- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Wednesday, 26 November 2014 20:03
- Hits: 2956
ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เดินหน้าปล่อยกู้โครงการพลังงานทดแทน ปั้นพอร์ตรวมกว่า 6,000 ล้านบาทแล้ว เผยมีลูกค้าจ่อกู้อีก 2 พันล้านบาท
ล่าสุดสนับสนุนสินเชื่อวงเงินกว่า 450 ล้านบาท ให้แก่บริษัท สุรินทร์ ไบโอ เพาเวอร์ จำกัด เดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าแห่งที่ 11 ของจังหวัดสุรินทร์
นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ธนาคารให้ความสำคัญกับการปล่อยกู้โครงการที่เกี่ยวกับพลังงานมาโดยตลอด โดยเฉพาะพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งในประเทศไทยมีผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและมีโครงการด้านพลังงานทดแทนจำนวนมาก โดยล่าสุด ธนาคารได้สนับสนุนสินเชื่อวงเงินกว่า 450 ล้านบาท ให้แก่ บริษัท สุรินทร์ ไบโอ เพาเวอร์ จำกัด ผู้ประกอบกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวล มีวัตถุประสงค์เพื่อก่อสร้างโรงผลิตกระแสไฟฟ้าชีวมวล ที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อจำหน่ายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
“ธนาคารมองว่า บริษัท สุรินทร์ ไบโอ เพาเวอร์ มีศักยภาพมาก ด้วยทีมงานที่มีดี มีความเชี่ยวชาญ และมีเจ้าหน้าที่ด้านต่างๆที่ต่างก็มีประสบการณ์เกี่ยวกับโรงไฟฟ้า จึงเชื่อมั่นว่าลูกค้าจะดำเนินโครงการให้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และขณะนี้ ธนาคารอยู่ระหว่างพิจารณาแผนธุรกิจของลูกค้าที่กำลังทำโครงการพลังงานทดแทนอีกหลายราย คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 2,000 ล้านบาท” นายสุภัค กล่าวว่า
ปัจจุบัน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยได้ให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก หรือ Very Small Power Plant (VSPP) ซึ่งเป็นโครงการพลังงานทดแทนทุกประเภท อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพโครงการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์มีวงเงินปล่อยกู้รวมกว่า 6,000 ล้านบาทแล้ว
นางเตียว รุ่งวิจิตรกุล กรรมการ บริษัท สุรินทร์ ไบโอ เพาเวอร์ จำกัด เปิดเผยว่าโรงผลิตกระแสไฟฟ้าชีวมวลที่กำลังจะก่อสร้างในจังหวัดสุรินทร์นั้น จะมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 9.9 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะเป็นโรงไฟฟ้าแห่งที่ 11 ของจังหวัดสุรินทร์ โดยโรงไฟฟ้าที่มีในปัจจุบันของจังหวัดสุรินทร์ แบ่งเป็นเชื้อเพลิงแกลบ 2 โรง และโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ อีก 8 รายการ
“สาเหตุที่บริษัทเลือกขอสินเชื่อกับ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เพราะเป็นธนาคารที่มีนโยบายสนับสนุนพัฒนาด้านพลังงานทดแทนรวมทั้งมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านพลังงานทดแทน ที่สำคัญคือ เข้าหาแหล่งทุนได้สะดวกกลุ่มบริษัท สุรินทร์ ไบโอ เพาเวอร์มีแผนจะพัฒนาโครงการด้านพลังงานทดแทนต่อไป ไม่ว่าจะเป็น Solar Farm หรือ โรงไฟฟ้าชีวมวล และมีเป้าหมายทางกลุ่มจะพัฒนาโรงไฟฟ้าให้เป็นโรงไฟฟ้าชุมชน ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม และจะเข้าการบริหาร ISO 14000 ต่อไป” นางเตียว กล่าว
นางเตียว กล่าวว่า ธุรกิจด้านพลังงานเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจเมื่อเปิด AEC ในปี 2558และประเทศไทยจะต้องมีการขยายการลงทุนการค้าเพิ่มมากขึ้น ปริมาณการใช้ไฟฟ้าจะต้องเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งทำให้ กลุ่มสุรินทร์ฯ ลงทุนและขยายธุรกิจด้านพลังงานทดแทนเพื่อตอบสนองความเจริญทางด้านการค้าดังกล่าว
อนึ่ง โรงไฟฟ้าชีวมวล เป็นโรงงานอุตสาหกรรมสีขาว ที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากใช้เชื้อเพลิง จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเช่น แกลบ เศษไม้-ปลายไม้เหง้ามันสำปะหลัง ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน
ขณะเดียวกัน ยังมีข้อดีที่ช่วยให้เกษตรกรภายในพื้นที่ มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนวัสดุเหลือทิ้งในการทำการเกษตร เช่น เศษไม้-ปลายไม้ เหง้ามันสำปะหลัง ฟางข้าว ให้กลายเป็นสินค้านำมาซึ่งรายได้และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจชุมชนโดยตรง นอกจากนี้ ท้องถิ่นจะได้รับผลประโยชน์ทางด้านภาษี นำมาซึ่งการพัฒนาท้องถิ่น และชุมชนจะได้การดูแลจากกองทุนรอบโรงไฟฟ้า ตามพรบ.ประกอบธุรกิจพลังงานอีกด้วย
ปัจจุบัน บริษัท สุรินทร์ ไบโอ เพาเวอร์ มีโรงไฟฟ้าด้านพลังงานทดแทน 2 ประเภท ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 1 เมกะวัตต์ จำนวน 2 โรงงาน รวม 2 เมกะวัตต์ ผลิตเพื่อจำหน่ายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 9.5 เมกะวัตต์ ที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยจะจำหน่ายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ 8 เมกะวัตต์
นายสุภัค ศิวะรักษ์ (ที่ 4 จากซ้าย) กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และคณะผู้บริหารธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) และนางเตียว รุ่งวิจิตรกุล (ที่ 5 จากซ้าย) กรรมการ บริษัท สุรินทร์ ไบโอ เพาเวอร์ จำกัด และคณะผู้บริหาร ผู้ประกอบกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวล ร่วมลงนามในสัญญาสนับสนุนสินเชื่อวงเงินกว่า 450 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างโรงผลิตกระแสไฟฟ้าชีวมวล ที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 9.9 เมกะวัตต์ พิธีลงนามจัดขึ้นที่ทอแสง โขงเจียม รีสอร์ท จ.อุบลราชธานี เมื่อเร็วๆนี้