- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 01 September 2014 15:18
- Hits: 2443
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ตลาดน่าจะได้ Sentiment เชิงบวก จากการปรับเพิ่มกำไรรายหุ้น วันนี้ ASP ปรับเพิ่มกำไรของ SYNTEC([email protected]) โดยปีนี้ปรับเพิ่ม 14% และ 10% ปีหน้า หลังงานเข้ามาเยอะ และ GFPT (FV@B22) 15.3% ปีนี้ และ 33.4% ปีหน้า หลังมีคำสั่งซื้อไก่จากรัสเซียแล้ว เลือกเป็น Top Picks
เดินหน้าปฏิรูปประเทศ หลังมีคณะรัฐมนตรีครบ
เมื่อวันที่ 31 ส.ค.2557 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบุคคลเป็นรัฐมนตรี จำนวน 32 คน 34 ตำแหน่ง ซึ่งพิจารณาจากรายชื่อ ไม่ได้สร้างความประหลาดใจ เนื่องจากเป็นที่รับทราบกันแล้ว โดยเฉพาะตำแหน่งสำคัญทางด้าน เศรษฐกิจของประเทศ คือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นรองนายกรัฐมนตรี, นายสมหมาย ภาษี เป็น รมว.คลัง, พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง เป็นรมว. คมนาคม, พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ เป็น รมว.พาณิชย์ และ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี เป็น รมว. พลังงาน เป็นต้น
จากนี้ไปคาดว่าจะเห็นการเดินหน้าโครงการลงทุนที่เคยนำเสนอไปก่อนหน้า ได้แก่โครงสร้างพื้นฐานตามแผน 8 ปี มูลค่าเงินลงทุน 2.4 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับต่างประเทศ โดยในส่วนนี้น่าจะเป็นผลดีต่อบรรยากาศการลงทุน เฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง, พัฒนาอสังหาริมทรัพย์, วัสดุก่อสร้าง ตลอดจนสถาบันการเงิน นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่อาจกดดันตลาดคือ การปฏิรูปประเทศ ในหลายประเด็นที่อาจกระทบต่อบริษัทจดทะเบียน เช่น เรื่องการปฏิรูปโครงสร้างพลังงาน, การปฏิรูปโครงสร้างภาษี เป็นต้น ซึ่งน่าจะมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวตลาด ขณะที่ SET Index ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ Current PER 16.3 เท่า ถือว่าได้สะท้อนภาพเชิงบวกของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาไว้แล้ว ซึ่งอาจจะทำให้ SET Index แกว่งตัวกรอบแคบๆ ต่อไป
สหรัฐยังแข็งแกร่ง VS ยุโรป และญี่ปุ่น ชะลอตัว
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐยังฟื้นตัวต่อเนื่อง ล่าสุดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ส.ค. (รอยเตอร์/ม.มิชิแกน) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยราว 0.8%mom สอดคล้องกับดัชนีภาพรวมเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น 2.26%mom ซึ่งน่าจะหนุนการใช้จ่ายผู้บริโภค (สัดส่วนถึง 70% ของ GDP) หลังจากเดือน ก.ค. หดตัวลง 0.1%mom (เป็นครั้งแรกนับจาก ม.ค. 2557) นอกจากนี้ ตลาดบ้านมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น โดยพบว่ายอดทำสัญญาบ้านที่รอปิดการขาย เดือน ก.ค. เพิ่มขึ้น 3.3%mom จาก 1.3% mom เดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นการฟื้นตัวครั้งแรกนับจากเดือน มี.ค. เป็นต้นมา และทำสถิติสูงสุดในรอบเกือบ 1 ปี (หลังจากก่อนหน้าชะลอลงจากผลกระทบดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น และการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวด) ขณะที่ตลาดแรงงาน สิ้นสุด 23 ส.ค. ยังมีสัญญานที่ดี คือ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ ลดลง 1,000 ราย (298,000 ราย) สอดคล้องกับตำแหน่งจ้างงาน ซึ่งสูงกว่า 200,000 ราย ต่อเนื่องถึง 6 เดือน (คล้ายเคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2540) และคาดว่าอัตราการว่างงานในเดือน ส.ค. ที่จะรายงาน 9 ก.ย. จะปรับลดลงเล็กน้อย อยู่ที่เฉลี่ย 6% แต่ยังห่างจากระดับ 5.5% ก่อนวิกฤติซับไพร์ม ซึ่งยังเป็นข้ออ้างในการใช้ดอกเบี้ยนโยบายต่ำของ FED ต่อไป
ขณะที่สหภาพยุโรป และ ญี่ปุ่น มีสัญญาณการชะลอตัว โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อลดจากเดือนก่อนหน้า
