- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Sunday, 20 May 2018 18:12
- Hits: 4091
ธ.ก.ส. Kick off มาตรการเกษตรประชารัฐ เพื่อลดต้นทุนการผลิต พร้อมเปิดตัว'บัตรเกษตรสุขใจ'
ธ.ก.ส. Kick off มาตรการเกษตรประชารัฐ เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร พร้อมเปิดตัว 'บัตรเกษตรสุขใจ' บัตรเอกสิทธิ์พิเศษสำหรับเกษตรกร วงเงินรายละไม่เกิน 30,000 บาท เป้าหมายเกษตรกรทั่วประเทศ 3 ล้านราย เพื่อนำไปซื้อปัจจัยการผลิตที่มีมาตรฐาน ราคาเป็นธรรม และสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายสังคมไร้เงินสดของภาครัฐ
นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดโครงการขับเคลื่อนมาตรการเกษตรประชารัฐ เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร และสถาบันเกษตรกร โดยสนับสนุนการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดผ่านสถาบันเกษตรกร พร้อมมอบ’บัตรเกษตรสุขใจ’ ให้กับเกษตรกร เพื่อนำไปใช้ซื้อปัจจัยการผลิตแทนการใช้เงินสด ผ่านแอปพลิเคชั่น ธ.ก.ส. A-Shop กับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการกว่า 17,000 ร้านค้าทั่วประเทศ ซึ่งนอกจากจะสะดวกสบายปลอดภัยแล้วยังช่วยลดต้นทุนในเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่รัฐบาลได้สนับสนุนอีกด้วย โดยมีนายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) พร้อมผู้บริหารและเกษตรกรในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรม ณ สหกรณ์การเกษตรคลองเขื่อน จำกัด อ.คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา
นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินมาตรการเกษตรประชารัฐ เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร จำนวน 2 โครงการ วงเงิน 93,600 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อลดต้นทุนปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกร ซึ่งดำเนินการในรูปแบบบัตรสวัสดิการสินเชื่อแห่งรัฐ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อปัจจัย
การผลิตผ่านร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ เป้าหมายเกษตรกร 3 ล้านราย รายละไม่เกิน 30,000 บาท วงเงินสินเชื่อรวม 90,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MRR-3 ต่อปี(ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 7 ต่อปี) และโครงการสนับสนุนการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดผ่านสถาบันเกษตรกร เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่สถาบันเกษตรกรในการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดเพื่อจำหน่ายให้แก่สมาชิกของสถาบันเกษตรกรและเกษตรกรทั่วไป เป้าหมายสถาบันเกษตรกร จำนวน 500 แห่ง วงเงินสินเชื่อ 3,600 ล้านบาท ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกร 300 แห่ง วงเงินกู้แห่งละไม่เกิน 10 ล้านบาท ตามศักยภาพและความจำเป็นในการใช้เงินกู้ และวิสาหกิจชุมชน 200 แห่ง วงเงินกู้แห่งละไม่เกิน 3 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MLR-3 ต่อปี(ปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5 ต่อปี) โดยทั้ง 2 โครงการมีระยะเวลาในการจ่ายเงินกู้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2561 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2562 กำหนดชำระหนี้คืนไม่เกิน 12 เดือน และไม่เกินวันที่ 30 เมษายน 2563 ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯจะสนับสนุนการให้ความรู้ ในการใช้ปัจจัยการผลิต ที่เหมาะสมแก่เกษตรกรด้วย
ด้านนายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า พร้อมดำเนินงานตามมาตรการเกษตรประชารัฐเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ตามนโยบายของรัฐบาล โดยโครงการลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรนั้น ธ.ก.ส. ได้จัดทำ ‘บัตรเกษตรสุขใจ’ ซึ่งเป็นบัตรที่มี QR Code โดยเกษตรกรสามารถนำบัตรดังกล่าวไปใช้จ่ายเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช เมล็ดพันธุ์ น้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องจักรกลหรือเครื่องมือการเกษตรขนาดเล็ก และปัจจัยอื่นๆ ที่จำเป็น ได้แก่ ข้าวสาร
ผ่านแอปพลิเคชั่น ธ.ก.ส. A-Shop กับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการกว่า 17,000 ร้านค้าทั่วประเทศ ประกอบด้วย ร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตของสหกรณ์การเกษตร ร้านที่ขึ้นทะเบียนไว้กับโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรของ ธ.ก.ส. ร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐ และร้าน Q-Shop ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมวิชาการเกษตร ทั้งนี้ บัตรแต่ละใบมีวงเงินกู้สูงสุดไม่เกินรายละ 30,000 บาท บัตรเกษตรสุขใจจึงมีความสะดวกปลอดภัย ช่วยลดต้นทุนเรื่องอัตราดอกเบี้ย ทำให้เกษตรกรมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้น รวมถึงสามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ในราคาที่เป็นธรรมจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ และยังเป็นการสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายสังคมไร้เงินสดของภาครัฐ
ในส่วนของโครงการสนับสนุนการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดผ่านสถาบันเกษตรกร เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการสนับสนุนให้สถาบันเกษตรกรมีการดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย มีประโยชน์และตอบโจทย์ความต้องการของสมาชิก ซึ่งการทำธุรกิจผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดเพื่อจำหน่าย ถือเป็นการพัฒนารูปแบบการผลิตที่เหมาะสมกับสภาพการเพาะปลูก ช่วยให้เกษตรกรได้ใช้ปุ๋ยสั่งตัดที่มีคุณภาพดีตรงกับสภาพของดิน และทำให้พืชที่ปลูกได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนในปริมาณที่เหมาะสม เจริญเติบโตดี ลดปัญหาโรคแมลง และให้ผลตอบแทนสูง จึงเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิต