสเกิดเหตุฉุกเฉิน หรือเหตุให้ต้องใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นปัญหาสำคัญได้โดยเฉพาะในยามเกษียณที่รายได้ที่เป็น active income หมดสิ้นลง
“คนรายได้มาก รายได้น้อย จะรวยจะจน สุดท้ายวัดกันที่ ‘อัตราการออม’ มากกว่า รายได้เยอะกว่าใช่ว่าสุดท้ายจะมีความมั่งคั่งมากกว่า ถ้าไม่รู้จักบริหารการใช้จ่าย แต่ถึงเงินเก็บจะยังน้อย ก็เริ่มออมและลงทุนได้ เวลาที่ดีที่สุดที่จะเริ่มต้นลงทุน คือตอนนี้ หรือจริงๆ อาจจะเมื่อวาน เพราะยิ่งเริ่มเร็ว ยิ่งได้เปรียบ ด้วยพลังของดอกเบี้ยทบต้น ที่เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่ลงทุน ยังเป็นการเริ่มสร้างวินัยในการเก็บออม เป็นการเก็บไมล์สะสมประสบการณ์ สะสมความรู้ เมื่อถึงจุดที่เรามีเงินมาก เราก็ได้ประสบการณ์การลงทุนพร้อมที่จะตัดสินใจทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การสร้างความมั่งคั่งสามารถเริ่มได้แม้จะมีเงินเก็บน้อย ผ่านการตัดสินใจทางการเงินและการลงทุนที่ถูกต้องเหมาะสม หากรอให้รวยก่อนค่อยลงทุน คือ คุณเริ่มช้ากว่าคนอื่น พลาดโอกาสไปมากกว่าคนอื่นแล้ว
ความรู้พื้นฐานทางการเงินนับเป็น ‘ทักษะชีวิต’ (Life skill) ที่สำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพื้นฐานง่ายๆ อย่างการจดรายรับรายจ่าย การออมเงิน ไปจนถึงการวางแผนภาษี การลงทุนเพื่อความงอกเงย การบริหารจัดการหนี้ การบริหารความเสี่ยงเพื่อปกป้องความมั่งคั่ง และการรู้จักป้องกันตัวเองจากภัยทางการเงินรูปแบบต่างๆ ความรู้เหล่านี้เปลี่ยนชีวิตได้ จะไม่ทำให้เราเสียดาย ต้องมานั่งคิดว่ารู้งี้เรียนรู้ตั้งนานแล้ว” ดร.ณชา กล่าว
นายถนอม เกตุเอม หรือ TaxBugnoms เจ้าของเพจให้คำแนะนำการวางแผนภาษีจัดการภาษี ได้เล่าประสบการณ์ของตนเองและสิ่งที่ได้เรียนรู้มาจาก “ภาวะเดอะแบก” ของตนเองที่ต้องจ่ายค่าเทอมลูก และค่ารักษาพยาบาลพ่อแม่
“หลักสำคัญคือการวางแผนชีวิต วางแผนการเงิน โดยจากการทำเพจ influencer ด้านการเงินพบว่าคนไทยสนใจเรื่องเงินมากขึ้น แต่มี 2 ปัญหาใหญ่คือ คนพยายามหาวิธีการที่ง่ายและเร็ว ซึ่งไม่มี และอีกปัญหาคือคนไม่เข้าใจว่าตัวเองต้องการอะไรและมีเป้าหมายการเงินอย่างไร สำหรับคำแนะนำคือการเริ่มต้นจากการสร้างสภาพคล่องของตัวเองในแต่ละเดือนซึ่งเป็นพื้นฐานการเริ่มต้นที่ง่ายที่สุด เช็กตัวเองว่ามีเป้าหมายการเงินอย่างไร และจะต้องเตรียมเงินเท่าไหร่หรือเตรียมอย่างไร ตลอดจนการควบคุมสิ่งที่ควบคุมได้เช่น วินัยทางการเงิน การรักษาสภาพคล่อง การเก็บเงินตามเป้าหมาย และทำความเข้าใจสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ บางเรื่องอาจจะบรรเทาได้ด้วยการป้องกันความเสี่ยงเช่นทำประกัน แต่บางครั้งก็อาจจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น โรคระบาด สถานการณ์เศรษฐกิจ ต้องทำความเข้าใจและเตรียมรับมือให้ดีที่สุด” นายถนอมกล่าว
ด้านนายปุริม รัตนเรืองวัฒนา (ปลื้ม) นักแสดง คนรุ่นใหม่ Gen Z ที่มีมุมมองการจัดการวางแผนการเงิน กล่าวว่า เดอะแบกในวัยของเขาน่าจะแบ่งได้ 4 ประเภท กลุ่มแรก แบกเศรษฐกิจ แม้อายุ 20 ต้นๆ แต่การทำมาหากินไม่ง่าย การลงทุนก็ยากขึ้นในภาวะเศรษฐกิจโตช้า กลุ่มที่ 2 แบกภาระหนี้สินจากรุ่นพ่อแม่ การบริหารจัดการเงินของคนกลุ่มนี้จึงต้องกันรายได้ที่มีไปช่วยแบ่งเบาภาระนั้น กลุ่มที่ 3 แบกรายจ่ายสุขภาพพ่อแม่ที่มีลูกช้า คนเป็นลูกจึงต้องมีเงินพอจะดูแลเรื่องสุขภาพของพ่อแม่ และกลุ่มที่ 4 แบกญาติพี่น้องของรุ่นพ่อแม่ นี่คือเดอะแบกเจเนอเรชั่นที่เคยพบและมาปรึกษาเรื่องการวางแผนการเงิน
“ดังนั้นเดอะแบกในนิยามของผม จึงเป็นเรื่องที่หมายถึง รายรับของคนๆ หนึ่ง ถูกแบ่งออกไปเป็นรายจ่ายของใครอีกหลายคน และเราต้องสร้างสุขภาพการเงินของตัวเองให้ไว รู้ให้ไว เริ่มให้เร็ว และมีวินัย เหมือนกับสร้างสุขภาพร่างกาย” นายปุริมกล่าว
นอกจากนี้ ภายในงานสัมมนายังมีช่วงทอล์กโดยผู้เชี่ยวชาญของ KKP ในหัวข้อ “Money Plan : เรื่องเงินต้องวางแผน” และ “Trading Idea และการจัดพอร์ตยุคโลกรวน” รวมถึงมีเวิร์คชอปให้ผู้เข้าร่วมงานได้ทดลองลงมือทำกิจกรรมเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการวางแผนการเงินการลงทุนที่มีประสิทธิภาพหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ “การเงิน 101” โดย KKP FinLit ที่มาให้คำแนะนำดีๆ ในการบริหารจัดการการเงินเบื้องต้น การออมเผื่อฉุกเฉิน การจัดการเรื่องสินเชื่อและหนี้สินต่างๆ “ลงทุนปังๆ” โดย KKP Dime ที่มีเรื่องราวของการลงทุนมาแนะนำ การตั้งเป้าหมายการลงทุน ตลอดจนการใช้เครื่องมือการลงทุนแบบสมัยใหม่ และ “สูตรการเงินเพื่ออนาคต” โดย EDGE by KKP สำหรับผู้มองการณ์ไกล อยากมีเงินล้านแรก ตลอดจนเรียนรู้การวางแผนภาษี การเตรียมการเกษียณ และการใช้เครื่องมือการลงทุนสำหรับสร้างอิสรภาพทางการเงินและความมั่งคั่งอย่างมั่นคง
4903