WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประกาศกำไรสุทธิงวด 9 เดือน ปี 2557 จำนวน 900 ล้านบาท โดยรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 7,737.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันปีก่อน จากการเติบโตจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ การปริวรรตเงินตราต่างประเทศ

   นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร สำหรับงวดเก้าเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2557 มีกำไรสุทธิจำนวน 900.0 ล้านบาท ลดลง 60.6 ล้านบาท หรือ 6.3% เมื่อเปรียบเทียบผลกำไรสุทธิของงวดเดียวกันปี 2556 สาเหตุหลักเกิดจากค่าใช้จ่ายการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 16.8% และค่าเผื่อหนี้สูญเพิ่มขึ้น 67.4% ซึ่งเป็นผลจากความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นในอดีตตั้งแต่ช่วงปลายปี 2556 ในขณะที่กำไรก่อนภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น 3.4% อย่างไรก็ตาม หากหักรายการพิเศษที่เกิดขึ้นในงวดเก้าเดือนปี 2557 และ 2556 แล้วกำไรก่อนภาษีเงินได้ของกลุ่มธนาคารจะเพิ่มขึ้นจากปี 2556 จำนวน 177.4 ล้านบาท หรือ 21.0% โดยรายการพิเศษที่สำคัญในงวดเก้าเดือนปี 2556 คือ กำไรจากการคืนทุนในบริษัทย่อยแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ระหว่างการชำระบัญชีและเงินปันผลจากกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 และ สำหรับรายการพิเศษในงวดเก้าเดือนปี 2557 ที่สำคัญคือ รายได้ดอกเบี้ยจากการไถ่ถอนตราสารหนี้ด้อยสิทธิก่อนกำหนด

   เมื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานงวดเก้าเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2557 และ 2556 รายได้จากการดำเนินงานงวดเก้าเดือนปี 2557 จำนวน 7,737.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 จำนวน 1,353.8 ล้านบาท หรือ 21.2% (แต่หากหักรายการพิเศษแล้วรายได้จากการดำเนินงานจะเพิ่มขึ้น 1,494.1 ล้านบาทหรือ 24.3%) การเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลมาจากการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ กำไรสุทธิจากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศ และกำไรสุทธิจากเงินลงทุน โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 1,064.1 ล้านบาท หรือ 22.6% เป็นผลจากการไถ่ถอนตราสารหนี้ด้อยสิทธิก่อนกำหนด และการขยายตัวของสินเชื่อ (แต่หากหักรายการพิเศษในงวดเก้าเดือนปี 2557แล้วรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจะเพิ่มขึ้น 974.1 ล้านบาทหรือ 20.6%) รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 81.0 ล้านบาท หรือ 9.5% ส่วนใหญ่มาจากค่าธรรมเนียมบริการที่ปรึกษา และค่าธรรมเนียมจากการจำหน่ายประกัน ในส่วนของกำไรสุทธิจากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้น 797.8 ล้านบาท หรือ 236.2% และกำไรสุทธิจากเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 133.4 ล้านบาท หรือ 89.9% ส่วนใหญ่เกิดจากธุรกรรมการบริหารเงิน ในขณะที่ รายได้จากการดำเนินงานอื่นลดลง 87.0 ล้านบาท หรือ 33.0% เนื่องจากรายการพิเศษในงวดเก้าเดือนปี 2556

   ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับงวดเก้าเดือนปี 2557 เพิ่มขึ้นจำนวน 748.9 ล้านบาทหรือ 16.8% เป็นจำนวน 5,204.7 ล้านบาทจากงวดเดียวกันปี 2556 โดยส่วนหนึ่งเกิดจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน และค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของผลิตภัณฑ์และระบบเครือข่ายของธนาคาร  อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานงวดเก้าเดือนปี 2557 อยู่ที่ 67.3% ลดลงเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2556 อยู่ที่ 69.8% เป็นผลจากการปรับปรุงแผนการบริหารจัดการเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดี รวมถึงธนาคารยังคงดำเนินการด้านการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และการพัฒนาระบบงานต่างๆ        

   ในสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดทั้งด้านเงินฝากและเงินให้สินเชื่อ กลุ่มธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย สามารถดำรงอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin – NIM) สำหรับงวดเก้าเดือนปี 2557 อยู่ที่ 3.36% เพิ่มขึ้น 0.16% เมื่อเทียบกับปี 2556 อยู่ที่ 3.20% โดยธนาคารสามารถควบคุมต้นทุนเงินฝากที่ดีขึ้น

   วันที่ 30 กันยายน 2557 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่น) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 1.839 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.9% เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556 กลุ่มธนาคารมีเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท) จำนวน1.976 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.7% จากสิ้นปี 2556 ซึ่งมีจำนวน 1.906 แสนล้านบาท ทำให้อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (the Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 93.1% จาก 90.3% ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556

   สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อยู่ที่ 6.0 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้น (NPL ratio) อยู่ที่ 3.3% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556 อยู่ที่ 2.5% เป็นผลจากการชะงักตัวของภาวะเศรษฐกิจและการเมืองที่มีผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า อย่างไรก็ตาม ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ยังคงมาตรฐานการอนุมัติสินเชื่อ และนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุมขึ้น ตลอดจนได้มีแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการติดตามหนี้ การดำเนินการดูแล และการแก้ไขลูกหนี้ที่ถูกผลกระทบดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

   อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 30 กันยายน 2557 อยู่ที่ 94.5% ลดลงจากสิ้นปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ 107.8% ณ วันที่ 30 กันยายน 2557 เงินสำรองของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 5.6 พันล้านบาท ซึ่งเป็นสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 2.2 พันล้านบาท

   เงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ สิ้นวันที่ 30 กันยายน 2557 มีจำนวน 3.18 หมื่นล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยง 15.7% โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ 10.4%

    ในช่วงไตรมาส 3 นี้ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต โดยมีบัตร CIMB Preferred Visa Platinum และ บัตร CIMB THAI Visa Platinum ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตที่เน้นการท่องเที่ยวทั่วอาเซียน  โดยได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษเช่นเดียวกับบัตรเครดิตของประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์และอินโดนีเซีย การเปิดตัวบัตรเครดิตของธนาคารครั้งนี้ถือเป็นการสร้างความแตกต่างจากบัตรเครดิตอื่นๆที่มีอยู่ในตลาด

CIMBT ปรับลดเป้าสินเชื่อปีนี้เหลือโตไม่ถึง 15% ส่วนปีหน้าโตต่ำกว่าปีนี้ เหตุ ศก.ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่

     CIMBT ปรับลดเป้าสินเชื่อปีนี้ เหลือโตไม่ถึง 15% ส่วนปีหน้าโตต่ำกว่าปีนี้อีก เหตุ ศก.ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ พร้อมตั้งเป้าลดเอ็นพีแอลสิ้นปีนี้เหลือ 3% จาก 3.3% ในปัจจุบัน มั่นใจ NIM ปีนี้เป็นไปตามเป้าที่ 3.4% จากปัจจุบันที่ 3.36%

     นายณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายกลยุทธ์และการเงิน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT เปิดเผยว่า ปรับลดเป้าสินเชื่อปีนี้เหลือโตไม่ถึง 15% แต่อัตราการเติบโตยังคงเป็นเลขสองหลัก ซึ่งมองจากภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่คาด นอกจากนี้ ลูกค้าที่ได้พูดคุยในเรื่องการขอสินเชื่อได้มีการชะลอ ออกไป ส่งผลให้สินเชื่อไม่เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ สำหรับปีหน้าคาดสินเชื่อจะโตต่ำกว่าปีนี้ ซึ่งมองว่าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่    

    "สินเชื่อปีหน้าอาจจะเติบโตบ้าง แต่จะเติบโตน้อยลงจากปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร และการปฏิรูปเศรษฐกิจก็ยังไม่เห็นความชัดเจนทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟฟ้ารางคู่ ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลตอนนี้ทำเพียงแค่เบิกงบประมาณออกมาให้เร็วที่สุด เพื่อเป็นการอัดฉีดเม็ดเงิน ซึ่งก็มองว่าเศรษฐกิจก็ต้องใช้เวลาอีกสักพัก" นายณรงค์ชัย กล่าว

    ธนาคารตั้งเป้าลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล ในสิ้นปีนี้ให้เหลือ 3% จาก 9 เดือนที่ผ่านมาเอ็นพีแอลอยู่ที่ 3.3% ซึ่งสูงกว่าสิ้นปี 2556 ที่ 2.5% โดยการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลมาจากการชะงักตัวของเศรษฐกิจ และสถานการณ์การเมืองที่มีผลความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า โดยสินเชื่อที่เพิ่มหลักๆ จะมาจากสินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อส่วนบุคคล และอาจจะมีสินเชื่อรายใหญ่บ้างบางราย อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีการติดตามลูกหนี้ และดูแลลูกหนี้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น

    นายณรงค์ชัย กล่าวต่อว่า  ธนาคารมั่นใจอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (NIM) ปีนี้จะทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 3.4% โดยงวด 9 เดือนที่ผ่านมาสามารถทำได้แล้ว 3.36% เป็นผลจากธนาคารมีความสามารถในการควบคุมต้นทุนเงินฝาก และนอกจากนี้ยังมีการปรับเพิ่มดอกเบี้ยเงินกู้ในลูกค้าบางราย ส่งผลให้ NIM เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

CIMBT ปรับลดเป้าสินเชื่อปีนี้โตไม่ถึง 15% แต่ยังโตได้ 2 หลัก

    นายณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์และการเงิน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับลดเป้าหมายสินเชื่อปีนี้ลง โดยคาดว่าจะโตไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ไว้ 15% แต่ยังคงโตเป็นตัวเลข 2 หลักได้ เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่คาดไว้ และลูกค้าที่มีการเจรจาขอสินเชื่อไว้ได้ชะลอออกไป ส่งผลให้สินเชื่อไม่เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้

   ขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ณ สิ้นไตรมาส 3 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 3.3% จากปี ณ สิ้นปี 56 อยู่ที่ 2.5% ซึ่งการเพิ่มขึ้นของ NPL มาจากการชะงักตัวของเศรษฐกิจและการเมืองที่มีผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า อย่างไรก็ตาม คาดว่า ณ สิ้นปี 57 NPLs จะต่ำกว่า 3% โดยทางธนาคารจะมีการติดตามลูกหนี้ และดูแลลูกหนี้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น

   ขณะที่ ธนาคารมั่นใจว่าทั้งปีธนาคารจะคงอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย(NIM) เติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 3.4% หลังหลังงวด 9 เดือนที่ผ่านมาสามารถทำได้แล้ว 3.36% เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาทางธนาคารยังสามารถควบคุมต้นทุนเงินฝากได้ค่อนข้างดี และมีการปรับเพิ่มดอกเบี้ยเบี้ยเงินกู้ในลูกค้าบางราย

  สำหรับ แนวโน้มสินเชื่อปี 58 คาดว่ายังมีการเติบโต แต่อัตราการเติบโตจะน้อยกว่าปีนี้ โดยมองว่าเศรษฐกิจในปี 58 จะยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร

            อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!