- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Sunday, 09 April 2023 19:36
- Hits: 1704
ธ.ก.ส. เร่งพัฒนาเทคโนโลยี สร้างฐานข้อมูลภาคการเกษตร ตอบโจทย์ความต้องการทั้งด้านการผลิต การตลาด
ธ.ก.ส. นำเทคโนโลยีผนวกข้อมูลเกษตรกรลูกค้าที่มีอยู่ทั่วประเทศ สร้างฐานการผลิตสินค้าเกษตร เพื่อใช้บริหารจัดการด้านการผลิต การตลาด การสร้างมูลค่าเพิ่ม ลดการเกิดภาวะสินค้าเกษตรล้นตลาดและป้องกันราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ช่วยให้เกษตรกรสามารถกำหนดแผนการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด หนุนการทำงานร่วมกับเครือข่ายด้านการเกษตรตลอดทั้งห่วงโซ่ เพื่อต่อยอดการพัฒนาทั้งปริมาณผลผลิตและมาตรฐานสินค้าเกษตร ภายใต้หลัก BCG การสร้าง Platform เชื่อมโยงธุรกิจภาคการเกษตร รองรับการเติบโตในกลุ่มที่มีศักยภาพ เช่น Smart Farmer, SMAEs พร้อมเติมทุนในทุกมิติเพื่อสนับสนุนการเติบโต
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่พบเกษตรกรลูกค้าผู้ปลูกดอกดาวเรือง และเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอม การทำมะพร้าวบอนไซ ซึ่งเป็นสินค้าตกแต่ง และการเลี้ยงไส้เดือน เพื่อนำมูลมาใช้เป็นปุ๋ยภายในสวน ช่วยลดต้นทุนการผลิตและสร้างรายได้เสริมในพื้นที่จังหวัดราชบุรีว่า การประกอบอาชีพของเกษตรกรลูกค้าดังกล่าว เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า ธ.ก.ส. ยังมีข้อมูลเกษตรกรรวมไปถึงกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร ทั่วประเทศกว่า 5 ล้านครัวเรือน ซึ่งเป็นฐานข้อมูล (Database) สำคัญของภาคการเกษตร และเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการข้อมูล จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้รู้ว่าสินค้าเกษตรชนิดนี้ ใครผลิต อยู่ที่ไหน มีปริมาณเท่าไร ผลผลิตมีมากหรือน้อยในช่วงไหน เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การบริหารจัดการ การวางแผนทั้งด้านการผลิต การตลาด รวมถึงการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวม การทำ packaging การแปรรูป การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีมูลค่าสูง เป็นต้น ซึ่งประโยชน์จากฐานข้อมูล จะทำให้เกษตรกร สามารถบริหารจัดการการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคต่างๆ ในตลาด ลดปัญหาการเกิดภาวะสินค้าเกษตรล้นตลาด ช่วยให้เกษตรกรสามารถกำหนดปริมาณและราคาสินค้าได้อย่างเหมาะสม และป้องกันราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ
นอกจากนี้ ในการพัฒนายังจำเป็นต้องเชื่อมโยงองค์ความรู้ใหม่ๆ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดย ธ.ก.ส. จะทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาและเครือข่ายด้านการเกษตรตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า เพื่อต่อยอดการพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร SMAEs Agri Tech และ Startup โดยอาศัยทักษะของกลุ่มคนที่ความเชี่ยวชาญใน ด้านการผลิต การออกแบบ การแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม การทำการตลาดแบบ Digital การทำธุรกิจแบบ Mutualism รวมถึงการสร้าง Platform เชื่อมโยงธุรกิจภาคการเกษตร ร่วมกับพันธมิตรรองรับการเติบโตใหม่ (New Business) ในกลุ่มที่มีศักยภาพ เช่น Young Smart Farmer,Smart Farmer, SMAEs เป็นต้น
นายฉัตรชัยกล่าวต่อไปว่า การขับเคลื่อนกระบวนการผลิตทางการเกษตร ธ.ก.ส. มุ่งเน้นดำเนินการภายใต้หลัก BCG เพื่อสร้างความยั่งยืน ทั้งด้านการผลิตและการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยพร้อมที่สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการทางการเงินอย่างครบวงจรด้วยต้นทุนที่ต่ำและบริการที่สะดวกรวดเร็ว ควบคู่ไปกับการส่งเสริมวินัยทางการเงินอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ยังเตรียมความพร้อมให้เกษตรกรเกษียณอายุอย่างมีคุณภาพ ด้วยแนวทางสร้างกองทุนเงินเกษียณอายุ (Pension Fund) เป็นต้น
ทั้งนี้ นายปรีชา เล็นวารีย์ เกษตรกรผู้ปลูกดอกดาวเรือง ตำบลท่าชุมพล อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เดิมปลูกพืชผักสวนครัว เช่น มะระ มะเขือ แตงกว่า และผักบุ้ง ส่งจำหน่ายตลาดริมเขื่อนโพธาราม ต่อมาปรับเปลี่ยนการผลิตมาปลูกดอกดาวเรือง พันธุ์คองโก้สลับกับพืชผักสวนครัว บนพื้นที่ 8 ไร่ ซึ่งดอกดาวเรืองจะมีระยะเวลาการปลูก ประมาณ 50 วัน จึงจะสามารถเก็บผลผลิต โดยนำดอกมาคัดไซส์ และส่งจำหน่ายไปยังตลาด โดยในช่วงที่มีการหาเสียงและเทศกาลเชงเม้ง ความต้องการดอกดาวเรืองในตลาดเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้ราคาขายพุ่งสูงขึ้นเป็น ดอกละ 1.30 - 2 บาท จากปกติดอกละ 0.3 – 0.50 บาท โดยมียอดขายดอกดาวเรืองสูงถึงวันละ 3,000 - 5,000 ดอก และคาดว่าราคาดอกดาวเรืองจะปรับสูงขึ้นต่อเนื่องจนถึงเทศกาลสงกรานต์ที่ผู้คนต้องการนำดอกไม้ไปใช้ในประเพณีและกิจกรรมต่างๆ
สำหรับสวนมะพร้าวน้ำหอม ตำบลบ้านไร่ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ของนายณรงค์ พูลขวัญ ซึ่งเป็นผลไม้ที่เป็นที่นิยมบริโภคของนักท่องเที่ยว โดยในช่วงที่ปุ๋ยเคมีราคาค่อนข้างสูง ได้คิดและพัฒนาการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากมูลไส้เดือนมาใช้ภายในสวน รวมถึงส่งขายภายใต้แบรนด์ “บ้านไร่ฟาร์มไส้เดือน” ซึ่งนอกจากช่วยลดต้นทุนการผลิตแล้ว ยังเพิ่มคุณภาพผลผลิต ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และสร้างรายได้เสริม สอดคล้องตามหลัก BCG Model ที่ ธ.ก.ส. มุ่งสนับสนุนอีกด้วย และในส่วนของมะพร้าวบอนไซ ของนายชำนาญ เปลี่ยนศรี เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการนำผลผลิตมะพร้าวที่ถูกทิ้งภายในสวน มาต่อยอดเป็นของประดับตกแต่งที่ให้ความรู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติ จึงเป็นที่สนใจของตลาด ไม้ดอกไม้ประดับ เพราะมีความสวยงาม คงทน โดยสามารถจำหน่ายได้ในราคาเฉลี่ยต้นละ 500 - 700 บาทต่อต้น
A4311