WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASPบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
  ส่งออก 10M60 ดีกว่าคาด หนุนปรับ GDP Growth ปี 2560-2561 ขึ้น และน่าจะหนุนกำไรบริษัทจดทะเบียนปี 2561 ที่คาดว่าจะเติบโตกว่า 10% ยังเป็นปัจจัยหนุนดัชนีตลาดหุ้นไทยในระยะ 1-3 เดือนข้างหน้า กลยุทธ์ลงทุนให้ปรับพอร์ตขายทำกำไรในหุ้นที่เต็มมูลค่า และเลือกสะสมหุ้น Domestic Play ที่ยังโดดเด่นในงวด 4Q60 และ ปี 2561 Top pick วันนี้เลือก PTTEP(FV@B116)  ราคาน้ำมันดิบยืนตัวเหนือ 60 เหรียญฯ อีกครั้ง และเป็นหุ้น Laggard โดยยังชอบหุ้นค้าปลีก และ บันเทิง ที่เติบโตโดดเด่น คือ BEAUTY, COM7 และ WORK
 
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย พลังงานและกลุ่ม ธ.พ. กลับมาหนุนตลาด
  วานนี้ตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวผันผวน โดยช่วงเช้าปรับตัวขึ้นกว่า 12 จุด ก่อนที่จะย่อตัวลงในช่วงท้ายลงมาปิดตลาดที่ 1713.13 จุด เพิ่มขึ้น 2.65 จุด หรือ 0.36% มูลค่าการซื้อขาย 5.75 หมื่นล้านบาท โดยได้รับแรงหนุนในหุ้นขนาดใหญ่ กลุ่มพลังงาน  นำโดยหุ้นปิโตรเลี่ยม PTTEP เพิ่มขึ้น 0.53%  เนื่องจากราคาน้ำมันดิบฟื้นตัวระยะสั้น ๆ อีกครั้ง ตามด้วยหุ้นโรงไฟฟ้า นำโดย BPP BGRIM และ EA เพิ่มขึ้นโดดเด่น 3.67% 3.77% และ 2.22% ตามลำดับ เช่นเดียวกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์กลับมาฟื้นตัว โดย BBL SCB KBANK TMB และ KTB เพิ่มขึ้น 1.79% 0.67% 0.45% 0.72% และ 0.54% ตามลำดับ
  นอกจากนี้หุ้นรายตัวที่ปรับเพิ่มขึ้นโดดเด่น คือ BEAUTY เพิ่มขึ้นแรง 7.46% หลัง ASPS ปรับเพิ่ม กำไรปี 2561-62 เพิ่มขึ้น 22% และมูลค่าพื้นฐานปี 2561 อยู่ที่ 25 บาท  สะท้อนความต้องการสินค้าความงามที่เพิ่มขึ้นตามกระแสรักษ์สุขภาพ  และ นักท่องเที่ยวชาวจีน  ตามด้วยหุ้นที่เข้าซื้อขายในตลาดฯ วันแรกคือ  SKE  ปิดที่ 2.12 บาท เพิ่มขึ้น 17.78% จากราคา IPO ที่ 1.80 บาท  และ  หุ้น Big Cap. อย่าง SCC ฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องอีก 1.64% 
  และหุ้น TRUE เป็นหุ้นเดียวในกลุ่ม ICT ที่เพิ่มขึ้น 2.70%  ที่เหลือล้วนปรับตัวลดลงคือ คือ ADVANC DTAC และ THCOM ลดลง 0.28% 2.79% และ 0.83% ตามลำดับ
  หุ้นรับเหมาก่อสร้าง เป็นกลุ่มที่กดดันตลาดฯ ต่อเนื่อง เพราะการประมูลงานภาครัฐที่ล่าช้า นำโดย CK UNIQ และ STEC ลดลง 4.42% 3.76% และ 2.91% ตามลำดับ เช่นเดียวกับกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม MINT ICHI และ CBG ลดลง 2.22% 4.46% และ 2.75%
  สำหรับแนวโน้มตลาดฯ วันนี้ คาดดัชนียังคงแกว่งตัวในกรอบแคบๆ โดยมีแนวต้านที่ 1720/1725 จุด แนวรับที่ 1704 จุด
ส่งออก 10M60 ดีกว่าคาด หนุนปรับเพิ่ม GDP Growth ปีนี้-ปีหน้า
  การค้าระหว่างประเทศดีขึ้นต่อเนื่อง เป็นปัจจัยหนุนปรับเพิ่มการเติบโต เศรษฐกิจไทยปีนี้ปีหน้า ล่าสุด  กระทรวงพาณิชย์รายงานยอดส่งออกรูปดอลลาร์ เพิ่มขึ้นติดต่อเป็นเดือน 8 ราว 3.1%yoy (แต่สกุลบาทขยายตัว 7.5% ผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่า)  สินค้าส่งออกหลักที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง คือ
  คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ , ผลิตภัณฑ์ยาง, เม็ดพลาสติก, ยางพารา (ตั้งแต่ต้นปี), รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเหล็ก (เป็นเดือนที่ 2) ยกเว้นบางรายการที่กลับมาหดตัวอีกครั้ง คือ ข้าว, น้ำตาลทราย, เครื่องจักรกล, อาหารทะเลแปรรูป   ขณะที่เครื่องใช้ไฟฟ้า หดตัวเป็นเดือนที่ 4    
  ตลาดส่งออกหลักที่ขยายตัวติดต่อตั้งแต่ต้นปีคือ  จีน, สหรัฐ, ญี่ปุ่นและเวียดนาม,   ส่วน   ตลาดที่พลิกกลับมาขยายตัวคือ อิตาลี เบลเยี่ยม และ อียิปต์  ตรงข้ามตลาดส่งออกที่ยังหดตัวคือ หดตัวตั้งแต่ต้นปีคือซาอุดิอาราเบีย, ส่วนลาวและสวิตเซอร์แลนด์ หดตัวเป็นเดือนแรก และสิงค์โปร์ หดตัวเป็นเดือนที่ 2  
  ส่วนการนำเข้ายายตัว 13.5%yoy (7.9% ในสกุลเงินบาท) หลักๆ มาจาก สินค้าประเภทวัตถุดิบที่ใช้เพื่อการส่งออก อาทิ เคมีภัณฑ์และ แผงวงจรไฟฟ้าที่ขยายตัว 15 เดือนติดต่อกัน, เหล็กขยายตัว 3 เดือน และเป็นที่สังเกตว่าในเดือน ต.ค. การนำเข้าเครื่องจักรกลไฟฟ้าและ เครื่องจักรกลปกติ ยังเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 และ 4 ตามลำดับ สะท้อนว่าเอกชนยังมีการลงทุนและนำเข้าเครื่องจักรเพื่อขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง
  โดยรวมทำให้เดือน ต.ค. ดุลการค้าเกินดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3    ขณะที่การส่งออกและ นำเข้าในรูปดอลลาร์ งวด 10M60  เพิ่ม 9.7%yoy  และ  14.6%yoy ซึ่งสูงกว่าที่ ASPS ประเมินไว้ 5.5%  และ  9% จึงเตรียมปรับเพิ่มประมาณการ GDP Growth ปีนี้และปีหน้า สะท้อนภาพรวมดีขึ้นดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการฟื้นตัว สอดคล้องกับเพื่อนบ้าน และ น่าจะหนุนตลาดหุ้นไทยอย่างน้อยใน 3-6 เดือนข้างหน้า
 
