- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Monday, 26 October 2020 18:38
- Hits: 10319
EXIM BANK เผยผลการดำเนินงาน 9 เดือน ปี 2563
เคียงข้างผู้ประกอบการไทยเร่งฟื้นฟูธุรกิจจากวิกฤตโควิด-19
นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยผลการดำเนินงานในรอบ 9 เดือนของปี 2563 (มกราคม-กันยายน 2563) ว่า EXIM BANK มีสินเชื่อคงค้าง 129,771 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20,027 ล้านบาท หรือ 18.25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการค้า 34,836 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการลงทุน 94,935 ล้านบาท ทั้งนี้ การปล่อยสินเชื่อของ EXIM BANK ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) 116,353 ล้านบาท เป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs 40,284 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 34.62%
การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยขยายฐานการค้าและการลงทุนไปยังต่างประเทศในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 EXIM BANK มีวงเงินสนับสนุนสินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวมทั้งสิ้น 94,835 ล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อคงค้างจำนวน 55,483 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12,717 ล้านบาท หรือคิดเป็น 29.74% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ EXIM BANK มุ่งเน้นการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยขยายการส่งออกและลงทุนไปยังตลาดใหม่ (New Frontiers) ซึ่งรวมถึงกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 มีสินเชื่อคงค้างจำนวน 39,990 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,308 ล้านบาทหรือ 15.30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและเป้าหมายการดำเนินงานของ EXIM BANK ภายใต้ทีมไทยแลนด์ ภายหลังการเปิดสำนักงานผู้แทนของ EXIM BANK ในย่างกุ้ง เวียงจันทน์ และพนมเปญเมื่อปี 2560-2562 และปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมการเปิดสำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในเวียดนามเป็นลำดับต่อไป
สำหรับการให้บริการประกันการส่งออกและการลงทุนเพื่อช่วยให้ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจได้อย่างมั่นใจ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ผู้นำเข้าในต่างประเทศมีโอกาสที่จะชำระเงินล่าช้าหรือประสบปัญหาสภาพคล่องทางธุรกิจ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 EXIM BANK มีปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและการลงทุนเท่ากับ 125,192 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28,420 ล้านบาทหรือ 29.37% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นอกจากนี้ EXIM BANK ได้สนับสนุนผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณฟื้นตัวจากโควิด-19 โดยติดต่อไปยังลูกค้าทุกราย เพื่อสอบถามความต้องการของกิจการ และออกมาตรการช่วยเหลือ/เยียวยาลูกค้า ประกอบด้วยการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือน สำหรับลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อทั้งระยะสั้นและระยะยาวกับ EXIM BANK การขยายเงื่อนไขบริการประกันการส่งออก การสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ ทั้งสินเชื่อระยะยาวและสินเชื่อระยะสั้น อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 2% ต่อปี เพื่อนำไปใช้หมุนเวียนในกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกและลงทุนที่ได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อมจากโควิด-19 ปรับปรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ ต่อเติม ปรับปรุงโรงงาน หรือส่งเสริมการจ้างงาน รวมทั้งเครื่องมือทางการเงินในการบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ เช่น บริการประเมินความเสี่ยงผู้ซื้อ/ธนาคารผู้ซื้อในต่างประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีข้อมูลในการตัดสินใจค้าขายกับผู้ซื้อในต่างประเทศ และประกันการส่งออก เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ ขณะเดียวกัน EXIM BANK ยังสนับสนุนด้านข้อมูลและความรู้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ โดยเร่งชี้โอกาสเพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัวและเล็งเห็นช่องทางการค้าในตลาดใหม่ๆ ตลอดจนเสริมสร้างความรู้ด้าน e-Commerce ผ่านการให้คำปรึกษา จัดอบรม และสัมมนาออนไลน์แก่ผู้ประกอบการไทย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 EXIM BANK ได้ช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงินแก่ผู้ประกอบการจำนวนประมาณ 6,000 ราย วงเงินรวม 54,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ลูกค้า EXIM BANK ที่ยังประสบปัญหาในการดำเนินกิจการส่งออกหรือลงทุนระหว่างประเทศในปัจจุบันสามารถเข้าร่วมโครงการฟื้นฟูผู้ประกอบการหลังสถานการณ์โควิด-19 ได้ เพื่อขอขยายระยะเวลา เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระเงินกู้ตามความต้องการของกิจการ โดยสามารถขอรับวงเงินสินเชื่อเพิ่มได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
จากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ถดถอยและกระทบต่อสภาพคล่องของผู้ประกอบการ ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 EXIM BANK มีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL Ratio) 6.26% โดยมีสินเชื่อด้อยคุณภาพจำนวน 8,120 ล้านบาท นอกจากนี้ ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่ (TFRS 9) ทำให้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 EXIM BANK มีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) จำนวน 13,565 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง คิดเป็นอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) 167.05% สำหรับผลประกอบการในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 EXIM BANK มีกำไรก่อนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และสำรองอื่นๆ เท่ากับ 1,758 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จากการสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งเพิ่มขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจภายนอกที่มีความเสี่ยงสูง ทำให้ EXIM BANK มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 1,271 ล้านบาท
“จากผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 EXIM BANK มีกำไรก่อนสำรองกว่า 1,700 ล้านบาท แสดงให้เห็นฐานะทางการเงินที่มั่นคงและแข็งแกร่งของธนาคาร อย่างไรก็ตาม เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูกิจการของลูกค้า อันจะเป็นการขับเคลื่อนการเติบโตของภาคการส่งออกและเศรษฐกิจไทย ธนาคารจำเป็นต้องเร่งขยายบริการทั้งทางการเงินและไม่ใช่การเงินให้แก่ลูกค้าตามความต้องการของแต่ละกิจการที่แตกต่างไป และตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตามสภาวะความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจในตลาดโลก เป็นไปตามบทบาทหน้าที่ของการเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาที่พร้อมตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของทุกภาคส่วนตามวัตถุประสงค์การก่อตั้ง โดยมีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนของประเทศไทยแม้ในสภาวะที่ภาคเศรษฐกิจไทยและทั่วโลกได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในปีนี้” นายพิศิษฐ์ กล่าว
A10635
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