- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Wednesday, 19 December 2018 18:31
- Hits: 10000
KTC เข้มจัดขบวนทัพรุกปี 62 ขยายไลน์ธุรกิจใหม่สร้างโอกาสรายได้แบบก้าวกระโดด
นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) กล่าวว่า ในปี 62 คาดหวังว่าจะมีกำไรเพิ่มจากสิ้นปี 61 ประมาณ 10% ด้วยความเชื่อว่าปีหน้าศรษฐกิจของประเทศไทยน่าจะเติบโตได้จากหลายปัจจัยทางการเมืองและภาคเศรษฐกิจที่ได้วางรากฐานไว้แล้ว ทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคมีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคดีไปด้วย
"จะเห็นอะไรใหม่ๆ ออกมาแน่นอน เรื่องหนึ่งคือการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อผลักดันฐานรายได้ให้สูงขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยจะเพิ่มธุรกิจนาโน-พิโกไฟแนนซ์ ซึ่งตอนนี้ได้มีการเตรียมโมเดลธุรกิจและจัดกระบวนทัพทุกอย่างไว้รอแล้ว เมื่อได้รับการอนุมัติจากธนาคารกรุงไทยและธนาคารแห่งประเทศไทย เราพร้อมจะมุ่งทำการตลาดอย่างเข้มข้นเต็มที่ทุกธุรกิจ บนพื้นฐานของความยืดหยุ่นและระมัดระวัง ทุกฝ่ายต้องทำงานประสานร่วมกันยิ่งขึ้น
และที่สำคัญต้องมีพันธมิตรหลากหลายธุรกิจที่จะช่วยเรา เติมเต็มผลิตภัณฑ์และบริการให้สมบูรณ์แบบ รวมไปถึงการพัฒนาด้านไอทีต่างๆ ซึ่งสมาชิกเคทีซีจะได้พบกับนวัตกรรมบริการด้านการเงินใหม่ๆ ที่จะมาเป็นผู้ช่วยให้สมาชิกได้รับความสะดวกในการใช้อย่างมีเสถียรภาพยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีและผูกติดกับแบรนด์เคทีซีอย่างยั่งยืน"นายระเฑียร กล่าว
นางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-ธุรกิจบัตรเครดิต KTC กล่าวถึงกลยุทธ์การตลาดธุรกิจบัตรเครดิตในปี 62 ว่า จากการที่เคทีซีตั้งเป้าหมายยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเติบโต 15% จึงมีกลยุทธ์หลักด้านการตลาดที่จะคงรักษาจุดแข็งของความร่วมมือด้านการตลาดกับพันธมิตรร้านค้าที่หลากหลายในการสร้างสรรค์โปรโมชันที่น่าสนใจและแตกต่างเพื่อกระตุกความสนใจของสมาชิก ทั้งหน้าร้านค้าและออนไลน์ เน้นการสื่อสารที่เข้าใจง่าย ตรงไปตรงมาและมีความคุ้มค่า ตรงใจ ครอบคลุมทุกกลุ่มสมาชิกเป้าหมายทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ด้วย 3 อาวุธหลัก คือ 1) รายการสะสมคะแนน KTC FOREVER ที่ยืดหยุ่น แลกง่ายแลกได้จริง 2) บริการผ่อนชำระ KTC FLEXI เพื่อตอบโจทย์ร้านค้าและสมาชิกบัตร 3) บริการ KTC World Travel Service สำหรับคนรักการท่องเที่ยว
นอกจากนี้ เคทีซียังเล็งเห็นถึงไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่ผู้บริโภคนิยมทำอะไรด้วยตนเอง ทั้งการค้นหาข้อมูลที่สนใจและการทำรายการ เราจึงได้พัฒนาบริการและช่องทางการสื่อสาร โดยปรับปรุงการใช้งานโมบายแอพพลิเคชัน KTC Mobile เปลี่ยนชื่อจาก TapKTC เพื่อให้สมาชิกเข้าถึงการใช้งานได้สะดวกและมั่นใจในความปลอดภัย
ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกที่ลงทะเบียนใช้ KTC Mobile เกือบ 1 ล้านราย หรือประมาณ 60% ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด รวมทั้งจะมีการปรับปรุงเว็บไซต์ www.ktc.co.th และ www.ktcworld.co.th เพื่อให้ใช้งานง่ายและตอบโจทย์ความต้องการของสมาชิกบัตรมากขึ้นอีกด้วย
นางสาวพิชามน จิตรเป็นธรรม ผู้อำนวยการ-ธุรกิจสินเชื่อบุคคล KTC กล่าวว่า ในปีหน้าสภาวะการแข่งขันธุรกิจสินเชื่อบุคคลจะยิ่งมีความร้อนแรงมากขึ้น ทั้งจากผู้ประกอบการที่อยู่ในตลาดรวมถึงผู้ประกอบการรายใหม่ๆ โดยกลยุทธ์การตลาดของเคทีซีในปี 62 จะมุ่งขยายจำนวนสมาชิกให้ได้ถึง 1 ล้านราย และตั้งเป้าเพิ่มอัตราการเติบโตของยอดลูกหนี้ 10% โดยจะเดินหน้าแบ่งเบาภาระคนไทยให้ได้รับสินเชื่อที่เป็นธรรม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและร่วมลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบในปัจจุบัน
ในส่วนของการเพิ่มจำนวนสมาชิกจะจัดกิจกรรมการตลาดที่แตกต่าง ตรงใจและช่วยแบ่งเบาภาระสมาชิกในหลายมิติ เช่น การลดดอกเบี้ยในรูปแบบใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน การรักษาฐานสมาชิก ส่งเสริมการมีวินัยในการใช้จ่ายอย่างมีความรับผิดชอบ สร้างประสบการณ์ที่ดีจากแคมเปญการตลาดที่โดนใจแบบเจาะจงเฉพาะกลุ่ม รวมถึงแคมเปญการตลาดหลายรูปแบบเพื่อให้สมาชิกในวงกว้างมีการใช้บัตรกดเงินสดอย่างต่อเนื่อง และได้รับประโยชน์จากการลดและแบ่งเบาภาระหนี้ ตลอดจนจัดกิจกรรมเพื่อผูกสัมพันธ์ในระยะยาวกับฐานสมาชิก ในรูปแบบของเวิร์คช้อปแบ่งปันความรู้ที่เป็นประโยชน์ด้านการบริหารเงินและเพื่อเสริมสร้างอาชีพและรายได้
นอกจากนี้ เคทีซียังได้พัฒนาบริการเบิกเงินสดออนไลน์ผ่านแอพฯ KTC Mobile ให้รวดเร็วและสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยสามารถเบิกได้ตามวงเงินสูงสุดที่มีในบัตรตลอด 24 ชั่วโมงแบบเรียลไทม์ สะดวกสบายไม่ต้องใช้ PIN เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาใช้บริการออนไลน์มากขึ้น บริษัทฯ ยังมีแผนจะเพิ่มจำนวนธนาคารรองรับความต้องการในอนาคตเพื่อให้สมาชิกเลือกโอนเงินได้สะดวกยิ่งขึ้น และล่าสุดสมาชิกสามารถเลือกผ่อนชำระตามแบบที่ต้องการได้ ไม่ว่าจะเป็นการผ่อนชำระเป็นงวดที่เท่ากัน หรือเลือกผ่อนชำระขั้นต่ำ 3% หรือ 300 บาทได้
นายปิยศักดิ์ เตชะเสน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส-ช่องทางจัดจำหน่ายและธุรกิจร้านค้า KTC กล่าวถึงกลยุทธ์การบริหารช่องทางจัดจำหน่ายและธุรกิจร้านค้าว่า การขยายฐานผลิตภัณฑ์ของเคทีซีในปี 62 จะมุ่งเน้นไปที่คุณภาพในการนำเสนอขายให้มากขึ้น โดยคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าและถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยจะใช้ตัวแทนขายอิสระ (Outsource Sales) และสาขาของธนาคารกรุงไทยเป็นช่องทางหลัก และใช้ช่องทางออนไลน์เป็นยุทธศาสตร์ในระยะยาว โดยได้เตรียมความพร้อมทุกด้านเพื่อรองรับการเติบโตทั้งแพลทฟอร์มแบบเปิด (Open Platform) ของเว็บไซต์ใหม่ เพื่อให้พันธมิตรทุกรายสามารถทำงานกับเคทีซีได้อย่างไม่มีข้อจำกัด
ในขณะที่สมาชิกเองก็จะได้รับประสบการณ์ที่ประทับใจจากการใช้งานบนเว็บไซต์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสมัครโดยฝากชื่อและเบอร์ติดต่อเพื่อให้เจ้าหน้าที่ Telesales บริการ หรือจะดำเนินการสมัครเองด้วยขั้นตอนที่ง่าย สะดวกและทราบผลได้อย่างรวดเร็ว พิเศษ ลูกค้าสมัครสินเชื่อบุคคลที่ "เคทีซี ทัช" ทั้ง 20 สาขาในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ยังสามารถรอฟังผลอนุมัติและและรับเงินสดหรือโอนเข้าบัญชีได้ภายในเวลาเพียง 30 นาที และในเดือนมกราคม 62 จะเริ่มทดลองให้บริการรับสมัครและทราบผลภายใน 60 นาที ที่สาขาของธนาคารกรุงไทยในห้างสรรพสินค้าอีกด้วย
สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลักของเคทีซี ยังคงเป็นพนักงานที่มีรายได้ประจำในทุกอาชีพ และมุ่งเน้นกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานซึ่งยังไม่มีสินเชื่อ รวมถึงจะขยายฐานไปยังกลุ่มลูกค้าระดับบนให้มากขึ้น โดยจะร่วมกับธนาคารกรุงไทยสรรหาสิทธิประโยชน์ระดับพรีเมี่ยมให้กับสมาชิกบัตรเคทีซี-เคทีบี พรีเชียส วีซ่า ซิกเนเจอร์ / เคทีซี-เคทีบี พรีเชียส พลัส วีซ่า ซิกเนเจอร์ และเคทีซี-เคทีบี พรีเชียส พลัส วีซ่า อินฟินิท โดยตั้งเป้าขยายฐานสมาชิกบัตรเครดิตและสินเชื่อพร้อมใช้ "เคทีซี พราว" เพิ่มขึ้น 10% จากสิ้นปี 61
"กลยุทธ์การบริหารธุรกิจร้านค้ารับบัตรในปี 62 บริษัทจะรุกขยายเข้าธุรกิจร้านค้าประเภทใหม่ๆ และตลาดต่างจังหวัด รวมทั้งมุ่งเจาะธุรกิจร้านค้าออนไลน์เพื่อตอบสนองการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเทรนด์ดิจิทัล และสนับสนุนธุรกิจร้านค้าให้เปลี่ยนจากการรับเงินสดมาเป็นผ่านบัตรเครดิตด้วยเครื่องมือทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ ขานรับการสร้างสังคมไร้เงินสดตามนโยบายของรัฐ โดยส่วนหนึ่งของแผนงานประกอบด้วย 1) พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อตอบสนองทุกความต้องการของธุรกิจร้านค้าสมาชิกที่ปัจจุบันยังรับเงินสดเป็นหลัก พร้อมทั้งนำเสนอ Payment Solutions ที่หลากหลายและเหมาะสมกับแต่ละร้านค้า ไม่ว่าจะเป็น QR Pay สำหรับบัตรเครดิต หรือ NFC Pay โดยจะคำนึงถึงความปลอดภัยของการทำธุรกรรม ซึ่งจะต้องผ่านมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล 2) มุ่งจับกลุ่มธุรกิจลูกค้าชาวจีนที่เดินทางมาใช้จ่ายในประเทศไทย โดยยังจะขยายตลาดร้านค้าที่รองรับ Alipay Wallet อย่างต่อเนื่อง และจะรุกขยายตลาด Alipay Online ในปีหน้า 3) มุ่งเน้นธุรกิจ DCC (Dynamic Currency Conversion) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ร้านค้าที่รับลูกค้าต่างชาติ สามารถเลือกชำระค่าสินค้าและบริการผ่านสกุลเงินต่างๆ ได้กว่า 30 สกุล"
นายชุติเดช ชยุติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน KTC กล่าวถึงกลยุทธ์ในการบริหารการเงินว่า ในปีนี้บริษัทฯ ยังคงมีสถานะทางการเงินที่เข้มแข็งมาก โดยคาดว่าสิ้นปี 61 นี้จะสามารถทำกำไรได้ที่ประมาณ 5,000 ล้านบาท ด้วยการขยายฐานบัตรที่มากขึ้น อีกทั้งคุณภาพพอร์ตที่ดีทำให้การตั้งสำรองลดลง และการควบคุมต้นทุนการเงินที่ดี
อย่างไรก็ตาม ในปี 62 อาจเป็นปีที่หลายธุรกิจต้องเผชิญกับความท้าทายของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเคทีซีตระหนักดีและได้เตรียมการไว้รองรับเรื่องดังกล่าว โดยบริษัทจะยังคงมุ่งดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพ ด้วยการบริหารต้นทุนเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งการหาต้นทุนที่ต่ำและเพิ่มสัดส่วนของเงินกู้ระยะยาวมากขึ้น ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ออกหุ้นกู้ในระยะยาว 5-10 ปีมากขึ้น เพื่อให้สามารถควบคุมเงินทุนให้อยู่ในระดับต่ำ โดยได้ออกหุ้นกู้ไปแล้วรวมทั้งสิ้น 45,885 ล้านบาท หรือประมาณ 90% ของเงินกู้ยืมทั้งหมด ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนเงินของบริษัทฯ ปรับขึ้นในอัตราที่ช้ากว่าดอกเบี้ยตลาด
และในปี 62 บริษัทมีแผนจะระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ประมาณ 10,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายตัวของบริษัทฯ และทดแทนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดประมาณ 5,300 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทได้เริ่มโครงการทดลองนำร่องใช้ RPA (Robotic Process Automation) มาช่วยการทำงานของฝ่ายบัญชี ในส่วนของงานที่มีวิธีการทำงานซ้ำๆ เดิมใน 5 ด้าน โดยเทคโนโลยีที่นำมาใช้นั้นได้รับการพิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จในหลายประเทศ ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดหมายว่าการนำโรบอท (Robot) เข้ามาช่วยจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้มากกว่า 30% ในระยะยาว โดยบุคลากรที่เคยทำหน้าที่เดิมนี้จะได้ขยับขึ้นไปรับงานที่สร้างมูลค่ามากขึ้น
อินโฟเควสท์