- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Monday, 22 September 2014 19:58
- Hits: 2686
BBLฮ่องกง ตั้งเป้าสินเชื่อโต 4-5% ต่อปี จากพอร์ตสินเชื่อปัจจุบัน 2000 ล้านดอลล์ ขณะที่จ่อเปิดบริการสาขากัมพูชา เร็วๆนี้ หลังรัฐบาลเขมรไฟเขียว
แบงก์กรุงเทพ สาขาฮ่องกง ฉลองครบรอบ 60 ปี เป็นแบงก์บัวหลวงในต่างประเทศ สาขาแรก จากเครือข่ายต่างประเทศทั้งหมด 28 แห่ง ใน 13 ประเทศทั่วโลก เผย พอร์ตสินเชื่อในฮ่องกงอยู่ที่ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 2 สาขาในฝั่งฮ่องกง และเกาลูน โดยตั้งเป้าเติบโต 4-5% ต่อปี ระบุฮ่องกงถือเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญอีกแห่งของโลก อีกทั้งยังเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของแบงก์ในจีนแผ่นดินใหญ่ ประกอบด้วย ฮ่องกง 2 สาขา จีน 5 สาขา และในไต้หวันอีก 3 สาขา ล่าสุดเตรียมเปิดบริการ BBL สาขากัมพูชา เร็วๆนี้ หลังรัฐบาลกัมพูชา อนุมัติหลักการให้ดำเนินการจัดตั้ง
นายสิทธิชัย จิวัฒน์ธนากุล ผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ (BBL) สาขาฮ่องกง เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารกรุงเทพ สาขาฮ่องกง มีพอร์ตสินเชื่อรวม ประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์ โดยตั้งเป้าสินเชื่อขยายตัว 4-5% ต่อปี ซึ่งกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมเป็นหลัก และเป็นกลุ่มลูกค้าชาวจีนที่ต้องการเข้ามาทำธุรกิจในฮ่องกงเป็นหลัก
"การปล่อยสินเชื่อของเรานั้น ไม่ได้แยกชัดเจนว่าปล่อยต่อรายสูงสุดเท่าไหร่ แต่โดยรวมแล้วต้องปล่อยสินเชื่อไม่เกิน 25% ของทุนจดทะเบียนตามเกณฑ์แบงก์ชาติ"นายสิทธิชัย กล่าว
สำหรับ สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL นั้น มีค่อนข้างน้อย จะมีบ้างก็ในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ แต่ธนาคารฯ ก็ได้ตั้งสำรองหนี้สูญไว้ค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นจึงไม่มีปัญหาในเรื่องนี้แน่นอน
"ฮ่องกงถือเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญอีกแห่งของโลก อีกทั้งยังเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของแบงก์ในจีนแผ่นดินใหญ่ จากทั้งหมด 10 สาขา ประกอบด้วย ฮ่องกง 2 สาขา จีน 5 สาขา และในไต้หวันอีก 3 สาขา ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อ 60 ปีที่แล้ว แบงก์เริ่มเข้ามาทำธุรกิจโดยอาศัยคอนเน็คชั่นที่มีในเมืองจีน" นายสุทธิชัย กล่าว
เขากล่าวว่า ในฮ่องกงมีธนาคารต่างประเทศอยู่กว่า 200 แห่ง โดย 70% เป็นธนาคารชั้นนำทั้งหมดใช้ฮ่องกง เป็นสำนักงานใหญ่ของภูมิภาค เนื่องจากฮ่องกง มีโครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภคพร้อม อีกทั้งในเรื่องของกฎเกณฑ์ กฎหมายก็เป็นมาตรฐาน ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการลงทุน และสะดวกกับการเปิดสาขา ก่อนจะเข้าไปลงทุนในจีน ซึ่งมากกว่า 50% ของมูลค่าการลงทุนของเมืองจีนที่จะไปลงทุนต่างประเทศนั้น จะเข้ามาเปิดบริษัทที่ฮ่องกงก่อน
ทั้งนี้ การบุกเบิกสาขาต่างประเทศของธนาคารกรุงเทพ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2497 ด้วยก่อนหน้านี้การค้าระหว่างประเทศของไทยกับเพื่อนบ้านมีมูลค่ามิใช่น้อย สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรอันเป็นผลผลิตส่วนเกินของประเทศไทย โดยเฉพาะฮ่องกงซึ่งเป็นเมืองเปิดนั้น มีความต้องการสินค้าข้าวในปริมาณที่สูงมาก ฮ่องกงจึงเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยในแถบเอเซีย อีกทั้งสภาพตลาดธุรกิจทั่วไปในฮ่องกงนอกจากนำเข้าสินค้าข้าวแล้ว ยังนำเข้าวัตถุดิบอื่น ๆ อีกจำนวนมากเพื่อส่งเป็นสินค้าออกไปขายยังประเทศอื่นต่อไป นอกจากนี้ฮ่องกงยังเป็นจุดรวมของพ่อค้าชาวจีนไปย่านเอเซียอาคเนย์ เพราะเป็นเมืองเปิดที่พ่อค้าสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างเสรี ไม่มีกฎเกณฑ์ควบคุมเข้มงวด มีนโยบายเน้นหนักไปในทางส่งเสริมให้การค้าพาณิชย์เจริญก้าวหน้าไปอย่างเสรี รวมถึงการทำธุรกิจธนาคารในฮ่องกงที่อยู่ในความดูแลของ Financial Secretary ของรัฐบาลฮ่องกงก็เช่นเดียวกัน
ธนาคารฯ เห็นเป็นโอกาสและช่องทางที่จะบุกเบิก และขยับขยายตัวเองออกไปเปิดสาขาในถิ่นที่เป็นลูกค้าของธนาคารในต่างแดน ด้วยความเชื่อมั่นว่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะดึงธุรกิจเข้ามาในประเทศได้ โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านใกล้ ๆเช่น ฮ่องกง จึงทำให้ตัดสินใจเปิดสาขาธนาคารพาณิชย์แห่งแรกในต่างประเทศที่ฮ่องกง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2497
การเปิดสาขาในต่างประเทศของธนาคารฯ นับเป็นการเริ่มต้นก่อนธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ถึง 2 ทศวรรษ และเป็นกลไกสำคัญในการนำความเจริญทางการค้ามาสู่ประเทศชาติ ช่วยให้สามารถหาตลาดได้เพิ่มขึ้น และขยายวงธุรกิจการค้ากับต่างประเทศให้สามารถส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่างๆ ให้กว้างขวางออกไปได้มากขึ้นตามลำดับ สามารถสร้างผลกำไรกลับสู่ประเทศ เพราะสาขาของธนาคารไม่เพียงแต่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ธุรกิจของพ่อค้าไทย แต่ยังชักจูงและช่วยอำนวความสะดวกให้แก่ลูกค้าชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้าชาวจีนโพ้นทะเลในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ด้วยการทำห้าที่ให้คำปรึกษา แนะนำให้ข้อมูลทางเศรษฐกิจการเมือง และสังคม เท่ากับเป็นการเปิดหนทางและขยายบทบาทบริการด้านการค้าระหว่างประเทศของธนาคารกรุงเทพให้ก้าวออกไปสู่ขอบฟ้าได้อย่างเต็มภาคภูมิ จนสามารถเข้าถึงตลาดเงินของโลกเป็นธนาคารแรกของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพ ยังคงดำเนินยุทธศาสตร์สำหรับธุรกิจในต่างประเทศ โดยเน้นการขยายเครือข่ายตามการขยายธุรกิจของลูกค้า และนับตั้งแต่ธนาคารได้เปิดสาขาต่างประเทศแห่งแรกในฮ่องกงเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ธนาคารยังคงดำเนินบทบาทผู้นำในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างประเทศกับผู้ประกอบการในเขตเศรษฐกิจสำคัญของโลกทั้งจีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร การที่ธนาคารตั้งกิจการอยู่ในประเทศเหล่านี้เป็นเวลานาน และมีบุคลากรท้องถิ่นที่ร่วมงานกับธนาคารมานาน ทำให้ธนาคารเข้าใจความต้องการของลูกค้าในท้องถิ่นนั้นๆ อย่างลึกซึ้ง และพร้อมที่จะสนับสนุนลูกค้าหรือนักลงทุนที่ต้องการเข้าไปทำธุรกิจในภูมิภาคที่กำลังเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หนึ่งในภูมิภาคที่กำลังเติบโตสูงเป็นที่ดึงดูดนักลงทุนทั้งในและนอกภูมภาคเป็นอย่างมาก
การที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ ASEAN Economic Community (AEC) จะมีผลเต็มรูปแบบในพ.ศ. 2558 ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในภูมิภาค นักธุรกิจผู้ประกอบการในประเทศไทยทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กต่างเตรียมพร้อมสำหรับตลาดที่กำลังขยายตัว ซึ่งเป็นโอกาสที่เปิดกว้างและนำมาซึ่งการแข่งขันที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการจำนวนมากเริ่มมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางธุรกิจ ส่วนหนึ่งมีความตื่นตัวในการพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขัน และหันไปพิจารณาการลงทุนในต่างประเทศ ทั้งที่เป็นการกระจายฐานการผลิต การหาลู่ทางส่งสินค้าออกสู่ประเทศเพื่อนบ้าน หรือแสดงความสนใจที่จะไปตั้งสำนักงานเพื่อดำเนินการด้านการตลาดและการขายในภูมิภาคอาเซียน ขณะเดียวกันธนาคารกรุงเทพเป็นธนาคารไทยเพียงแห่งเดียวที่มีเครือข่ายสาขาครอบคลุมเกือบทุกประเทศทั่วภูมิภาค
ดังนั้น ธนาคารจะขยายธุรกิจในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญและเตรียมความพร้อมรองรับโอกาสที่คาดว่าจะได้รับจากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าในประเทศที่ต้องการขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศ ตลอดจนธุรกิจข้ามชาติซึ่งมีความสัมพันธ์กับธนาคารมายาวนาน เช่น ลูกค้าชาวจีนที่อยู่ในฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น รวมถึงลูกค้าที่เป็นคนท้องถิ่นในประเทศที่ธนาคารให้บริการหรือลูกค้าต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพื่อต่อยอดและขยายฐานธุรกิจในภูมิภาคที่เต็มไปด้วยโอกาสแห่งการเติบโต ธนาคารได้กำหนดพื้นที่ที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของสาขาต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดที่มีการเติบโตสูง เพื่อเน้นการให้บริการทางการเงินที่ครอบคลุม การประสานงานระหว่างสาขาต่างประเทศและสายงานธุรกิจในประเทศ นอกจากนี้ ธนาคารจะพัฒนาผลิตภัณฑ์และช่องทางบริการใหม่ๆ รวมถึงขยายเครือข่ายสาขาต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการรุกสู่อนาคตใหม่ที่ท้าทาย
ล่าสุดทางราชอาณาจักรกัมพูชา โดยธนาคารชาติแห่งกัมพูชา ได้อนุมัติในหลักการให้ดำเนินการจัดตั้งธนาคารกรุงเทพ สาขากัมพูชา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ และพร้อมจะเปิดให้บริการในเร็วๆนี้
** สำหรับระยะเวลาในการเปิดให้บริการของสาขาต่างประเทศนั้น สาขาเรียงลำดับได้ดังนี
1. สาขาฮ่องกง ประเทศฮ่องกง เปิดให้บริการปี พ.ศ.2497 (ครบ 60 ปี)
2. สาขาโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เปิดให้บริการปี พ.ศ.2498 (ครบ 59 ปี)
3. สาขาสิงคโปร์ ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ เปิดให้บริการปี พ.ศ.2500 (ครบ 57 ปี)
4. สาขาลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร เปิดให้บริการปี พ.ศ.2500 (ครบ 57 ปี)
5. สาขากัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เปิดให้บริการปี พ.ศ.2502 (ครบ 55 ปี) ก่อนเปลี่ยนมาเป็นธนาคารกรุงเทพ เบอร์ฮาด ประเทศมาเลเซีย ในปี พ.ศ.2537 โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์
6. สาขาเกาลูน ประเทศฮ่องกง เปิดให้บริการปี พ.ศ.2503 (ครบ 54 ปี)
7. สาขาไทเป ประเทศไต้หวัน เปิดให้บริการปี พ.ศ.2508 (ครบ 49 ปี)
8. สาขานิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มจากการเป็นสำนักงานผู้แทนที่นิวยอร์ก เปิดให้บริการปี พ.ศ.2508 (ครบ 49 ปี) และเปลี่ยนฐานะเป็นสาขาในปี พ.ศ.2527
9. สาขาจาการ์ตา ประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เปิดให้บริการปี พ.ศ.2511 (ครบ 46 ปี)
