- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Thursday, 04 October 2018 21:37
- Hits: 8789
ธ.ก.ส. ร่วมมือ 8 แบงก์รัฐ ปตท.และไปรษณีย์ไทย ขยายบริการธุรกรรมทางการเงิน และสร้างศูนย์รวมผลิตภัณฑ์ชุมชนในสถานีบริการน้ำมัน
ธ.ก.ส. ร่วมมือภาคีเครือข่ายสถาบันการเงินของรัฐ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีกจำกัด(มหาชน) ใช้พื้นที่ของสถานีบริการน้ำมันเป็นศูนย์รวมให้บริการทางการเงินแบบ One Service แก่ประชาชนทั่วไป พร้อมสร้างช่องทางจำหน่ายและกระจายสินค้าชุมชนสู่ผู้บริโภค กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืน
ณ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สำนักงานใหญ่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการลงนามความร่วมมือระหว่างผู้บริหารบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีกจำกัด (มหาชน) (ปตท.) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 9 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย(บตท.) ในการใช้พื้นที่ปั๊ม ปตท.เป็นศูนย์รวมในการให้บริการธุรกรรมทางการเงินแบบ One Service เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสถาบันการเงินของรัฐได้ง่าย รวมถึงเป็นศูนย์กระจายสินค้าชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส.กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า ธ.ก.ส พร้อมนำผลิตภัณฑ์จากเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการ SMEs เกษตร และชุมชน มาจัดจำหน่าย ณ สถานีบริการน้ำมันปตท. รวมถึงใช้จุดดังกล่าวเป็นศูนย์กระจายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่ซื้อขายผ่านช่องทาง Platform e-Market โดยสินค้าที่นำไปจำหน่ายจะมีทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค เช่น รังนกพร้อมดื่มสำเร็จรูป จมูกข้าวกล้องงอกชนิดผงสำหรับชงดื่ม แชมพูสระผมน้ำนมข้าว ครีมอาบน้ำน้ำนมข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าว A-rice และผลิตภัณฑ์คุณภาพอื่นๆ จากชุมชนทั่วประเทศ รวมถึงการพิจารณาเปิดร้านค้า A-Shop หน่วยบริการหรือสาขา ธ.ก.ส.ในปั๊มน้ำมันตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการธุรกรรมทางการเงินแบบ One Service แก่ประชาชน
ทั้งนี้ การเปิดพื้นที่ดังกล่าว นอกจากเป็นช่องทางในการจำหน่ายสินค้าชุมชน ยังสามารถสร้างเป็นจุดทำโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขายสินค้าชุมชนในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว และเทศกาลสำคัญ ๆ เช่น ปีใหม่ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนรวมถึงนักท่องเที่ยว ได้เลือกซื้อสินค้าที่มีอัตลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น และสินค้าจากผู้ผลิตโดยตรง อันเป็นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับชุมชน ทั้งการผลิตสินค้า การสร้างงาน สร้างรายได้ และการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เติบโตและเข้มแข็งในระยะยาว