- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Saturday, 19 October 2019 22:15
- Hits: 5576
KKP แถลงผลประกอบการ Q3 2562
สำหรับผลการดำเนินงานงวดเก้าเดือนปี 2562 เปรียบเทียบกับงวดเก้าเดือนปี 2561 กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร มีกำไรสุทธิ ไม่รวมส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยเท่ากับ 4,309 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.6 จากงวดเดียวกันของปี 2561 เป็นกำไรสุทธิของธุรกิจตลาดทุน ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท ทุนภัทร จำกัด (มหาชน) (ทุนภัทร) และบริษัทย่อย จำนวน 730 ล้านบาท
อนึ่ง สำหรับไตรมาส 3/2562 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิไม่รวมส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยเท่ากับ 1,610 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 เมื่อเปรียบเทียบกับกำไรสุทธิจำนวน 1,471 ล้านบาทในไตรมาส 2/2562 หากเปรียบเทียบกับไตรมาส 3/2561 กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 จากจำนวน 1,551 ล้านบาทในไตรมาส 3/2561
กลุ่มธุรกิจฯ มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ จำนวน 3,227 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 316 ล้านบาทหรือร้อยละ 10.9 จากจำนวน 2,911 ล้านบาทในไตรมาส 3/2561 ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ จำนวน 1,208 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.0 จากไตรมาส 3/2561 ที่มีจำนวน 1,059 ล้านบาท และรายได้อื่น 547 ล้านบาท รวมเป็นรายได้จากการดำเนินงานทั้งสิ้น จำนวน 4,982 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 573 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.0 จากไตรมาส 3/2561
สินทรัพย์รวม ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 มีจำนวน 320,263 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13,934 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.5 จากสิ้นปี 2561
ธุรกิจธนาคารพาณิชย์
สำหรับไตรมาส 3/2562 สินเชื่อโดยรวมของธนาคารมีการขยายตัวที่ร้อยละ 4.2 จากสิ้นปี 2561 โดยมีการขยายตัวในสินเชื่อเกือบทุกประเภทยกเว้นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ยังคงหดตัว ในด้านคุณภาพของสินเชื่อ อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาส 3/2562 อยู่ที่ร้อยละ 4.2 คงที่จากสิ้นไตรมาส 2/2562 ทางด้านธุรกิจบริหารหนี้ ธนาคารขายอสังหาริมทรัพย์รอการขายได้ในไตรมาส 3/2562 จำนวน 321 ล้านบาทและมีกำไรจากการขายอสังหาริมทรัพย์รอการขาย 162 ล้านบาท ในส่วนของธุรกิจตลาดเงินสามารถทำรายได้จำนวน 126 ล้านบาทในไตรมาส 3/2562 ทางด้านธุรกิจตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) (บล.ภัทร) มีส่วนแบ่งตลาด (SET และ mai ไม่รวมบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท) ร้อยละ 10.59 ซึ่งเป็นอันดับที่ 1 จากจำนวนบริษัทหลักทรัพย์ทั้งหมด 38 แห่ง โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8.89 ในไตรมาส 2/2562
ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) คำนวณตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งรวมกำไรหลังหักเงินปันผลจ่ายครึ่งแรกของปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 16.77 โดยเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับร้อยละ 13.03 แต่หากรวมกำไรถึงสิ้นไตรมาส 3/2562 หลังหักเงินปันผลจ่ายครึ่งแรกของปี 2562 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงจะเท่ากับร้อยละ 17.53 และเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับร้อยละ 13.78
ธุรกิจตลาดทุน
ประกอบด้วย ธุรกิจนายหน้า ธุรกิจวานิชธนกิจ ธุรกิจการลงทุน และธุรกิจจัดการกองทุน
ธุรกิจนายหน้า (Brokerage Business)
