- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Saturday, 04 July 2020 22:59
- Hits: 9142
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร 'ธ.อาร์ เอช บี จำกัด ประเทศไทย' ที่ 'AA'อันดับเครดิตองค์กรระยะสั้น ที่ 'T1+'แนวโน้ม ‘Stable’
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรของ ธนาคาร อาร์ เอช บี จำกัด ประเทศไทย ที่ระดับ 'AA' และคงอันดับเครดิตองค์กรระยะสั้นของธนาคารที่ระดับ ‘T1+’ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนสถานะเครดิตของ RHB Bank Berhad, Malaysia (RHB Bank Berhad) ซึ่งเป็นธนาคารสำนักงานใหญ่ อีกทั้งยังสะท้อนถึงสถานะสภาพคล่องของธนาคาร อาร์ เอช บี ประเทศไทย ด้วย ทั้งนี้ ด้วยสถานะทางกฎหมายที่เป็นธนาคารสาขา ธนาคาร อาร์ เอช บี ประเทศไทย จึงได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับเดียวกับ RHB Bank Berhad ในประเทศมาเลเซีย
อันดับเครดิตองค์กรของธนาคาร อาร์ เอช บี จำกัด ประเทศไทย อยู่บนพื้นฐานการประเมินผลการดำเนินงานของ RHB Bank Berhad โดยเปรียบเทียบกับคู่แข่งในระบบธนาคารพาณิชย์ของประเทศมาเลเซีย อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่ค่อนข้างมั่นคงของ RHB Bank Berhad จากการมีแหล่งรายได้ที่หลากหลาย การมีสถานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง และการบริหารความเสี่ยงที่มีความระมัดระวัง อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวลดทอนลงจากความสามารถในการทำกำไรที่อยู่ในระดับปานกลาง และฐานเงินฝากของธนาคารที่อยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
การที่ RHB Bank Berhad ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ในประเทศมาเลเซีย การพิจารณาอันดับเครดิตจึงประเมินรวมไปถึงความแข็งแกร่งและสถานะความเสี่ยงของเศรษฐกิจและระบบธนาคารพาณิชย์ในภาพรวมของประเทศมาเลเซียด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ธุรกิจค่อนข้างมั่นคงและหลากหลาย
การประเมินสถานะทางธุรกิจของ RHB Bank Berhad สะท้อนถึงธุรกิจที่ค่อนข้างมั่นคงจากความหลากหลายของบริการซึ่งประกอบด้วยธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่มีเครือข่ายมั่นคง ตลอดจนธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และวาณิชธนกิจที่เข้มแข็ง รวมถึงธุรกิจประกันภัย และธุรกิจบริหารจัดการกองทุนซึ่งดำเนินการโดยบริษัทลูกต่าง ๆ แหล่งรายได้ที่มีความหลายหลายก็เกื้อหนุนความมั่นคงให้แก่ธุรกิจด้วยเช่นกัน โดยในปี 2562 รายได้จากกลุ่มลูกค้ารายย่อย (Retail Banking) มีสัดส่วน 36% ของรายได้รวม ตามมาด้วยกิจกรรมการบริหารเงิน (Treasury Operation) 20% กลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ (Corporate Banking) และวาณิชธนกิจ (Investment Banking) 18% และกลุ่มลูกค้าธุรกิจ (Business Banking) 15%
RHB Bank Berhad กำลังดำเนินการตามแผนกลยุทธ์ FIT22 (2561-2565) เพื่อขยายกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium-sized Enterprise -- SME) และกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่มีความมั่งคั่งผ่านการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบครบวงจรซึ่งประกอบด้วยบริการธุรกรรมธนาคาร (Transaction Banking) การปล่อยสินเชื่อออนไลน์ (Online Loan Origination) และผลิตภัณฑ์เงินฝากและการบริหารความมั่งคั่ง (Deposit and Wealth-management Products) ธนาคารยังสามารถเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในกลุ่มธุรกิจเป้าหมายบางส่วนในช่วงปีที่ผ่านมาได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ส่วนแบ่งทางการตลาดในสินเชื่อ SME เพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับ 9.6% ณ สิ้นปี 2562 จากระดับ 9.0% ณ สิ้นปี 2561 ส่วนแบ่งทางการตลาดด้านเงินฝากจากลูกค้ารายย่อยภายในประเทศเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 7.7% ณ ไตรมาสแรกของปี 2563 จากระดับ 7.3% ณ สิ้นปี 2561 สินทรัพย์ภายใต้การบริหารของธุรกิจบริหารจัดการกองทุนก็เติบโตขึ้น 8.0% ในช่วงปี 2562 ส่งผลให้ส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 11.1% ณ สิ้นปี 2562 จากระดับ 10.6% ณ สิ้นปี 2561
กลยุทธ์ทางธุรกิจของ RHB Bank Berhad ยังคงมุ่งเน้นธุรกิจภายในประเทศเป็นหลัก โดยมีส่วนแบ่งรายได้จากธุรกิจต่างประเทศในสัดส่วนค่อนข้างต่ำที่ 8% ของรายได้รวม ธนาคารมุ่งเน้นการแสวงหาตลาดเฉพาะรายในเกือบทุกประเทศที่เป็นสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่ธนาคารมีกิจการอยู่ ฐานธุรกิจระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดของธนาคารอยู่ในประเทศสิงคโปร์ซึ่งมีสัดส่วนสินเชื่อราว ๆ กว่า 8% ของสินเชื่อรวมของธนาคาร ณ ไตรมาสแรกของปี 2563
เงินกองทุนที่แข็งแกร่ง
เงินกองทุนที่แข็งแกร่งของ RHB Bank Berhad เป็นปัจจัยสนับสนุนสถานะเครดิตที่สำคัญ อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงหลังจากหักเงินปันผลเพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับ 16.0% ณ เดือนมีนาคม 2563 ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์มาเลเซียรายอื่น อัตราส่วนดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นจาก 15.5% ณ สิ้นปี 2561 เงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของยังคิดเป็น 88% ของเงินกองทุนรวม ณ ไตรมาสแรกของปี 2563 ซึ่งสะท้อนถึงคุณภาพเงินกองทุนที่อยู่ในระดับสูง
ความสามารถในการทำกำไรอยู่ภายใต้แรงกดดัน
ทริสเรทติ้ง คาดว่าธนาคารจะเผชิญกับปัจจัยลบที่กระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของธนาคารในระยะปานกลางจากเศรษฐกิจที่ทรุดตัวอันเป็นผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 โดยตรง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวสามารถนำไปสู่แรงกดดันต่ออัตรากำไรจากดอกเบี้ยสุทธิและความสูญเสียทางเครดิตที่เพิ่มสูงขึ้นในระยะเวลาที่ยาวนาน
ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารกลางของประเทศมาเลเซีย (Bank Negara Malaysia -- BNM) จะดำเนินนโยบายคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับต่ำในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า โดย BNM ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 3 ของปีสู่ระดับ 2.0% ในเดือนพฤษภาคม 2563 จากระดับ 3.0% ณ สิ้นปี 2562 และยังคาดว่าต้นทุนทางเครดิตจะเพิ่มสูงขึ้นหลังจากระยะเวลาของมาตรการพักชำระหนี้ 6 เดือนซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 นั้นสิ้นสุดลง
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประสิทธิภาพในการดำเนินงานและแนวโน้มต้นทุนทางเครดิตที่ลดต่ำลงของธนาคารเป็นปัจจัยเสริมความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร RHB Bank Berhad สามารถคงอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยได้ที่ระดับ 1.0% ในปี 2562 ในขณะที่ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์มาเลเซียหลายแห่งได้เสื่อมถอยลง RHB Bank Berhad สามารถลดอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมสู่ระดับ 48.9% ในปี 2562 จากระดับ 49.9% ในปี 2560 ต้นทุนทางเครดิตของ RHB Bank Berhad ก็คงอยู่ที่ระดับ 18 จุด (Basis Points -- bps) ในปี 2562 ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ค่อนข้างต่ำสำหรับธนาคารพาณิชย์มาเลเซีย
เตรียมตัวรับมือปัญหาคุณภาพสินทรัพย์
ในความเห็นของทริสเรทติ้ง การบริหารความเสี่ยงของ RHB Bank Berhad ที่มีความระมัดระวังและมาตรการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระดับอุตสาหกรรมน่าจะช่วยลดแรงกดดันต่อคุณภาพสินทรัพย์ลงได้ รัฐได้ออกมาตรการพักชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้รายย่อยและ SME ทุกรายที่เป็นลูกค้าของธนาคารพาณิชย์มาเลเซียทุกแห่ง ในขณะเดียวกันก็มีเงินกองทุนช่วยเหลือพิเศษรวมทั้งการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ SME ที่ผ่านเกณฑ์ด้วย มาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือธนาคารพาณิชย์ของ BNM ยังน่าจะช่วยลดโอกาสในการพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วของหนี้เสียและความสูญเสียทางเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss -- ECL) ได้ BNM ได้ผ่อนปรนให้ธนาคารพาณิชย์มีความยืดหยุ่นในการคงการจัดชั้นหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างให้อยู่ภายใต้หนี้จัดชั้นปกติและยังสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ใช้แนวทางปานกลางในการพิจารณาปัจจัยเพื่อใช้ในการคำนวณ ECL อีกด้วย ทำให้ธนาคารพาณิชย์สามารถนำผลกระทบในเชิงบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและความตื่นกลัวเฉพาะกาลจากการแพร่ระบาดของไวรัสมารวมเพื่อใช้ในโมเดลการคำนวณ ECL ของธนาคารแต่ละแห่งได้
ทริสเรทติ้ง คาดว่าแรงกดดันต่อคุณภาพสินทรัพย์ของ RHB Bank Berhad ส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มลูกค้าธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของไวรัสอันประกอบไปด้วยภาคอุตสาหกรรมการค้า การก่อสร้าง การผลิต รวมถึงร้านอาหารและโรงแรมซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 22% ของสินเชื่อรวมของธนาคาร ณ เดือนมีนาคม 2563 และยังคาดว่าสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน (Unsecured Retail Lending) จะได้รับผลกระทบมากเช่นเดียวกันแม้ว่าสินเชื่อนี้จะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 5% ของสินเชื่อรวม ณ เดือนมีนาคม 2563 ก็ตาม อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ของสินเชื่อรายย่อยซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของสินเชื่อรวมนั้นน่าจะสามารถคงคุณภาพสินทรัพย์ได้ค่อนข้างดีกว่า ทั้งนี้ เนื่องจากประมาณ 2 ใน 3 ของสินเชื่อรายย่อยเป็นสินเชื่อบ้านที่มีหลักประกันและผู้กู้ส่วนใหญ่ก็มีรายได้ประจำ
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา RHB Bank Berhad สามารถปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ให้ดีขึ้นโดยอัตราส่วนหนี้ด้อยคุณภาพสุทธิต่อเงินให้สินเชื่อรวมและต้นทุนทางเครดิตลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อัตราส่วนการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้ด้อยคุณภาพก็แข็งแกร่งขึ้น อัตราส่วนหนี้ด้อยคุณภาพสุทธิต่อเงินให้สินเชื่อรวมลดลงสู่ระดับ 2.0% ณ เดือนมีนาคม 2563 จากระดับ 2.16% ณ สิ้นปี 2561 ธนาคารยังกันเงินสำรอง ECL เป็นมูลค่า 50 ล้านริงกิตเพื่อรองรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกด้วย ส่งผลให้ต้นทุนทางเครดิตในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 34 จุดจากระดับ 18 จุดในปี 2562 และอัตราส่วนการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้ด้อยคุณภาพอยู่ที่ระดับแข็งแกร่งที่ 108% ณ ไตรมาสแรกของปี 2563
ธุรกิจเงินฝากขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
สถานะแหล่งเงินทุนของ RHB Bank Berhad ได้พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา โดยธนาคารสามารถขยายฐานเงินฝากต้นทุนต่ำจากกลุ่มลูกค้ารายย่อยและ SME ภายใต้กลยุทธ์ FIT22 สัดส่วนเงินฝากต่อแหล่งเงินทุนรวมเพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับ 86% ณ ไตรมาสแรกของปี 2563 จากระดับ 83% ณ สิ้นปี 2561 โดยธนาคารมีต้นทุนทางการเงินอยู่ที่ระดับ 2.67% ในไตรมาสแรกของปี 2563 ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำในกลุ่มธนาคารพาณิชย์มาเลเซีย ต้นทุนทางการเงินของ RHB Bank Berhad ลดลงจากระดับ 2.99% ในปี 2562 โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสภาวะดอกเบี้ยที่ต่ำ
ธนาคารยังสามารถขยายส่วนแบ่งทางการตลาดของเงินฝากในกลุ่มลูกค้ารายย่อยภายในประเทศสู่ระดับ 7.7% ณ ไตรมาสแรกของปี 2563 ซึ่งอยู่ในระดับปานกลาง จากระดับ 7.3% ณ สิ้นปี 2561 ได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม บัญชีเงินฝากกระแสรายวันและบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ต่อเงินรับฝากซึ่งอยู่ที่ระดับ 27% ของเงินฝากรวม ณ ไตรมาสแรกของปี 2563 นั้นยังคงต่ำกว่าตัวเลขของธนาคารพาณิชย์มาเลเซียขนาดใหญ่บางราย ทั้งนี้ อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อเงินรับฝากของ RHB Bank Berhad ที่ระดับ 91% ณ ไตรมาสแรกของปี 2563 นั้นถือว่าอยู่ในระดับแข็งแกร่ง
สภาพคล่องมีเพียงพอ
สภาพคล่องของ RHB Bank Berhad อยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมโดยมีสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อเงินฝากอยู่ที่ระดับ 38.4% ณ สิ้นปี 2562 การลงทุนในสินทรัพย์ส่วนใหญ่ของธนาคารเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐที่มีสภาพคล่อง รวมถึงตราสารในตลาดเงิน และตราสารหนี้ภาคเอกชน นอกจากนื้ สัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (Liquidity Coverage Ratio -- LCR) ของธนาคารนั้นก็อยู่ที่ระดับ 137.7% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ทางการกำหนด
อันดับเครดิตองค์กรระยะสั้น
อันดับเครดิตองค์กรระยะสั้นที่ระดับ 'T1+' สะท้อนถึงสถานะเครดิตระยะยาวและฐานะสภาพคล่องที่แข็งแกร่งของธนาคาร อาร์ เอช บี ประเทศไทย ทั้งนี้ ในฐานะที่เป็นสาขาของธนาคารต่างประเทศในประเทศไทย ธนาคาร อาร์ เอช บี ประเทศไทย ยังต้องอยู่ภายใต้เกณฑ์การดำรงสภาพคล่องที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยธนาคารจะต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องให้เพียงพอสำหรับการดำเนินธุรกิจตามปกติ ทั้งนี้ ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสำนักงานใหญ่ รวมถึงตลาดเงินกู้ยืมระหว่างธนาคาร และวงเงินสำรองจาก ธปท. ก็ถือเป็นเป็นแหล่งสภาพคล่องเพิ่มเติมของธนาคารด้วย นอกจากนื้ LCR ของธนาคาร อาร์ เอช บี ประเทศไทย นั้นก็อยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์ที่ทางการกำหนดอีกด้วย
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต 'Stable' หรือ 'คงที่'สะท้อนความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่า RHB Bank Berhad จะสามารถดำรงสถานะทางธุรกิจที่มีเสถียรภาพและสถานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งได้ต่อไป โดยทริสเรทติ้งยังคาดหมายด้วยว่าธนาคารจะสามารถคงคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในเกณฑ์ดีเทียบเท่ากับธนาคารพาณิชย์มาเลเซียอื่นๆ ได้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังว่าธนาคารจะสามารถคงสถานะเงินทุนที่เพียงพอและสภาพคล่องที่อยู่ในเกณฑ์ดีได้เช่นกัน
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของ RHB Bank Berhad อาจได้รับผลกระทบในทางลบหากธนาคารมีความเสื่อมถอยอย่างรุนแรงของสถานะเงินทุน ตลอดจนคุณภาพสินทรัพย์ ความสามารถในการจัดหาแหล่งเงินทุน หรือสภาพคล่อง ส่วนผลกระทบในทางบวกนั้นจะขึ้นอยู่กับความสามารถของธนาคารในการปรับปรุงสถานะทางการตลาด รวมถึงความสามารถในการหาแหล่งเงินทุน และความสามารถในการทำกำไรให้ดีขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- Banks Rating Methodology, 3 March 2020
- วิธีการจัดอันดับเครดิตหนี้ระยะสั้น, 31 ตุลาคม 2550
ธนาคาร อาร์ เอช บี จำกัด ประเทศไทย (RHB Thailand)
อันดับเครดิตองค์กร: AA
อันดับเครดิตองค์กรระยะสั้น: T1+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ [email protected] โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2563 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้
ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