- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Sunday, 07 March 2021 23:00
- Hits: 16693
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร ‘บ.แอล เอช ไฟแนนเชียล กรุ๊ป’ ที่ ‘BBB+’ แนวโน้ม ‘Stable’
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท แอล เอช ไฟแนนเชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ
BBB+’ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทโฮลดิ้งของกลุ่มแอล เอช ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (หรือเรียกว่า กลุ่มการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์) ซึ่งมีบริษัทลูกรายสำคัญหลายแห่ง ได้แก่ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทอื่นๆ ที่ดำเนินธุรกิจบริหารจัดการกองทุนและธุรกิจซื้อขายหลักทรัพย์
อันดับเครดิตของบริษัทถูกลดทอนลงจากอันดับเครดิตของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ 1 ขั้นจากการด้อยสิทธิในเชิงโครงสร้างเนื่องจากบริษัทต้องพึ่งพาเงินปันผลจากธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เป็นหลัก นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่บริษัทจะได้รับการจ่ายเงินปันผลจากธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ อันเนื่องมาจากกฎระเบียบที่ธนาคารต้องปฎิบัติตามในภาวะวิกฤติอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
มีสถานะเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่มีการดำเนินกิจการของกลุ่มธุรกิจการเงิน (NOHC)
การประเมินบริษัท แอล เอช ไฟแนนเชี่ยล กรุ๊ป ของทริสเรทติ้งสะท้อนถึงสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่มีการดำเนินกิจการของกลุ่มบริษัทที่ให้บริการทางการเงิน (Non-operating Financial Holding Company -NOHC) รวมทั้งยังเป็นบริษัทแม่ของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (อันดับเครดิต ‘A-/Stable’) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ด้วย ในการนี้ อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยหลักของกลุ่มอยู่ 1 ขั้นซึ่งสะท้อนถึงการด้อยสิทธิในเชิงโครงสร้างในสิทธิเรียกร้องของบริษัทที่มีต่อสินทรัพย์ต่างๆ ของธนาคาร ในฐานะที่เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่มีการดำเนินกิจการของกลุ่มบริษัทที่ให้บริการทางการเงิน บริษัทต้องพึ่งพารายได้เงินปันผลจากธนาคารเพื่อการชำระหนี้ค่อนข้างสูง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงในการได้รับการจ่ายเงินปันผลจากธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ อันเนื่องมาจากกฎระเบียบที่ธนาคารต้องปฏิบัติตามในภาวะวิกฤติด้วย
สินทรัพย์ของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีสัดส่วนคิดเป็น 96.3% ของสินทรัพย์รวมของบริษัท ณ สิ้นปี 2563 และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 ธุรกิจธนาคารเป็นธุรกิจหลักที่สร้างกำไรให้แก่กลุ่มการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 56.1% ของกำไรสุทธิก่อนรายการตัดบัญชีระหว่างกัน ตามมาด้วยธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (6.5%) และธุรกิจบริหารจัดการกองทุน (3.9%) นอกจากนี้ กำไรสุทธิของกลุ่มยังมาจากรายได้เงินปันผลจากการลงทุนที่ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนระยะยาวในหน่วยลงทุนประเภททรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust - REIT) ซึ่งในอดีตสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงด้วย ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 กำไรจากกิจกรรมการลงทุนของกลุ่มมีสัดส่วนคิดเป็น 33.5% ของกำไรสุทธิซึ่งเท่ากับระดับในปีก่อนหน้า
ธุรกิจมีขนาดเล็ก
ทริสเรทติ้ง ยังคงมองว่าขนาดของแต่ละธุรกิจของบริษัทเป็นจุดอ่อนสำคัญต่ออันดับเครดิต โดยธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 1.2% สำหรับสินเชื่อและ 1.3% สำหรับเงินฝากเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยอื่น ๆ ณ สิ้นปี 2563 ในขณะที่ส่วนแบ่งรายได้นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของ บล. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซึ่งอยู่ที่ 0.7% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 นั้นสะท้อนให้เห็นถึงฐานลูกค้าที่มีขนาดเล็ก นอกจากนี้ ส่วนแบ่งทางการตลาดของสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการของ บลจ. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ก็มีขนาดเล็กที่ประมาณ 1.0% ณ สิ้นปี 2563 เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งยังคำนึงถึงการผนึกกำลังทางธุรกิจระหว่างกันภายในกลุ่มในระดับที่สูงขึ้นและการเพิ่มความร่วมมือทางธุรกิจกับพันธมิตรเชิงกลยุทธ์คือ CTBC Bank Co., Ltd. (CTBC Bank) ด้วย ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มมีปริมาณการให้บริการการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance Service) ซึ่งใช้จุดแข็งของบริการและเครือข่ายของ CTBC Bank เพิ่มขึ้นถึงกว่า 2 เท่าในปี 2563 ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าสิ่งเหล่านี้จะค่อย ๆ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มและขยายธุรกิจของกลุ่มในระยะยาว นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่แสดงให้เห็นถึงการส่งต่อลูกค้าให้แก่กันระหว่างธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ บล. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และ บลจ. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ อีกด้วย ซึ่งทริสเรทติ้งคาดหวังว่าความร่วมมือดังกล่าวจะค่อย ๆ เข้มแข็งยิ่งขึ้นในระยะยาว
