- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Friday, 02 November 2018 14:59
- Hits: 3048
ธ.ก.ส. ครบรอบ 52 ปี ชูยุทธศาสตร์เกษตรยั่งยืน พัฒนาเกษตรกร ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม
ธ.ก.ส.ครบรอบ 52 ปี เส้นทางสู่ความยั่งยืน นำยุทธศาสตร์ชาติ พัฒนาภาคการเกษตร มุ่งพัฒนาเกษตรกร ชุมชนและสังคม ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยสนับสนุนระบบสหกรณ์ และ SMAEs เป็นหัวขบวนในการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และเสริมช่องทางการตลาดทุกรูปแบบ
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ในโอกาสครบรอบ 52 ปี ธ.ก.ส. มุ่งเน้นการนำนโยบายเกษตรยั่งยืน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ชาติ มาใช้เป็นกรอบในการพัฒนาเกษตรกรและภาคการเกษตรเพื่อสร้างความยั่งยืน ประกอบด้วยการทำเกษตรกรรม 5 รูปแบบ คือ เกษตรทฤษฎีใหม่ วนเกษตร เกษตรผสมผสาน เกษตรธรรมชาติ และเกษตรอินทรีย์ เป้าหมายพื้นที่ 5 ล้านไร่ โดยเฉพาะด้านเกษตรอินทรีย์ ธ.ก.ส. มีเป้าหมายชุมชนเข้าร่วมโครงการจำนวน 600 ชุมชน และขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 60,000 ไร่ ภายในปี 2563 ธนาคารได้จัดเตรียมโครงการสินเชื่อส่งเสริมและสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว (Green Credit ) วงเงิน 5,000 ล้านบาท และสินเชื่อชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อพัฒนาอาชีพของผู้มีรายได้น้อย (XYZ) วงเงิน 2,000 ล้านบาท รองรับ โดยดำเนินการร่วมกับภาครัฐและเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ทั่วประเทศจัดทำงานโครงการอาหารปลอดภัย และการสร้างชุมชนเกษตรอินทรีย์อย่างน้อย จังหวัดละ 1 ชุมชน เพื่อสนับสนุนให้มีการผลิตอาหารที่ปลอดภัยและมีมาตรฐานรองรับ เริ่มจากชุมชนที่มีการพัฒนาการผลิตในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้วจำนวน 250 แห่ง ให้ได้รับการรับรองมาตรฐานอินทรีย์ครบทุกชุมชน ใช้ระบบการรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Participatory Guarantee System : PGS) ตามหลักการและมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ พร้อมทั้งสนับสนุนชุมชนอื่นๆที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ
ทั้งนี้ ชุมชนเกษตรอินทรีย์ทั้ง 77 จังหวัด จะต้องมีกระบวนการผลิตที่ดี มีมาตรฐาน ทั้งระบบโรงเรือน ระบบน้ำ ระบบควบคุม รวมถึงโรงบรรจุหีบห่อ มีกระบวนการตรวจสอบเพื่อรับรองคุณภาพตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทย โดย ธ.ก.ส. จะร่วมกับเครือข่ายประชารัฐสนับสนุนด้านการเพิ่มช่องทางตลาด ออนไลน์ รวมถึงตลาด โมเดิร์นเทรด ตลาดนัดของดีวิถีชุมชน ร้านค้า A-Shop เป็นต้น เพื่อเป็นช่องทางในการจำหน่ายสินค้าคุณภาพ อาหารปลอดภัยจากชุมชนไปสู่ผู้บริโภค
ด้านวนเกษตรและสิ่งแวดล้อม ธ.ก.ส พร้อมสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกต้นไม้ตามแนวทาง ป่า 3อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง โดยชุมชนเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อน ภายใต้โครงการธนาคารต้นไม้เชื่อมโยงไปสู่โครงการชุมชนไม้มีค่าตามนโยบายของรัฐบาล การปลูกไม้ยืนต้นบนที่ดินของตนเองและของชุมชน อันเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มในที่ดิน เปรียบเสมือนการออมทรัพย์หรือการลงทุนในระยะยาว เมื่อต้องใช้เงินทุนก็สามารถนำต้นไม้ที่ปลูกบนที่ดินตนเองมาเป็นหลักประกันเงินกู้ได้ จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้สินลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และยังช่วยเพิ่มพื้นที่ป่า อันนำไปสู่การสร้างความมั่นคงด้านีเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันมีชุมชนที่ร่วมปลูกต้นไม้กับ ธ.ก.ส. ตามโครงการธนาคารต้นไม้จำนวน 6,804 ชุมชน มีสมาชิก 115,217 ราย มีจำนวนต้นไม้ที่ปลูกเพิ่มขึ้นในประเทศกว่า 11.7 ล้านต้น
ในส่วนของความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ มุ่งเน้นการบริหารจัดการหนี้ให้กับเกษตรกรที่มีภาระหนัก ผ่านมาตรการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ การสนับสนุนการปฏิรูปภาคการเกษตรร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น การปรับเปลี่ยนการผลิต การรวมกลุ่มเพื่อร่วมกันผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การรวบรวมและใช้กระบวนการสหกรณ์ เป็นหัวขบวน ในการขับเคลื่อนภายใต้หลักตลาดนำการผลิต และการนำรูปแบบ Project based มาสร้างอาชีพและมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่ ควบคู่การสร้างภูมิคุ้มกัน ด้วยการส่งเสริมเงินออม การให้ความรู้ การสร้างเครือข่าย และสร้างทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่
นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังได้รับมอบหมายให้ดำเนินการสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติอีก 7 แผนงาน ซึ่งผลการดำเนินงาน ณ 30 กันยายน 2561 มีดังนี้ 1) แผนงานพัฒนาและยกระดับเกษตรกรผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีรายได้ไม่เกิน 20,000 บาท ต่อปี จำนวน 599,066 ราย สามารถยกระดับรายได้ให้เกิน 20,000 บาท ได้จำนวน 146,305 ราย คิดเป็น 24.42% และผู้มีรายได้ระหว่าง 20,001-30,000 บาทต่อปี จำนวน 284,518 ราย สามารถยกระดับรายได้ให้เกิน 30,000 บาท ต่อปี จำนวน 74,395 ราย คิดเป็น 26.15% ด้านการออมของผู้ที่ประสงค์พัฒนาตนเอง 2.76 ล้านราย ธ.ก.ส.ได้เข้าไปสนับสนุนให้ความรู้ทางการเงินแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทำให้มีเงินออมเพิ่มขึ้น จำนวน 1,636.14 ล้านบาท เฉลี่ยมีเงินฝากเพิ่มขึ้นรายละ 591 บาท 2) แผนงานพัฒนาและสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร โดยมีเป้าหมายเกษตรกรและทายาทเข้ารับการอบรม เพื่อพัฒนาสู่การเป็น Smart Farmer จำนวน 8,000 ราย และการยกระดับสหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการSME เกษตร
เพื่อเป็นหัวขบวนในการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต การสร้างงานและรายได้ รวมทั้งสิ้น 7,490 ราย 3) แผนงานเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์การเกษตรโครงการตลาดประชารัฐ โดยมอบหมายให้สาขาในพื้นที่ดำเนินการจัดตลาดประชารัฐรวม 280 แห่ง มียอดขายสะสมในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา จำนวน 81.85 ล้านบาท 4) โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 1,917,460 ราย พื้นที่ 27.5 ล้านไร่ โดยจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่เกษตรกรผู้ประสบภัยที่เข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 13,916 ราย พื้นที่จ่ายค่าสินไหมทดแทน 122,154.62 ไร่ เป็นจำนวนเงิน 153.9 ล้านบาท 5) แผนงานสร้างภูมิคุ้มกันให้เกษตรกร (โครงการเงินออมกองทุนทวีสุข) มีจำนวนสมาชิกสะสมทั้งสิ้น 1,516,567 ราย 6) แผนงานพัฒนาความร่วมมือกับพันธมิตรให้เป็นเครือข่ายทางการเงิน จำนวน 1,200 แห่ง 7) แผนงานพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอุดมสุข มีชุมชนเป้าหมายที่จะยกระดับสู่ชุมชนอุดมสุข 800 ชุมชน ผ่านเกณฑ์ประเมินครั้งที่ 1 จำนวน 428 ชุมชนอยู่ระหว่างการนำแผนสู่การปฏิบัติ และพัฒนาเพื่อประเมินการผ่านเกณฑ์ในครั้งที่ 2 ต่อไป
Click Donate Support Web