- Details
- Category: แบงก์พาณิชย์
- Published: Friday, 16 May 2014 10:41
- Hits: 3604
บัตรเครดิตเขี้ยวขูดดอกเบี้ยรีดค่าธรรมเนียมยุบยับลูกหนี้อ่วมชักหน้าไม่ถึงหลัง
แนวหน้า : แบงก์ชาติห่วงหนี้บัตรเครดิตพุ่ง กว่า30%อาการน่าเป็นห่วงต้องทยอยชำระ ด้านประธานชมรมหนี้ฯแฉผู้ประกอบการบางรายข่มขู่ลูกหนี้ ขูดดอกเบี้ยโหด ชี้แบงก์ชาติต้องเข้มงวดในการคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม ลดความเดือดร้อนของผู้บริโภค
นางธัญทิพย์ สรรพโชติวัฒน์ ผู้บริหารทีมธรรมาภิบาลสถาบันการเงิน ฝ่ายนโยบายความเสี่ยง สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานสัมมนา "การควบคุมกำกับดูแลการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค" จัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ว่า ปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจบัตรเครดิต ยังค้างอยู่ในสภา เพราะเกิดสุญญากาศทางการเมือง จึงไม่มีกฎหมายออกมาควบคุมการใช้บัตรเครดิต และเพื่อเป็นการดูแลลูกหนี้ให้ได้รับความเป็นธรรม จึงได้เสนอในร่างกฎหมายใหม่ต้องคิดอัตราดอกเงินกู้จากยอดเงินที่ค้างอยู่ ไม่ใช่คิดดอกเบี้ยจากยอดเงินต้นทั้งหมด เพราะปัจจุบันเมื่อใช้บัตรเครดิตรูดซื้อสินค้า เมื่อครบกำหนดชำระ ผู้ซื้อชำระเงินเพียงบางส่วน
แต่บริษัทผู้ให้บริการบัตรเครดิตจะคิดดอกเบี้ยจากยอดเงินกู้ทั้งหมดไม่ได้คิดจากยอดเงินที่เหลือ รวมทั้งการแย่งทำตลาดของธุรกิจบัตรเครดิต จนทำให้คนหนึ่งคนมีบัตรเครดิตหลายใบ มีทั้งจ่ายเต็มยอดหนี้และผ่อนจึงเกิดปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนสูงมาก จึงเสนอให้กำหนดการถือครองบัตรเครดิตไม่เกิน 3 ใบ เพราะการใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าพบว่า 70% ของการใช้บัตรจ่ายเงินคืนเต็มจำนวน ส่วนอีก 30% ยอมผ่อนชำระ 10% ของวงเงินยอมรับว่าเป็นห่วงยอดผ่อนชำระเพราะจะใช้แนวทางหมุนเงินหลายใบจนเกิดปัญหาจึงต้องดูแลในกลุ่มผ่อนชำระไม่ให้เกิดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล )
"ยอมรับว่าหนี้เสียมีอยู่จริงทำให้เป็นห่วงเรื่องของหนี้ครัวเรือนที่เกิดจากบัตรเครดิตมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้คุยกับคณะกรรมาธิการบ้างแล้วว่าเราจะแก้ไขโดยวิธีการตัดตอนเลยไหม อนุมัติบัตรเครดิตให้แค่ 3 ใบต่อคน แต่จากที่คุยบางท่านก็ยังเป็นกังวลถึงปัญหาด้านธุรกิจของผู้บริโภคที่บางรายจำเป็นต้องใช้หลายใบเพื่อหมุนวงเงิน ซึ่งอาจจะต้องเข้าไปคุยกับผู้บริโภคในเชิงลึกเพื่อทำความเข้าใจให้ชัดเจนมากขึ้น" นางธัญทิพย์ กล่าว
ปัจจุบันยอดหนี้บัตรเครดิตของระบบในไตรมาสแรกประมาณ 268,907 ล้านบาท มีจำนวนบัญชี 18.93 ล้านบัญชี ในช่วงที่ผ่านมามีข้อร้องเรียนเข้ามาจำนวนมาก จากความเดือดร้อนอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตมีอัตราสูงวิธีการคำนวณดอกเบี้ยบัตรเครดิตไม่เป็นธรรม อัตราแลกเปลี่ยนจากการใช้บัตรเครดิตในต่างประเทศ มีอัตราสูง การคิดค่าติดตามทวงถามหนี้แพง วิธีการทวงถามหนี้ไม่เป็นธรรม โดยมีการข่มขู่
นายชูชาติ บุญยงยศ ประธานชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล กล่าวว่า ขณะนี้พบว่าชาวบ้านที่ใช้บัตรเฟิร์สช้อยท์ หากนำบัตรเครดิตไปกดเงินในตู้เอทีเอ็มจะเสียอัตราดอกเบี้ย 28 %ขณะที่ประกาศของ ธปท.กำหนดให้ใช้บัตรเครดิตกดเงินสดคิดอัตราดอกเบี้ย 20 % ดังนั้นเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับลูกหนี้จึงเสนอ ธปท. ออกประกาศดูแลลูกค้าบัตรเครดิต ด้วยการดึงไฟแนนซ์ลิสซิ่งเข้ามากำกับดูแลโดยธปท. เพราะปัจจุบันยังคิดดอกเบี้ยแบบคงที่ นอกจากนี้ยังต้องการให้ ธปท.บังคับใช้การคิดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต สำหรับผู้เลือกผ่อนชำระ เพราะประกาศของ ธปท.กำหนดให้คิดดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ค่าทวงถามหนี้ ห้ามเกิน 20% ผู้ให้บริการบัตรเครดิตคิดดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม สูงเกินกว่าประกาศและไม่ได้มีการลงโทษแต่อย่างใด
นอกจากนี้ การคิดดอกเบี้ยบวกค่าธรรมเนียม ของบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลมีความแตกต่างกัน เพราะบัตรเครดิตคิดดอกเบี้ยบวกค่าธรรมเนียม 20 %ส่วนสินเชื่อบุคคล 28 % เพราะกฎหมายกำหนดคิดดอกเบี้ยบวกค่าธรรมไม่เกิน 20 %หมายถึงดอกเบี้ย 15 %ค่าธรรมเนียม 5 %ส่วนสินเชื่อบุคคลคิดดอกเบี้ย 15% ค่าธรรมเนียม13% เมื่อเป็นการกู้เงินเหมือนกันทำไมคิดค่าธรรมเนียมต่างกัน
นอกจากนี้ ยังพบว่า ได้นำเอาค่าทวงถามหนี้มารวมในยอดเงินกู้และคิดดอกเบี้ยเพิ่มไปอีกต่อหนึ่ง โดยการกระทำผิดทุกอย่างของผู้ให้บริการบัตรเครดิตกลับไม่มีบทลงโทษ ดังนั้นเมื่อ ร่างกฎหมายใหม่ยังไม่ออกมา เพราะไม่มีสภาพิจารณากฎหมาย จึงเสนอให้ ธปท.ออกประกาศเพื่อเพิ่มบทลงโทษให้ชัดเจน และควรควบคุมดูแลการทำบัตรเครดิตบัตรเสริมให้กับบุตรหลาน แต่เมื่อเกิดปัญหาหนี้เสียผู้ปกครองไม่ชำระหนี้ได้ต้องมีฟ้องเด็กแทนนับว่าเป็นเรื่องไม่เป็นธรรม