- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Friday, 14 December 2018 13:05
- Hits: 5175
ธ.ก.ส. เดินหน้าพัฒนาศักยภาพ สร้างอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ธ.ก.ส. เดินหน้าเพิ่มศักยภาพผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้งการพัฒนาอาชีพเดิม การสร้างอาชีพเสริม และการปรับเปลี่ยนอาชีพใหม่ ผ่านโครงการฝึกอาชีพและการให้ความรู้ทางการเงิน แล้ว กว่า 2.76 ล้านราย พร้อมสนับสนุนสหกรณ์ 269 แห่ง และ SMAEs ในพื้นที่กว่า 10,000 ราย ทำหน้าที่เป็นหัวขบวนสร้างรายได้
นางสาวเกตสุดา สุประดิษฐ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และคณะ เยี่ยมชมการดำเนินงานการพัฒนารายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ภายใต้มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอาชีพ เพิ่มรายได้ และการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบของเกษตรกร อย่างยั่งยืน โดยมี นายภานิต ภัทรสาริน ผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่อเกษตรกรายย่อยและแก้หนี้นอกระบบ ธนาคาร เพื่อการ เกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมด้วยผู้บริหารและพนักงานในพื้นที่จังหวัดเหนองคายให้การต้อนรับ ณ ชุมชนบ้านจอมแจ้ง ต.สีกาย อ.เมือง จ.หนองคาย
นายภานิต ภัทรสาริน ผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่อเกษตรกรรายย่อยและแก้หนี้นอกระบบ ธนาคารเพื่อการ เกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า การพัฒนารายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ภายใต้มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการและอยู่ในความรับผิดชอบของ ธ.ก.ส. จำนวน 4,086,035 ราย โดยมีผู้มาสัมภาษณ์เพื่อเข้าร่วมโครงการจำนวน 4,051,454 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ประสงค์พัฒนาตนเองและพัฒนาอาชีพตามโครงการ ด้วยการฝึกอบรมและเสริมทักษะด้านอาชีพ จากหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงแรงงาน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และการให้ความรู้ทางการเงินจาก ธ.ก.ส. จำนวน 2,765,335 ราย และไม่ประสงค์พัฒนาแต่ต้องการดำรงชีวิตพอเพียง จำนวน 1,286,119 ราย นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ได้มีการเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการด้านการเกษตรในพื้นที่ หรือ SMAEs และองค์กรของเกษตรกร เช่น สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ ทำหน้าที่เป็นหัวขบวนในการรับซื้อผลผลิต การแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อเป็นทางเลือกในการสร้างอาชีพและรายได้ ให้ผู้มีรายได้น้อยในทุกจังหวัด โดยปัจจุบันมีสหกรณ์เข้าร่วมโครงการ 269 แห่ง และ SMAEs จำนวน 9,765 ราย มีผู้เข้าร่วมพัฒนารายได้ผ่านหัวขบวนดังกล่าว 195,692 ราย ซึ่งการดำเนินงานตามแผนพัฒนาดังกล่าวคาดว่าจะทำให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านระบบ ธ.ก.ส. มีรายได้ในปี 2561 เพิ่มขึ้นกว่า 1.2 ล้านราย
นอกจากแผนพัฒนาอาชีพ ธ.ก.ส. ยังได้ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแบบครบวงจรผ่าน 3 มาตรการ 9 โครงการ ซึ่งผลการดำเนินงาน ณ ปัจจุบัน ประกอบด้วย มาตรการลดภาระหนี้สิน ได้แก่ 1) โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผู้มีรายได้น้อย จำนวน 731,254 ราย จำนวนเงิน 132,969 ล้านบาท 2) โครงการสินเชื่อแก้ไข หนี้นอกระบบ จำนวน 4,591 ราย จำนวนเงิน 381 ล้านบาท 3) โครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน จำนวน 100,195 ราย จำนวนเงิน 4,848 ล้านบาท 4) โครงการชำระดีมีคืน จำนวน 1,301,383 ราย จำนวนเงิน 2,842 ล้านบาท 5) โครงการสินเชื่อกองทุนหมู่บ้าน จำนวน 3,089 ราย วงเงิน 90.29 ล้านบาท มาตรการพัฒนาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ได้แก่ 1) โครงการสินเชื่อชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อพัฒนาอาชีพ(XYZ) จำนวน 2,188 ราย จำนวนเงิน 462 ล้านบาท 2) โครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาอาชีพผู้มีรายได้น้อย จำนวน 79,321 ราย จำนวนเงิน 3,829 ล้านบาท และมาตรการพัฒนาตนเอง ได้แก่ 1) โครงการให้ความรู้ทางการเงินจำนวน 913,895 ราย 2) โครงการส่งเสริมการออมผ่านกองทุนทวีสุข จำนวน 37,350 ราย จำนวนเงิน 39.84 ล้านบาท
นายภานิต ภัทรสาริน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของจังหวัดหนองคาย มีเกษตรกรผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 38,183 ราย มาสัมภาษณ์เพื่อเข้าร่วมโครงการแล้วเต็มจำนวน ประสงค์พัฒนาตามโครงการ จำนวน 27,045 ราย และต้องการดำรงชีวิตพอเพียง จำนวน 11,138 ราย สำหรับชุมชนบ้านจอมแจ้ง ตำบลสีกาย อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย เป็นหนึ่งในหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยวของจังหวัดหนองคาย ที่มีความโดดเด่นในการดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภายใต้อาชีพทำการเกษตร ทั้งการทำนา ปลูกผัก ทำสวน ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เมื่อได้รับการสนับสนุนจาก ธ.ก.ส และหน่วยงานต่างๆ ชาวบ้านจึงรวมตัวตั้งเป็นกลุ่ม เพื่อประกอบอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ โดยดึงจุดเด่นของท้องถิ่นและทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงความรู้อันเกิดจากภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดกันมาสร้างเป็นอาชีพ เช่น กลุ่มผลิตไข่เค็ม ถั่วตัด น้ำพริกแจ่วแดง เป็นต้น และยังมีการปรับเปลี่ยนอาชีพใหม่ จากการทำนาข้าว มาทำไร่อ้อย เนื่องจากเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนสูง มีตลาดที่ชัดเจน มีโรงงานแปรรูปที่รับซื้อผลผลิต ทั้งยังมีการจัดการการผลิตทั้งระบบ จากต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ มีสถาบันเกษตรกร คือ สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) หนองคาย จำกัด ช่วยบริหารจัดการเรื่องการตลาด โดย ธ.ก.ส. ให้การสนับสนุนสินเชื่อ และส่วนราชการให้การสนับสนุน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของจังหวัดหนองหนองคายและยุทธศาสตร์ของประเทศ
Click Donate Support Web