ยุโรป กล่าวคือในยุโรป อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. ลดลงจาก 0.4%yoy ในเดือน ก.ค. เหลือ 0.3% ส.ค. และเช่นเดียวกับอัตราการว่างงานในยูโรโซน เดือน ส.ค. อยู่ที่ระดับ 11.6%yoy เพิ่มขึ้นจาก 11.5% ในเดือนก่อนหน้า (ใกล้เคียงระดับสูงสุด 12%) โดยพบว่า อิตาลี (เศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ในยุโรป) เงินเฟ้อหดตัว 0.2%yoy และอัตราการว่างงานสูงที่ 12.6% จาก 12.3% ใน ก.ค.) ซึ่ง ส่งผลให้ตลาดบางส่วนคาดว่า ECB จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพิ่มเติมเร็วกว่าญี่ปุ่น ซึ่งจะเกิดอย่างเร็วที่สุด แม้ล่าสุด ECB จะยังคงต้องการติดตามผลของการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำไปอีกระยะหนึ่งก่อนก็ตาม
ญี่ปุ่น อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค. อยู่ที่ 3.4%yoy เทียบกับ 3.6% เดือน มิ.ย. ขณะที่การใช้จ่ายภาคครัวเรือน (คิดเป็น 60% ของ GDP) เดือน ส.ค. ลดลง 5.9%yoy หรือ ลดลง 5%qoq เทียบการตั้งแต่ต้นปี เนื่องจากการขึ้นภาษีขาย 3% เป็น 8% ในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา และคาดว่าผลกระทบน่าจะต่อเนื่องใน 2H57 ซึ่งชะลอตัวจากงวด 1H45 ที่ขยายตัว 1.45% แต่อย่างไรก็ตาม BOJ น่าจะยังไม่ออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมจากปัจจุบัน ยกเว้นการลดภาษีนิติบุคคล ให้ต่ำกว่า 30% จากปัจจุบันอยู่ที่ 35.6% หรือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจบางส่วน เช่น การปรับพอร์ตการลงทุนของกองทุนบำนาญขนาด 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งราว 60% ลงทุนในพันธบัตรญี่ปุ่น โดยปรับให้มาลงทุนในหุ้น หรือสินทรัพย์เสี่ยงอื่น ๆ ได้ ซึ่งประเด็นนี้จะช่วยกระตุ้นตลาดไม่มากนัก
ต่างชาติยังคงขายไทยเบาบาง
วันศุกร์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 9 ราว 384 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 17% จากวันก่อนหน้า) ซื้อสุทธิสูงสุดคือเกาหลีใต้ ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 แต่ลดลงจากวันก่อนหน้า 9% เหลือราว 155 ล้านเหรียญฯ ใกล้เคียงกับไต้หวันซื้อสุทธิเป็นวันที่ 11 ราว 152 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 17%) ขณะที่ฟิลิปินส์ซื้อสุทธิหนักถึง 143 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4, เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้ากว่า 8 เท่าตัว) สวนทางกับอินโดนีเซียที่สลับมาขายสุทธิราว 64 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสุทธิ 2 วันก่อนหน้า) และ ไทยขายสุทธิเล็กน้อยเป็นวันที่ 2 ราว 1 ล้านเหรียญฯ (29 ล้านบาท, ลดลง 77% จากวันก่อนหน้า)
ทั้งนี้ เงินทุนจากต่างชาติยังคงไหลเข้าภูมิภาคอย่างต่อเนื่องในลักษณะทยอยเลือกซื้อรายประเทศ รวมถึงตลาดหุ้นของไทย ขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้ โดยซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 ราว 1.2 พันล้านบาท (รวม 5 วันซื้อสุทธิราว 6.9 พันล้านบาท) แต่ยอดการซื้อยังคงเบาบาง (เทียบกับช่วงก่อนหน้าที่ซื้อสุทธิเฉลี่ยกว่าวันละ 7.8 พันล้านบาท ช่วงเดือน ก.ค. 57) อย่างไรก็ตามการที่ตลาดหุ้นไทยขาดปัจจัยบวกหนุน น่าจะยังทำให้ต่างชาติเข้าซื้อสลับขายเบาบางตามสถานการณ์รายวันต่อไป
ค่าการกลั่นทำสถิติสูงต่อเนื่องดีต่อ BCP, TOP
แม้การรายงานสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐ สิ้นสุด 22 ส.ค. ลดลง 2.1 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า และลดลงมากกว่าที่ตลาดคาดไว้เพียง 9 แสนบาร์เรล สวนทางกับสต็อกน้ำมันสำเร็จรูปที่เพิ่มกล่าว คือน้ำมันกลั่น เพิ่มขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรล แต่หากพิจารณาในรายละเอียดพบว่า สต๊อกน้ำมันเบนซินกลับลดลง 9.6 แสนบาร์เรล นั่นแสดงว่าสต๊อกน้ำมันสำเร็จรูปอื่น ๆ เพิ่มขึ้นได้แก่ น้ำมันดีเซล และ น้ำมันเครื่องบิน เป็นต้น (อัตราการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.1% สู่ 93.5%) ทั้งนี้เป็นผลจากความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปที่ลดลง ราว 1.4% (ส่วนหนึ่งเกิดจากดูกาลขับขี่ท่องเทียวในสหรัฐ กำลังจะสิ้นสุดลง)
ผลจากสต๊อกน้ำมันดิบลดลง หนุนให้ราคาน้ำมันดิบโลกกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย โดยราคาน้ำมันดิบดูไบยังคงแกว่งตัวใกล้เคียง 100.84 เหรียญ/บาร์เรล แต่เป็นที่สังเกตว่าค่าการกลั่นกลับฟื้นตัวแรง โดยมาอยู่ที่ 5.56 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล (หลังจากอ่อนตัวลงมาที่ 3.8 เหรียญ/บาร์เรล ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา) ซึ่งนับว่าดีต่อผู้ประกอบการโรงกลั่น โดยเฉพาะ BCP และ TOP (มีกำไรจากโรงกลั่น 75% และ 65% ตามลำดับ) แต่อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นของ BCP ได้ปรับตัวขึ้นกว่า 20% ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จึงแนะนำให้สลับมาลงทุนใน TOP (FV@B 56) ที่ราคายัง laggard กว่า แม้ว่าผลประกอบการในปี 2557 จะหดตัวราว 13% (จากภาวะตกต่ำของอะโรเมติกส์ และ การปิดซ่อมบำรุงโรงงาน) แต่คาดว่าจะกลับมาเติบโต 16.3% ในปี 2558 เพราะไม่ต้องซ่อมบำรุงเหมือนในปี 2557
รัสเซียหันมานำเข้าไก่จากไทยดีต่อ GFPT/CPF
การสู้รบระหว่างยูเครนและรัสเซียยังทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นตามลำดับ และนำไปสู่การเพิ่มการคว่ำบาตรการค้าระหว่างประเทศเพิ่มเติม โดยล่าสุด สหภาพยุโรปเตรียมคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มขึ้นครั้งก่อน ๆ โดยจะระงับการทำธุรกรรมกับธนาคารของรัฐ, การยุติการค้าอาวุธ, จำกัดการขายพลังงานและเทคโนโลยีด้านการทหารกับรัสเซีย (ยกเว้นด้านการจัดหาก๊าซและสินค้าพลังงานจากรัสเซีย เนื่องจากอียูยังจำเป็นต้องพึ่งพิงสินค้าดังกล่าวจากรัสเซียอยู่นั่นเอง) ขณะที่รัสเซียตอบโต้โดยการคว่ำบาตรทางการค้าและงดนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะเนื้อไก่แปรรูป ที่รัสเซียนำเข้าจากสหรัฐกว่า 5 แสนตัน อย่างไรก็ตาม รัสเซียได้หาทางออกด้วยการหาคู้ค้าใหม่ๆ โดยเฉพาะทางฝั่งเอเซีย ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่ารัสเซียอาจนำเข้าสินค้าอาหารจากไทยมากขึ้น อาทิ เนื้อ หมู ไก่ ปลา กุ้ง ผักผลไม้ และอาหารกระป๋อง หลังจากทูตพาณิชย์รัสเซียเข้าหารือกับกระทรวงพาณิชย์ สร้างความได้เปรียบเชิงแข่งขันกับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการเนื้อไก่แปรรูป ซึ่งนับว่าดีต่อ CPF(FV@B34) และ GFPT(FV@B22) ซึ่งมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์จากสัตว์บกราว 35% และ 65% ของรายได้รวม ตามลำดับ
เช้านี้นักวิเคราะห์ ASP ได้ปรับเพิ่มประมาณกำไรของหุ้น GFPT สะท้อนข่าวบวก หลังจากได้เริ่มรับคำสั่งซื้อจากรัสเซีย และน่าจะทยอยรับรู้รายได้ในงวด 4Q57 โดยได้ปรับเพิ่มการกำไรสุทธิปี 2557-58 จากเดิม 15.3% และ 33.4% ตามลำดับ โดยการปรับสมมติฐานหลักคือ 1) ราคาขายไก่เป็นในประเทศปรับเพิ่มขึ้นสู่ 47 บาท จากเดิม 45 บาท และ 2) ปริมาณส่งออกเนื้อไก่แปรรูปในปี 2557-58 จะปรับเพิ่มขึ้นอีก 2 พันตัน และ 9 พันตัน จากเดิม ตามลำดับ และ 3) แผนขยายกำลังการผลิตในปี 2558 อีก 10% จากระดับปัจจุบัน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของบริษัทฯ ที่เปิดเผยไว้ในช่วงที่ผ่านมา โดยกำไรสุทธิใหม่จะสถิติสูงสุดใหม่ที่ 2.1 พันล้านบาท ปีนี้ และ 2.6 พันล้านบาท ในปีหน้า และกำหนดให้ Fair value ใหม่ ณ สิ้นปี 2557 เท่ากับ 22 บาท และภายหลังประกาศงบ 3Q57 จะปรับไปใช้มูลค่าพื้นฐานปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 27 บาท มี Upside สูงถึง 49% จึงแนะนำ ซื้อลงทุน (อ่านรายละเอียดใน Equity Talk ฉบับวันนี้)
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล