- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Wednesday, 30 November 2022 21:42
- Hits: 2070
ธ.ก.ส. ร่วมธนาคารเกษตรจีน พัฒนาศักยภาพเกษตรกรทั้งการผลิตและการตลาด พร้อมดึงเอกชนจากประเทศจีน ร่วมเจรจาการค้ากับสถาบันเกษตรกรในการเชื่อมโยงการส่งออกข้าวและมันสำปะหลังจากเกษตรกรผู้ผลิตไปยังตลาดต่างประเทศโดยตรง
เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 นายเสกสรรค์ จันทร์ขวาง รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นประธานการประชุม Business Matching for BAAC and ADBC Clients ระหว่างธนาคารเพื่อการพัฒนาการเกษตรแห่งประเทศจีน (Agricultural Development Bank of China : ADBC) นำโดย Mr. Zhu yuan yang ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ADBC และคณะ กับ สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. ร้อยเอ็ด จำกัด สหกรณ์การเกษตรเมืองร้อยเอ็ด จำกัด ผู้ประกอบกิจการรวบรวมข้าว สีข้าว จัดจำหน่ายและรับทำ OEM และ สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. กำแพงเพชร จำกัด ผู้ประกอบกิจการรับซื้อมันสำปะหลังสดและแปรรูปเป็นมันเส้นเพื่อจำหน่าย โดยสถาบันเกษตรกรทั้ง 2 แห่ง ถือเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองคุณภาพการผลิตตามมาตรฐานสากล และมีศักยภาพในการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก โดยประชุมเจรจาผ่านระบบ VDO Conference
การจัดประชุมเจรจาทางการค้าครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ลูกค้าของ ธ.ก.ส. สามารถขยายขอบเขตการทำธุรกิจจากในประเทศเติบโตสู่ธุรกิจระหว่างประเทศ และเชื่อมโยงให้ลูกค้าของธนาคาร ADBC สามารถเข้าถึงแหล่งผลิตและวัตถุดิบสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสมจากผู้ผลิตต้นน้ำโดยตรง โดยบริษัทที่ร่วมเจรจา ประกอบด้วย 1) บจก.เซียะเหมิน ฮุยเฟิง อินดัสเทรียล 2) บจก.กวงซี จินหยวน ไบโอเคมีคอล อินดัสทรี 3) บจก.จินยี่เหมิง กรุ๊ป 4) บจก.เจียงซี ไรซ์ อินดัสทรี 5) บจก. ซูโจว ว่านเซิน นู้ดเดิล โปรดักซ์ ซึ่งทั้งหมดเป็นลูกค้าที่ธนาคาร ADBC ให้การสนับสนุน ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าจะเป็นคู่ค้าที่มีศักยภาพในด้านของเงินทุนและกำลังซื้อ โดยในส่วนของ ธ.ก.ส. จะอำนวยความสะดวกในการคัดกรองผู้ส่งออกที่มีความสามารถในการผลิตและส่งสินค้าที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน และดูแลในการชำระเงินระหว่างประเทศให้แก่ลูกค้าทั้งสองธนาคาร การประชุมครั้งนี้จึงเป็นความร่วมมือเบื้องต้นเพื่อขยายผล รวมไปถึงตลาดผลิตผลหลักทางการเกษตรประเภทอื่นๆ ของลูกค้า ธ.ก.ส. ต่อไป
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. และ ADBC ได้ลงนามความร่วมมือในการพัฒนาด้านต่างๆ มาตั้งแต่ปี 2548 ไม่ว่าจะเป็นการอบรมพัฒนาและเสริมสร้างประสิทธิภาพของบุคลากร การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความเชี่ยวชาญในบริบทของการพัฒนาธุรกิจรายย่อยและขนาดกลาง ต่อยอดมาถึงการพัฒนาลูกค้า ในด้านการส่งเสริมการผลิต โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าผลผลิต รวมถึงการเชื่อมโยงด้านการตลาดระหว่างลูกค้าของทั้ง 2 ธนาคาร ซึ่งนอกจากสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าแล้ว ยังสร้างโอกาสในด้านธุรกิจและการค้าระหว่างประเทศอีกด้วย