- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Sunday, 25 August 2019 20:53
- Hits: 3959
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร 'ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย' ที่ 'A-' แนวโน้ม 'Stable'
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรของชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด (ชสอ.) ที่ระดับ 'A-' ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลประกอบการทางการเงินที่มั่นคงของ ชสอ. ตลอดจนสินเชื่อที่มีคุณภาพดีจากการให้กู้ยืมแก่สหกรณ์ที่เป็นสมาชิก และสิทธิพิเศษด้านกฎระเบียบที่สหกรณ์ได้รับการยกเว้นภาษีและมีบุริมสิทธิ์เป็นลำดับแรกก่อนเจ้าหนี้อื่นๆ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งของอันดับเครดิตลดทอนลงบางส่วนจากเกณฑ์การกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ทั่วไปที่ค่อนข้างอ่อนแอ รวมทั้งการที่ ชสอ. มีการกระจุกตัวของเงินให้กู้ยืมแก่สหกรณ์สมาชิก ความเสี่ยงจากการกู้ยืมต่อ และภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง
การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงความพร้อมของ ชสอ. ต่อการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบภายหลังจากที่กฎระเบียบใหม่ที่ใช้ควบคุมการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์มีผลบังคับใช้ด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ความพร้อมของ ชสอ. ต่อการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบ
กฎระเบียบใหม่ที่ใช้ควบคุมการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์คือพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) สหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 ในเบื้องต้นแล้ว พ.ร.บ. ดังกล่าวใช้ในการกำกับดูแลสหกรณ์ให้เข้มงวดขึ้นทั้งในกิจกรรมที่เกี่ยวกับการรับฝากเงิน การให้กู้ยืมและการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์ ทริสเรทติ้งเห็นว่ากฎระเบียบใหม่นี้เป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยบรรเทาความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงในระยะยาวของสหกรณ์ออมทรัพย์ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญองค์ประกอบหนึ่งของระบบการเงินไทย
ทริสเรทติ้ง มองว่า ชสอ. มีการเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับกฎระเบียบใหม่ได้โดยไม่มีประเด็นกังวลร้ายแรงเกี่ยวกับผลกระทบต่อการดำเนินงานของ ชสอ. ทริสเรทติ้งคาดว่าการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบอาจจะเป็นอุปสรรคต่อโอกาสในการเติบโตและจะทำให้ผลประกอบการทางการเงินของ ชสอ. อ่อนแอลงในระยะสั้น ยกตัวอย่างเช่น นโยบายการลงทุนและเกณฑ์ในการตั้งสำรองสำหรับสภาพคล่องและหนี้สูญที่เข้มงวดขึ้นในกฎระเบียบใหม่จะทำให้การลงทุนของ ชสอ. มีความยืดหยุ่นน้อยลงและผลตอบแทนจากสินทรัพย์ก็ลดลงด้วย อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมิได้คาดหวังว่าผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของ ชสอ. จะทำให้มุมมองต่อความแข็งแกร่งทางการเงินของ ชสอ. เปลี่ยนแปลงไป ในทางกลับกัน กฎระเบียบใหม่น่าจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งในการบริหารความเสี่ยงและสร้างเสถียรภาพในระยะยาวให้แก่ ชสอ. ได้ด้วยเช่นกัน
สหกรณ์ออมทรัพย์จะยังคงได้รับสิทธิพิเศษภายใต้กฎระเบียบใหม่
สิทธิพิเศษต่างๆ ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ได้รับอันได้แก่ การยกเว้นภาษีหลักๆ ทุกประเภทและการมีบุริมสิทธิ์เป็นลำดับแรกก่อนเจ้าหนี้อื่นๆ จะยังคงมีอยู่ต่อไปภายใต้กฎระเบียบใหม่ กล่าวคือ สหกรณ์ออมทรัพย์และสมาชิกได้รับการยกเว้นภาษีหลักๆ ทุกประเภท เช่น ภาษีดอกเบี้ยออมทรัพย์ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีจากเงินลงทุน ตาม พ.ร.บ. สหกรณ์นั้น ชสอ. ยังมีบุริมสิทธิ์เป็นลำดับแรกก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ ในการได้รับดอกเบี้ยและการได้รับชำระคืนเงินกู้อีกด้วย ซึ่งช่วยให้สหกรณ์ออมทรัพย์มีข้อได้เปรียบในการให้กู้แก่สมาชิกเหนือกว่าสถาบันการเงินอื่น ๆ ในขณะที่เงินกู้ส่วนใหญ่ที่ให้แก่สมาชิกสามัญของสหกรณ์ออมทรัพย์ขั้นปฐมภูมินั้นดำเนินการภายใต้ข้อตกลงกับนายจ้างหรือหน่วยงานต้นสังกัดว่าการชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นของเงินกู้ตามงวดนั้นสามารถใช้วิธีหักจากเงินเดือนของสมาชิกได้ ส่งผลให้สหกรณ์ออมทรัพย์ขั้นปฐมภูมิส่วนใหญ่มีคุณภาพเครดิตที่ดีและช่วยลดความเสี่ยงด้านค่าใช้จ่ายหนี้เสียของเงินที่ให้กู้แก่สมาชิกของสหกรณ์ ซึ่งในที่สุดก็จะส่งผลต่อคุณภาพเงินให้กู้ยืมแก่สหกรณ์สมาชิกในสหกรณ์ขั้นทุติยภูมิอย่าง ชสอ. ด้วย
เงินให้กู้ยืมมีคุณภาพดีอย่างต่อเนื่อง
ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2561 (สิ้นสุดเดือนมีนาคม 2562) ชสอ. มีเงินให้กู้ยืมที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพียง5.2 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.01% ของเงินให้กู้ยืมรวม เงินให้กู้ยืมของ ชสอ. ที่เป็นหนี้คุณภาพดีนั้นสะท้อนถึงเงินที่ให้กู้แก่สมาชิกสหกรณ์ขั้นปฐมภูมิที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตค่อนข้างต่ำซึ่งได้รับอานิสงส์จากสิทธิพิเศษด้านกฎระเบียบของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีบุริมสิทธิ์เป็นลำดับแรกก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ และจากกลไกการชำระคืนหนี้ด้วยระบบหักเงินเดือนตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น นอกจากนี้ ชสอ. ยังมีเกณฑ์และแนวทางที่เข้มงวดในการพิจารณาเงินให้กู้ยืมแก่สมาชิกอีกด้วย
ข้อด้อยของการกำกับดูแล
การกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์มีความเข้มงวดน้อยกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินซึ่งมีการกำกับดูแลที่ใกล้ชิดและเข้มงวดมากกว่า ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นข้อด้อยสำคัญที่สร้างข้อจำกัดให้แก่สถานะอันดับเครดิตของสหกรณ์ออมทรัพย์ในประเทศไทย ถึงแม้ว่ากรอบกฎระเบียบใหม่จะช่วยควบคุมกิจการของสหกรณ์ได้เข้มงวดยิ่งขึ้น แต่กฎระเบียบดังกล่าวก็ไม่ได้รับประกันว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ทั้งหมดจะยึดมั่นกับกฎระเบียบใหม่ได้จริงหรือไม่ การบังคับใช้กฎระเบียบทั้งหลายให้มีประสิทธิภาพได้นั้นจะต้องมีการติดตามตรวจสอบอย่างเข้มงวดและอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สหกรณ์ออมทรัพย์ปฏิบัติตาม ซึ่งดูเหมือนว่าจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้
การกระจุกตัวของเงินให้กู้ยืม
ทริสเรทติ้ง เห็นว่า ชสอ. มีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของเงินให้กู้ยืมแก่สหกรณ์สมาชิกเป็นอย่างมาก เงินให้กู้ยืมที่ ชสอ. ให้แก่สมาชิก 20 อันดับแรกคิดเป็นสัดส่วน 42% ของเงินให้กู้ยืมรวม ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2561 ในการนี้ ชสอ. ให้กู้ยืมแก่สหกรณ์สมาชิกเพียง 285 รายจากจำนวนสหกรณ์สมาชิกทั้งหมด 1,093 ราย ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2561 ทั้งนี้ เงินให้กู้ยืมแก่สหกรณ์สมาชิกคิดเป็นสัดส่วนใหญ่ที่สุดที่ 72% ของสินทรัพย์รวมของ ชสอ. ในขณะที่ประมาณ 26% ของสินทรัพย์รวมเป็นเงินลงทุน และส่วนที่เหลืออีก 2% เป็นเงินสดและสินทรัพย์อื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงดังกล่าวลดทอนลงจากองค์ประกอบของเงินให้กู้ยืมของ ชสอ. ที่เป็นหนี้คุณภาพดี
ความเสี่ยงจากการกู้ยืมต่อ
ชสอ. มีการระดมทุนจำนวนมากผ่านการกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง โดยเงินกู้ยืมดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 1.11 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2561 หรือคิดเป็น 11% ของหนี้สินรวม หรือ 8% ของสินทรัพย์รวม ทั้งนี้ เงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น
ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าเงินทุนขนาดใหญ่ที่ได้จากการกู้ยืมจากสถาบันการเงินจะมีความเสี่ยงด้านการกู้ยืมต่อมากกว่าการใช้เงินฝากและการกู้ยืมจากสหกรณ์สมาชิกเป็นแหล่งเงินทุน การมีสัดส่วนเงินกู้ยืมระยะสั้นจากภายนอกที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ ชสอ. มีความเสี่ยงด้านการกู้ยืมต่อและมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านลบในระบบสหกรณ์ออมทรัพย์หรือระบบการเงินของประเทศ
อัตราส่วนหนี้สินยังอยู่ในระดับสูง
ถึงแม้ว่าทุนเรือนหุ้นที่ชำระแล้วของ ชสอ. มีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยอัตราส่วนทุนต่อสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นเป็นระดับ 24.8% ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2561 แต่อัตราส่วนดังกล่าวก็ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่ก่อตั้งมานานซึ่งมีอัตราส่วนดังกล่าวโดยเฉลี่ยที่ระดับประมาณ 40% ทุนของ ชสอ. ซึ่งประกอบไปด้วยทุนเรือนหุ้นที่ชำระแล้ว ทุนสำรองตามกฎหมาย ทุนสำรองตามข้อบังคับ กำไรหรือขาดทุนจากเงินลงทุนที่ยังไม่เกิดขึ้น และกำไรสุทธิก็ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน
ตามเงื่อนไขข้อบังคับของ ชสอ. กำหนดให้สหกรณ์สมาชิกจะต้องซื้อหุ้นของ ชสอ. เพิ่มเติมในสัดส่วนที่สอดคล้องกับทุนเรือนหุ้นที่ชำระแล้วของสหกรณ์สมาชิก ในสถานการณ์ปกติ ทุนเรือนหุ้นที่ชำระแล้วของ ชสอ. จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันกับที่ทุนเรือนหุ้นที่ชำระแล้วของสหกรณ์สมาชิกแต่ละรายจะเพิ่มขึ้นอย่างอัตโนมัติจากกลไกปกติในการซื้อหุ้นเพิ่มรายเดือนของสมาชิก
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
• เงินทุนรวมจะเติบโตในอัตราเฉลี่ย 15% ต่อปีในช่วงปีบัญชี 2562-2564
• เงินให้กู้ยืมจะเติบโตในอัตราเฉลี่ย 10%-12% ต่อปีในช่วงปีบัญชี 2562-2564
• ส่วนต่างดอกเบี้ยจะอยู่ในช่วง 0.48%-0.63% ในช่วงปีบัญชี 2562-2564
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต 'Stable' หรือ 'คงที่' สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่า ชสอ. จะสามารถรักษาผลประกอบการที่มั่นคง รวมถึงเงินให้กู้ยืมที่มีคุณภาพสูง และฐานเงินทุนหลักที่ได้รับจากสมาชิกไว้ได้ต่อไป ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังด้วยว่า ชสอ. จะสามารถปรับตัวและปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่ได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
แนวโน้มการเพิ่มอันดับเครดิตของ ชสอ. มีค่อนข้างจำกัดจากกรอบการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันซึ่งยังขาดการกำกับดูแลที่ใกล้ชิดจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในทางตรงกันข้าม นโยบายในการดำเนินงานและการเงินในเชิงรุกซึ่งทำให้สถานะเครดิตโดยรวมของ ชสอ. อ่อนแอลง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบใดใดที่จะลดทอนสิทธิพิเศษของสหกรณ์ออมทรัพย์ก็อาจมีผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิตของ ชสอ. ได้
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตสหกรณ์ออมทรัพย์, 30 มีนาคม 2558
ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด (FSCT)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ [email protected] โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2562 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้
ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html
Click Donate Support Web