บล.ภัทร ดำเนินธุรกิจให้บริการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ และตราสารอนุพันธ์แก่ลูกค้าประเภทสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงกลุ่มลูกค้าบุคคลรายใหญ่ภายใต้บริการ Private Wealth Management ซึ่งในกลุ่มนี้บริษัทให้บริการเป็นนายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ และหุ้นกู้อนุพันธ์อีกด้วย สำหรับไตรมาส 3/2562 บล.ภัทร มีส่วนแบ่งตลาด ร้อยละ 10.59 เป็นอันดับที่ 1 จากจำนวนบริษัทหลักทรัพย์ทั้งหมด 38 แห่ง และบล.ภัทร มีรายได้ค่านายหน้า 365 ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์จำนวน 321 ล้านบาท และรายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ 44 ล้านบาท นอกจากนี้ บล.ภัทร ยังมีรายได้ค่านายหน้าจากการเป็นตัวแทนขายหน่วยลงทุน 182 ล้านบาท
ธุรกิจวานิชธนกิจ (Investment Banking Business)
บล.ภัทร ประกอบธุรกิจวานิชธนกิจ ให้บริการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินและการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ในไตรมาส 3/2562 บล.ภัทร มีรายได้จากธุรกิจวานิชธนกิจรวมจำนวน 109 ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้ที่ปรึกษาทางการเงิน 8 ล้านบาท รายได้จากการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ 54 ล้านบาท และรายได้จากการเป็นตัวแทนในการรับซื้อหลักทรัพย์ (Tender Offer Agent) 47 ล้านบาท
ธุรกิจการลงทุน (Investment Business)
ธุรกิจการลงทุนของบริษัทอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ 2 หน่วยงานหลัก โดยทุนภัทรจะเป็นผู้ประกอบการลงทุนโดยตรงภายใต้การดูแลของ ฝ่ายลงทุน (Direct Investment) ซึ่งรับผิดชอบการลงทุนระยะปานกลางและระยะยาว ส่วนบล.ภัทรดูแลการลงทุนระยะสั้นโดยฝ่ายค้าหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Equity and Derivatives Trading) เน้นลงทุนในหลักทรัพย์ประเภททุน (Equity) และกึ่งทุน (Equity-Linked Securities) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดอนุพันธ์ เป็นการลงทุนระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี โดยเน้นกลยุทธ์ด้านการหากำไรส่วนต่าง (Arbitrage) รวมถึงการเป็นผู้ออกและเสนอขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน (Financial Products) ตัวอย่างเช่นหุ้นกู้อนุพันธ์ ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ เป็นต้น
สำหรับไตรมาส 3/2562 ฝ่ายลงทุน มีผลกำไรจากการลงทุนโดยรวมกำไรจากการวัดมูลค่าเงินลงทุนในหลักทรัพย์จำนวน 117 ล้านบาท ส่วนฝ่ายค้าหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสามารถทำรายได้จำนวน 288 ล้านบาท และเมื่อรวมกับรายได้จากการลงทุนอื่นในส่วนของการบริหารเงินทุนและสภาพคล่องของบริษัท ทำให้ในไตรมาส 3/2562 บริษัทและบริษัทย่อยมีผลกำไรรวมจากธุรกิจลงทุนจำนวน 437 ล้านบาท
ธุรกิจจัดการกองทุน (Asset Management Business)
บลจ.ภัทร ประกอบธุรกิจจัดการกองทุน ภายใต้ใบอนุญาตประกอบกิจการจัดการกองทุนรวม และใบอนุญาตประกอบธุรกิจจัดการกองทุนส่วนบุคคล ให้บริการด้านการจัดการลงทุนแก่ลูกค้าบุคคลทั่วไปหรือลูกค้าองค์กร นิติบุคคลที่สนใจการลงทุนในกองทุนรวม หรือกองทุนส่วนบุคคล ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 บลจ.ภัทร มีทรัพย์สินภายใต้การจัดการของกองทุนรวมเป็นจำนวน 68,562 ล้านบาทมีจำนวนกองทุนภายใต้การบริหารรวม 35 กองทุน แบ่งเป็นกองทุนรวม (Mutual Fund) 32 กอง และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 3 กอง โดยมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 1.30 สำหรับไตรมาส 3/2562 บลจ.ภัทร มีรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจจัดการกองทุนรวมจำนวน 145 ล้านบาท
สำหรับกองทุนส่วนบุคคล ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารทั้งสิ้น 26,027 ล้านบาท ทั้งนี้ บลจ.ภัทร มีรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจจัดการกองทุนส่วนบุคคลจำนวน 67 ล้านบาท
ตัวเลขที่สำคัญทางการเงิน
อัตราส่วนต่างๆ (ร้อยละ) |
ไตรมาส 3/2561 |
งวดเก้าเดือน ปี 2561 |
ไตรมาส 1/2562 |
ไตรมาส 2/2562 |
ไตรมาส 3/2562 |
งวดเก้าเดือน ปี 2562 |
อัตราการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ |
3.5 |
14.1 |
1.9 |
0.2 |
2.0 |
4.2 |
สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (ไม่รวมรายการระหว่างธนาคาร) |
4.2 |
4.2 |
4.1 |
4.2 |
4.2 |
4.2 |
อัตราส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ |
115.6 |
115.6 |
114.1 |
113.2 |
110.1 |
110.1 |
อัตราส่วนสำรองต่อสำรองตามเกณฑ์ |
184.9 |
184.9 |
184.4 |
182.4 |
167.0 |
167.0 |
ภาวะเศรษฐกิจ ตลาดเงิน ตลาดทุน
เศรษฐกิจไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2562 ขยายตัวชะลอลงจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ โดยการบริโภคภาคเอกชนในประเทศขยายตัวชะลอลงในเกือบทุกหมวดสินค้าโดยเฉพาะหมวดสินค้าคงทนที่หดตัวสูงตั้งแต่ไตรมาส 2 จากยอดจำหน่ายรถยนต์ทุกประเภท ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้ครัวเรือนที่ชะลอลง และสถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อรถยนต์มากขึ้น เนื่องจากคุณภาพสินเชื่อที่มีแนวโน้มด้อยลง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนโดยรวมหดตัวตามการลงทุนในหมวดก่อสร้างที่หดตัวต่อเนื่องตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง และยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่หดตัวตามยอดจำหน่ายเสาเข็มคอนกรีตเป็นสำคัญ สอดคล้องกับการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่กลับมาหดตัวตามการนำเข้าสินค้าทุนและยอดจดทะเบียนรถยนต์ นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนกลับมาหดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนตามรายจ่ายประจำ ขณะที่รายจ่ายลงทุนยังขยายตัวได้จากการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ
การส่งออกสินค้าในช่วง 8 เดือนแรกของปีหดตัวในทุกหมวดสินค้าโดยลดลงร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หากไม่รวมทองคำ มูลค่าการส่งออกของไทยหดตัวร้อยละ 5.3 เนื่องจากการหดตัวของอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอลงจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ประกอบกับผลของมาตรการกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน วัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังชะลอลงต่อเนื่อง และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่หดตัว รวมทั้งผลของฐานสูงในปีก่อนจากการเร่งส่งออกก่อนสหรัฐฯ จะปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าจากจีน ทางด้านภาคการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมยังขยายตัวได้ในระดับต่ำโดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จาก 1) ผลของฐานต่ำจากเหตุการณ์เรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต 2) นักท่องเที่ยวกลุ่มที่ได้รับผลดีจากมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม Visa on arrival และ 3) นักท่องเที่ยวจีนเปลี่ยนเส้นทางการท่องเที่ยวจากฮ่องกงมาไทยจากเหตุการณ์ประท้วงทางการเมือง
สำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีมีทิศทางชะลอลงจากปัจจัยฉุดรั้งสำคัญ ได้แก่ 1) ความเสี่ยงจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ที่อาจตอบโต้ทางการค้ากับสหรัฐฯ โดยเฉพาะจีน กระทบต่อภาคส่งออกของไทยทั้งการส่งออกสินค้าและบริการ และ 2) ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงรายได้โดยรวมที่ชะลอลง โดยเฉพาะครัวเรือนนอกภาคเกษตรกรรมที่จะกดดันการบริโภคของครัวเรือน
ในส่วนของภาวะตลาดรถยนต์ในช่วง 8 เดือนแรกของปี มีทิศทางชะลอลง โดยยอดขายรถยนต์รวมสะสมอยู่ที่ 685,652 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 โดยการขยายตัวของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อยู่ที่ร้อยละ 6.0 และ 3.1 ตามลำดับ สอดรับกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ชะลอลง และสถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อรถยนต์มากขึ้น เนื่องจากคุณภาพสินเชื่อที่มีแนวโน้มด้อยลง
สำหรับตลาดทุน มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันในตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาด เอ็ม เอ ไอ สำหรับไตรมาส 3/2562 เท่ากับ 62,275 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.8 จาก 53,799 ล้านบาทในไตรมาส 2/2562 ด้านดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET index) ณ สิ้นไตรมาส 3/2562 ปิดที่ 1,637.22 จุด ลดลงร้อยละ 5.4 จาก 1,730.34 จุด ณ สิ้นไตรมาส 2/2562
AO10365
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web