10. สาขาโอซากา ประเทศญี่ปุ่น เปิดให้บริการปี พ.ศ.2513 (ครบ 44 ปี)
11. สาขาปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เริ่มจากการเป็นสำนักงานตัวแทนในกรุงปักกิ่ง เปิดให้บริการในปี พ.ศ.2529 (ครบ 28 ปี) เปลี่ยนฐานะเป็นสาขาในปี พ.ศ.2548 ปัจจุบันเป็นสาขาของธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน)
12. สาขาย่อยเกาสง ประเทศไต้หวัน เปิดให้บริการปี พ.ศ.2533 (ครบ 24 ปี)
13. สาขาโฮจิมินห์ ซิตี้ ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เปิดให้บริการในปี พ.ศ.2535 (ครบ 22 ปี)
14. สาขาเวียงจันทน์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เปิดให้บริการในปี พ.ศ.2536 (ครบ 21 ปี)
15. สาขาเซี่ยงไฮ้ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เปิดให้บริการในปี พ.ศ.2533 (ครบ 21 ปี) ปัจจุบันเป็นสาขาของธนาคารกรุงเทพ ประเทศจีน
16. สาขาฮานอย ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เปิดให้บริการในปี พ.ศ.2537 (ครบ 20 ปี)
17. สาขามะนิลา ประเทศสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เปิดให้บริการในปี พ.ศ.2538 (ครบ 19 ปี)
18. สาขาย่อยไทชุง ประเทศไต้หวัน เปิดให้บริการปี พ.ศ.2538 (ครบ 19 ปี)
19. สำนักงานตัวแทนในย่างกุ้ง ประเทศสหภาพพม่า เปิดให้บริการปี พ.ศ.2538 (ครบ 19 ปี)
20. สาขาเซียะเหมิน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เปิดให้บริการปี พ.ศ.2541 (ครบ 16 ปี) ปัจจุบันเป็นสาขาของธนาคารกรุงเทพ ประเทศจีน
21. สาขาเสิ่นเจิ้น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เปิดให้บริการปี พ.ศ.2550 (ครบ 7 ปี) ปัจจุบันเป็นสาขาของธนาคารกรุงเทพ ประเทศจีน
เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2552 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้รับใบอนุญาตจากทางรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนในการเปิดให้บริการฐานะธนาคารท้องถิ่น โดยใช้ชื่อว่า ธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) จำกัด หรือ Bangkok Bank (China) Company Limited มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่นครเซี่ยงไฮ้ พร้อมเปลี่ยนสถานะสาขา 4 แห่ง ของธนาคารในสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นสาขาของธนาคารท้องถิ่นด้วยเช่นกัน
22. ธนาคารกรุงเทพ เบอร์ฮาด สาขา Jalan Bakri เมือง Muar รัฐ Johor ประเทศมาเลเซีย เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2553 (ครบ 4 ปี)
23. ธนาคารกรุงเทพ เบอร์ฮาด สาขา Taman Molek เมือง Johor Bahru รัฐ Johor ประเทศมาเลเซีย เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2553 (ครบ 4 ปี)
24. ธนาคารกรุงเทพ เบอร์ฮาด สาขา Penang Auto-City รัฐ Penang ประเทศมาเลเซีย เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2553 (ครบ 4 ปี)
25. ธนาคารกรุงเทพ เบอร์ฮาด สาขา Bandar Botanic Klang รัฐสลังงอ (Selangor) ประเทศมาเลเซีย เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2554 (ครบ 3 ปี)
26. สาขาย่อยสุราบายา ประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2555 (ครบ 2 ปี)
27. สาขาย่อยเมดาน ประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2556
28. ธนาคารกรุงเทพ ประเทศจีน สาขาฉงชิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2557
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย