- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 15 January 2018 16:12
- Hits: 5076
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
วันแรกของสัปดาห์คาด SET จะผันผวนอีกครั้ง หลังเผชิญแนวต้าน 1,817 จุด โดยน่าจะมีแรงขายรับงบธนาคาร แต่ยังได้แรงหนุนจากหุ้นปิโตรเลี่ยม (น้ำมัน/ถ่านหิน) กลยุทธ์การลงทุนให้เลือกขายเป็นรายหุ้นที่ราคาเกินมูลค่าพื้นฐานปี 2561 (AOT, BJC, TOP, BBL, KBANK, IRPC) แต่ให้สะสมหุ้น Laggards/ปันผลสูง/โภคภัณฑ์ (STEC, CK, UNIQ, INTUCH, BANPU, PTTEP, SCC, CPF, TMT, TCAP) Top picks ยังเลือก PTTEP(FV@B118) และ TASCO([email protected]) P/E ต่ำ กำไรงวดเติบโตดี 4Q60 - ปี 2561 และเงินปันผลสูง
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย … SET Index สร้าง All-time-high ใหม่อีกครั้ง
ศุกร์ที่ผ่านมา SET Index สร้างประวัติศาสตร์ใหม่อีกครั้ง โดยขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่ได้ที่ 1816.81 จุด และสร้างราคาปิดสูงสุดใหม่ที่ 1810.19 จุด เพิ่มขึ้น 7.39 จุด หรือ 0.41% มูลค่าการซื้อขาย 8.18 หมื่นล้านบาท แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปรับตัวขึ้นแทบทั้งกลุ่ม นำโดย SCB ปรับขึ้นต่อเนื่องอีก 2.59% หลังก่อนหน้านี้มีปัจจัยภายนอกกดดันจนทำให้ราคาหุ้น Laggard หุ้น ธ.พ. ขนาดใหญ่อยู่มาก นอกจากนี้ยังพอมี upside อีก 10% และปันผลโดดเด่นเกือบ 4% ต่อปี ตามด้วย KBANK เพิ่มขึ้น 2.15%, TMB เพิ่มขึ้น 1.32%, KTB และ BBL เพิ่มขึ้น 0.49% และ 0.48% ตามลำดับ สำหรับหุ้น ธ.พ. ขนาดกลาง-เล็ก TCAP ปรับตัวขึ้นอีก 2.14%, KKP เพิ่มขึ้น 2.45%, TISCO เพิ่มขึ้น 3.01% ส่วนหุ้นกลุ่มการเงินอย่าง AEONT ปรับตัวขึ้นโดดเด่นกว่า 13.45% หลังจากรายงานงบ 3Q60 มีกำไรสุทธิ 749.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.76% qoq และ 56.29% yoy อีกกลุ่มที่ปรับขึ้นคือ พลังงาน นำโดย PTTEP ปรับตัวขึ้นอีก 2.30% ตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ยืนเหนือระดับ 65 เหรียญฯ ตั้งแต่ช่วงต้นปี กลุ่มโรงกลั่น IRPC เพิ่มขึ้น 2.04%, SPRC, ESSO เพิ่มขึ้น 0.6%และ 0.5% ตามลำดับ
สำหรับแนวโน้มตลาดวันนี้ดัชนีน่าจะผันผวน ในกรอบ 1800-1817 จุด โดยดัชนีมีโอกาสเปิดสูง แต่ต้องระวังแรงขายช่วงท้ายตลาด
ปัจจัยรอบด้านหนุนหุ้นน้ำมัน PTT, PTTEP, BANPU
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจยุโรปยังส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากอัตราการว่างงาน (unemployment rate) ล่าสุด พ.ย. ลดลงต่ำ ต่ำสุดในรอบ 8 ปี เหลือ 8.7% สอดคล้องกับผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB account of meetings) เมื่อ 13-14 ธ.ค. มีแผนปรับนโยบายการเงินในปี 2561 ให้มีความเข้มงวดขึ้น ตามหลังสหรัฐที่นำร่องขึ้นดอกเบี้ยไปก่อน หลังจาก ECB ยังคงดอกเบี้ยฯ ที่ 0% ต่อเนื่องตั้งแต่ มี.ค. 2559 และอัดฉีดเงินเข้าระบบผ่าน QE นับจากปี 2558-ก.ย. 2561 (ล่าสุดเพิ่มเป็นเดือนละ 3 หมื่นล้านยูโร) ซึ่งหนุนค่าเงินยูโรแข็งค่าราว 2% นับจากปลายสัปดาห์ที่แล้ว และแข็งค่า 1.64%ytd หากนับตั้งแต่ต้นปี
ตรงกันข้ามกดดันให้ค่าเงินดอลลาร์ 1.47% ในช่วงเดียวกัน หรืออ่อนค่าราว 1.25%ytd ทั้งนี้แม้สหรัฐยังคงรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง คือ ยอดค้าปลีก (retail sales) เดือน ธ.ค. เพิ่ม 0.4%mom แม้ชะลอลงจาก 0.9% ในเดือน พ.ย. ขณะที่เงินเฟ้อสหรัฐ เดือน ธ.ค. ชะลอตัวเล็กน้อยเหลือ 2.1%yoy จาก 2.2% ในเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 60 อยู่ที่ 2.12%yoy ซึ่งยังคงหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโนบายในปีนี้อีก 3 ครั้ง แต่เชื่อว่าตลาดหุ้นน่าจะรับรู้ประเด็นดังกล่าวไปแล้ว
ค่าเงิน Dollar Index ที่อ่อนค่าดังกล่าว ถือเป็นเป็นอีกปัจจัยหนุนการเก็งกำไรราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นและหนุนราคาน้ำมันดิบโลกยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง โดยเฉพาะดูไบยังคงเดินหน้าขึ้นต่อเนื่อง และมีโอกาสแตะ 70 เหรียญฯต่อบาร์เรล นับว่าสูงกว่าสมมติฐานที่นักวิเคราะห์กลุ่มพลังงานของ ASPS ประเมินไว้ที่ 60 เหรียญฯ ในปี 2561 เทียบกับราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยปี 2560 ที่ 53 เหรียญฯ (โดยให้ราคาน้ำมันดิบคงที่ที่ 65 เหรียญฯ ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป) อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบดูไบที่สูงกว่าสมมติฐานทุก 5 เหรียญฯ คือ 65 เหรียญฯ และ 70 เหรียญฯ คาดว่าจะช่วยเพิ่ม Fair Value หุ้น PTTEP ปี 2561 จากปัจจุบันที่ 118 บาท เป็น 126.81 บาท และ 135.45 บาท หรือเพิ่มขึ้นจากกรณีฐาน 7.47% และ 14.8% ตามลำดับ ณ ราคาตลาดถือว่าหุ้น PTTEP ยังมี upside 6.3%
ขณะที่หุ้นถ่านหินยังแนะนำ BANPU ถือว่ายัง laggard และน่าจะได้ประโยชน์จากราคาถ่านหินที่ยังคงยืนเหนือ 100 เหรียญฯ มาที่ 104 เหรียญฯ แม้ราคาหุ้น BANPU(FV@B26) ขยับขึ้นมาบ้าง แต่ยังมี upside มากกว่า 30% และเชื่อว่าราคานี้ได้สะท้อนความกังวลในกรณีที่ BANPU มีคดีความหงสา ที่ปัจจุบันอยู่ในชั้นศาลฎีกา ซึ่งเป็นศาลสุดท้าย
Earnings Preview กับการขายรับงบหุ้น ธ.พ. มาพร้อมกัน
ช่วงค่ำวันศุกร์ที่ผ่านมา TISCO รายงานงบฯ ออกมาเป็นแห่งแรก ทำไรสุทธิ 4Q60 ได้ตามคาดที่ 1.52 พันล้านบาท ลดลงเล็กน้อยราว 3.2%qoq แต่เติบโตถึง 17.7%yoy ปัจจัยหนุนมาจากการรับโอนสินทรัพย์และหนี้สินจาก SCBT ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อรายย่อยที่มี yield สูง ส่งผลให้ NIM เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.67% สวนทางกับต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลง ขณะที่คุณภาพสินทรัพย์ดีขึ้น โดย NPL ลดลงมาที่ 2% ของสินเชื่อรวม ต่ำสุดในรอบ 3 ปี โดยรวมกำไรสุทธิปี 2560 อยู่ที่ 6.09 พันล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้นถึง 21.7% yoy ฝ่ายวิจัยจึงปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 2561-62 ขึ้น 5.3% และ 1.8% จากเดิม ส่งผลให้กำไรสุทธิปี 2561-62 คาดว่าจะเติบโต 23.1%yoy และ 9.6%yoy ตามลำดับ แรงหนุนมาจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อทะเบียนรถยนต์ และสินเชื่อเคหะ โดย Fair Value หลังปรับประมาณการฯ เพิ่มขึ้นเป็น 110 บาท (เดิม 93.50 บาท) มี upside ราว 16.7% บวกกับ Div. Yield สูงถึง 6% อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นที่ปรับขึ้นแรงในช่วงที่ผ่านมาสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่เติบโตโดดเด่นไปแล้ว จึงต้องระวังการ sell on fact จึงแนะนำสะสมเมื่อราคาอ่อนตัว
ขณะที่ ธ.พ. แห่งอื่นที่เหลือ คาดจะทยอยประกาศงบฯ ในช่วงวันที่ 17-19 ม.ค. นี้ โดยคาดกำไร TMB, BBL, TCAP จะเติบโตได้โดดเด่น ทั้งนี้ ภาพรวมกลุ่ม ธ.พ. คาดกำไรสุทธิ 4Q60 ของ ธ.พ. 10 แห่งที่ศึกษาจะอยู่ที่ 4.85 หมื่นล้านบาท เติบโต 2.4% qoq (แต่ลดลง 4.9% yoy) โดยรายได้จากธุรกิจหลักจะเพิ่มขึ้นได้ทั้งรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิ และรายได้ค่าธรรมเนียมฯ แต่ถูกหักล้างด้วยค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น แต่คาดว่าค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ จะลดลง โดยเฉพาะกลุ่ม ธ.พ.ใหญ่ สัดส่วน NPL เมื่อเทียบกับสินเชื่อรวมยังทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสิ้นงวด 3Q60 ที่ราว 3.20% ภายใต้คาดการณ์ credit cost ที่ 149 bp จาก 166 bp ใน 3Q60 ส่งผลให้กำไรสุทธิใน 4Q60 ดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ 3Q60 ขณะที่ภาพรวมปี 2560 กำไรสุทธิลดลง 4.2%yoy ก่อนจะกลับมาเติบโต 14.2%yoy ดังนั้น ในช่วงสัปดาห์นี้ จึงต้องระวังการปรับฐานของหุ้นในกลุ่มฯ
เช่นเดียวกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น S&P500 ของสหรัฐ กำลังอยู่ในระหว่างการประกาศผลประกอบการของกลุ่มธนาคารและธุรกิจการเงินเช่นกัน ทั้ง J.P. Morgan Chase, BlackRock และ Wells Fargo ต่างรายงานงบฯ ออกมาดีกว่าคาด โดยมีการคาดกันว่ากำไรสุทธิ 4Q60 ของบริษัทใน S&P500 จะขยายตัวถึง 11.1%yoy และ 4.2%qoq ส่งผลให้โดยรวมปี 2560 กำไรสุทธิของตลาดหุ้นสหรัฐขยายตัว 10.3%yoy และ สูงถึง 14.7% ในปี 2561 จึงเป็นเหตุให้ตลาดหุ้นสหรัฐยังคงปรับขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง แต่ทำให้ trailing P/E ตลาด S&P500 พุ่งสูงถึง 21 เท่า แม้ forward P/E จะลดลงเหลือ 18.4 เท่า แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูง จึงมีโอกาสปรับฐานได้เช่นกัน
ต่างชาติสลับมาซื้อหุ้นในกลุ่ม TIP มากขึ้น รวมถึงไทย
วันศุกร์ที่ผ่านมา แม้ต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาค 18 ล้านเหรียญ แต่เป็นการขายสุทธิเพียง 2 ประเทศเท่านั้น คือ เกาหลีใต้ถูกขายสุทธิ 91 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิในวันก่อนหน้า) และไต้หวันถูกขายสุทธิ 25 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 4) สวนทางกับตลาดหุ้นในกลุ่ม TIP ที่ต่างชาติซื้อสุทธิทั้ง 3 ประเทศ เริ่มจากอินโดนีเซียถูกซื้อสุทธิ 24 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 10) ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ 3 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิเพียงวันเดียว) และไทยที่ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิกว่า 74 ล้านเหรียญ หรือ 2.36 พันล้านบาท (หลังจากขายสุทธิ 5 วัน มีมูลค่าขายรวม 1.23 หมื่นล้านบาท) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่สลับมาซื้อสุทธิ 2.62 พันล้านบาท (หลังจากขายสุทธิ 3 วัน ราว 2.50 พันล้านบาท)
ส่วนทางกับทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย สถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 2.40 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับต่างชาติซื้อสุทธิ 1.08 หมื่นล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2)
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
OO4471