- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Thursday, 25 September 2014 17:41
- Hits: 2494
ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย รุกธุรกิจวาณิชธนกิจต่อเนื่อง ผนึกจุดแข็งเครือข่ายธนาคารเต็มรูปแบบในไทย และเครือข่ายกว้างขวางที่สุดในอาเซียน
บุกตลาดแบบคู่ขนานทั้งในไทยและต่างประเทศ ผสานลูกค้าซื้อขายกิจการข้ามชาติ พาลูกค้าเสนอขายหลักทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ
นายสิทธิไชย มหาคุณ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สาย Corporate Finance and Equity Capital Markets ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ปีนี้เป็นปีที่สายงาน Corporate Finance and Equity Capital Markets ใช้จุดแข็งด้านเครือข่ายสนับสนุนลูกค้าได้อย่างเต็มกำลัง โดยอาศัยเครือข่ายของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบในไทย เชื่อมโยงเข้ากับเครือข่ายอันแข็งแกร่งของกลุ่มซีไอเอ็มบี สามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งความเชี่ยวชาญ ความครอบคลุม และความรวดเร็ว ในการเป็นที่ปรึกษาในการจับคู่ทางธุรกิจเพื่อทำดีลซื้อขายกิจการข้ามชาติ รวมถึงการเสนอขายหลักทรัพย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยหลังจากประสบความสำเร็จสามารถปิดดีลสำคัญไปแล้วอย่างสวยงาม ส่งผลให้มีลูกค้าสนใจเข้ารับคำปรึกษาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับ ตัวอย่างดีลที่ผ่านมาที่ใช้จุดแข็งของธนาคารดังกล่าวได้แก่ ดีลซื้อกิจการโรงไฟฟ้า ที่ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย เป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด ในการเข้าซื้อโรงไฟฟ้าของกลุ่มไซม์ ดาร์บี้ของประเทศมาเลเซีย ซึ่งธนาคารเป็นที่ปรึกษาในการเจรจาระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายใน 2 ประเทศ ตลอดจนการเป็นผู้สนับสนุนวงเงินสินเชื่อในการเข้าซื้อกิจการดังกล่าว ในเดือน มิ.ย. 2557 ที่ผ่านมา และ ดีลการเสนอขายหลักทรัพย์ ของบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) (AAV) ซึ่งกลุ่มซีไอเอ็มบี เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายร่วมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในปี 2555 และบริษัท เมกา ไลฟ์ไซแอนซ์ จำกัด (มหาชน) (MEGA) ซึ่งกลุ่มซีไอเอ็มบี เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายในต่างประเทศ ในปี 2556
ขณะเดียวกัน ธนาคารบุกธุรกิจวาณิชธนกิจในทุกรูปแบบในประเทศไทยไปควบคู่กัน โดยทำดีลได้อย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ การเสนอขายหุ้น IPO และ การควบรวมกิจการ สำหรับ การเสนอขายกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ CPTGF, TGROWTH, LHPF, QHHR และ DTCPF การเสนอขายหุ้น IPO ได้แก่ Mega, AAV, ANAN, LHBANK,NBC การควบรวมกิจการ (M&A) ได้แก่ การเป็นที่ปรึกษาให้แก่ บมจ. ซัสโก้ ในการเข้าซื้อสถานีน้ำมันจากปิโตรนาสในประเทศไทย, การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินของบมจ. แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ ในการซื้อโรงแรมและคอนโดรวม 6 แห่งโดยการเข้าซื้อคืนหุ้นกู้ที่มีหลักประกันที่บริษัทออกจากนักลงทุน, ที่ปรึกษาทางการเงินของบริษัท Norske ประเทศนอร์เวย์ ในการขายโรงกระดาษในประเทศไทย และ การสนับสนุนการขยายกิจการของกลุ่มซีไอเอ็มบีเอง ได้แก่ การเข้าซื้อกิจการ บริษัทหลักทรัพย์ ซิกโก้ จำกัด (มหาชน) ของบริษัทหลักทรัพย์ ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด และ การเข้าซื้อกิจการบลจ. ฟินันซ่า ของบลจ. ซีไอเอ็มบี พรินซิเพิล
“จุดแข็งของทีมวาณิชธนกิจของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ที่แตกต่างจากผู้ให้บริการรายอื่นๆในตลาด คือ การมีเครือข่ายในต่างประเทศเทียบเท่าธนาคารชั้นนำของโลก เมื่อผนึกเข้ากับเครือข่ายสถาบันการเงินเต็มรูปแบบของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย และบริษัทหลักทรัพย์ ซีไอเอ็มบี ในประเทศไทย ทำให้ธนาคารได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าในการให้บริการและคำปรึกษาที่ตอบทุกความต้องการ ไม่ว่าลูกค้ากำลังมองหาการซื้อขายกิจการในต่างประเทศ ในประเทศ หรือการเสนอขายหลักทรัพย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กลุ่มซีไอเอ็มบีมีบทบาทในการช่วยเหลือการระดมทุนให้กับภาคเอกชนในประเทศไทยเป็นจำนวน 11 ดีล คิดเป็นมูลค่าระดมทุนมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท และมีบทบาทในการช่วยเหลือดีลซื้อขายกิจการให้กับภาคเอกชนในประเทศไทยเป็นจำนวน 7 ดีล คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท และธนาคารยังมีแผนบุกธุรกิจวาณิชธนกิจอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจากนี้ถึงสิ้นปี 2557 จะมีดีลเสนอขายกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์อีกอย่างน้อย 2 ดีล หุ้น IPO อีก 2 ดีล และการควบรวมกิจการอีก 4 ดีล มูลค่ารวมกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท” นายสิทธิไชย กล่าว