เงินกองทุนมีความแข็งแกร่ง
สถานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งยังเป็นจุดแข็งสำคัญต่ออันดับเครดิตของบริษัท โดยในการประเมินสถานะเงินกองทุนของบริษัทนั้น ทริสเรทติ้งพิจารณารวมไปถึงปัจจัยชี้วัดด้านเงินกองทุนของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เนื่องจากธนาคารเป็นหน่วยที่ดำเนินงานหลักของกลุ่ม โดยทริสเรทติ้งประเมินว่าสถานะเงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งมากเมื่อพิจารณาจากอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Common Equity Tier-1 -- CET-1) ที่เป็นส่วนของเจ้าของของธนาคารซึ่งอยู่ที่ระดับ 17.1% ณ สิ้นปี 2563 โดยเป็นอัตราสูงที่สุดเป็นอันดับสองของธนาคารพาณิชย์ไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้ง ก็มองว่าคุณภาพเงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับสูงเนื่องจากส่วนใหญ่ประกอบด้วย Core Equity ถึง 86.2% ของเงินกองทุนทั้งหมด ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยที่ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิต ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าจุดแข็งดังกล่าวนี้จะยังคงอยู่ต่อไปในอีก 3 ปีข้างหน้าโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราการทำกำไรที่อยู่ในระดับปานกลางของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์
ทริสเรทติ้ง ประเมินว่า อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จะอยู่ที่ระดับสูงเกินกว่า 17.1% ในช่วง 2 ปีข้างหน้า โดยการประมาณการของทริสเรทติ้งมาจากสมมติฐานที่ว่าธนาคารจะมีการเติบโตของสินเชื่อในระดับปานกลางที่ประมาณ 3.0% และจะมีอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ระดับประมาณ 50.0% ในช่วง 2 ปีข้างหน้า
การก่อหนี้ที่บริษัทโฮลดิ้งอยู่ในระดับต่ำ
ทริสเรทติ้ง คาดว่า บริษัทจะสามารถรักษาระดับการก่อหนี้ที่ระดับต่ำเอาไว้ได้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าเมื่อพิจารณาจากงบการเงินเฉพาะของบริษัท โดยจากข้อมูล ณ สิ้นปี 2563 บริษัทมีตราสารหนี้ที่จะครบกำหนดชำระภายในปี 2564 จำนวน 4.1 พันล้านบาท เมื่อพิจารณาในส่วนของงบการเงินเฉพาะของบริษัทแล้ว ทั้งบริษัทและบริษัทย่อยได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนและสภาพคล่องจากธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ในรูปของวงเงินสินเชื่อ ดังนั้น สถานะเงินทุนของบริษัทเมื่อพิจารณาในส่วนของงบการเงินรวมแล้วจะสะท้อนสถานะเงินทุนของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เป็นหลัก
สถานะสภาพคล่องมีเพียงพอ
ทริสเรทติ้ง ประเมินว่า บริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอสำหรับระยะ 12 เดือนข้างหน้าเนื่องจากบริษัทมีพอร์ตเงินลงทุนที่สามารถจำหน่ายออกไปได้ หากมีความต้องการสภาพคล่อง ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทยังได้รับวงเงินสินเชื่ออย่างต่อเนื่องจากธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อใช้สำรองสภาพคล่อง ทั้งนี้ สินทรัพย์สภาพคล่องของกลุ่มคิดเป็นสัดส่วน 35.6% ของสินทรัพย์รวม สินทรัพย์สภาพคล่องส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยรายการสินทรัพย์ระหว่างธนาคารจำนวน 3.2 หมื่นล้านบาทและเงินลงทุนสุทธิจำนวน 5.6 หมื่นล้านบาท และเมื่อพิจารณาในส่วนของงบการเงินเฉพาะของบริษัทแล้ว บริษัทถือว่ามีสินทรัพย์สภาพคล่องเพียงพอที่จะรองรับภาระหนี้สินในระยะสั้นได้
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ทริสเรทติ้ง มีสมมติฐานกรณีพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทแอล เอช ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ในระหว่างปี 2564-2566 ดังนี้
- อัตราการเติบโตของสินเชื่อของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์: 3.0%
- อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของบริษัท: 38.5%
- ค่าเฉลี่ยของสัดส่วนรายได้จากธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์: 85% ของรายได้ทั้งหมด
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ของบริษัทสอดคล้องกับแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซึ่งสะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกหลักจะยังคงค่อยๆ ขยายธุรกิจธนาคารต่อไปโดยได้รับการสนับสนุนด้านธุรกิจและเงินทุนจากพันธมิตรเชิงกลยุทธ์คือ CTBC Bank ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งก็คาดว่าการกระจุกตัวของสินเชื่อของธนาคารนั้นจะลดลงในระยะปานกลาง
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของบริษัทต่ำกว่าอันดับเครดิตของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกรายสำคัญของกลุ่มอยู่ 1 ขั้น ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จึงมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตของบริษัทด้วย นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของกลุ่มที่จะมีผลทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และบริษัทอ่อนแอลงก็อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตของบริษัทในทางลบอีกด้วยเช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564
- Banks Rating Methodology, 3 มีนาคม 2563
บริษัท แอล เอช ไฟแนนเชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (LHFG)
อันดับเครดิตองค์กร: |
BBB+ |
แนวโน้มอันดับเครดิต: |
Stable |
|
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