Brexit ยังกดดัน ถ่วง GDP Growth และตลาดหุ้นโลก
  ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก ที่จะเติบโตได้ตามประมาณการดูจะยากขึ้น  หากพิจารณาตามประมาณการของ IMF  ประเมินจะเติบโต 3.5%ในปีนี้ และ 3.6% ปีหน้า เนื่องจากปัญหา Brexit  (อังกฤษมีสัดส่วนราว 3.85%ของ GDP โลก ใหญ่เป็นอันดับ 5  รองจากเยอรมัน  (4.5% โดยมี จีนอันดับ 2 (14.8%)  และสหรัฐขนาดใหญ่สุด (24.3%)    หลังการเจรจาระหว่างอังกฤษ กับ ประเทศสมาชิกยุโรปล่าช้า เพราะยังมีข้อขัดแย้งในบางประเด็น อาทิ สิทธิประโยชน์ต่างๆของชาวอังกฤษที่อาศัยในประเทศสมาชิก EU  และชาวต่างประเทศจากชาติ EU  ที่อาศัยในอังกฤษ, ชายแดนระหว่างอังกฤษกับประเทศไอร์แลนด์, สิทธิทางการค้ากับประเทศคู่ค้า  เป็นต้น   
  ขณะที่เมื่อเดือน พ.ย.  ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ ครั้งแรกในรอบ 10 ปี  ราว  25 bps อยู่ที่ 0.5% เป็นผลจากเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น ล่าสุด  3%  หลังจากจากเงินปอนด์ที่อ่อนค่าราว 10% นับจาก Brexit ทำให้ราคาสินค้านำเข้าสูงขึ้นมาก ปัจจัยเหล่านี้ทำให้รัฐบาลอังกฤษ ปรับลด GDP Growth อังกฤษ เหลือ 1.5% และ 1.4% ในปี  2560-2561 จากเดิมคาดที่  2% และ 1.6% (เทียบกับ IMF คาด  1.7% และ 1.5%)    
  อย่างไรก็ตามเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกยังคงถูกขับเคลื่อนจาก สหรัฐ  เนื่องจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจยังฟื้นตัวต่อเนื่อง  ล่าสุด ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ย. ยังเพิ่มขึ้น 2 เดือน  ขณะที่ตลาดแรงงานแข็งแกร่งคือ   อัตราการว่างงานอยู่ที่   4.1% (ต่ำสุดในรอบ 10 ปี)  ทำให้ตลาดคาด Fed จะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้ (วันที่ 12-13 ธ.ค. 60) ราว  25bps  มีโอกาสสูงถึง  97% และปีหน้าคาดขึ้นอีก 3 ครั้ง(ครั้งละๆ 25bps)  ซึ่งสอดคล้องกับรายงาน Fed minute ซึ่งความเห็นของคณะกรรมการ Fed ส่วนใหญ่สนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยปลายปี 
  โดยภาพ หากมีการปรับลด GDP Growth โลกเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นโลกในระยะถัดไป หลังจากที่ผ่าน ตลาดหุ้นทั่วโลกให้ผลตอบแทนในระดับที่สูงต่อเนื่องในระยะกว่า 12 เดือนที่ผ่านมา
 
ราคาน้ำมันดิบ WTI ขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ ก.ค. 58
  วานนี้ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวขึ้นอีก 2.09% มาอยู่ที่ 58.02 เหรียญ/บาร์เรล เป็นระดับที่สูงสุดนับตั้งแต่ ก.ค. 58 เป็นต้นมา โดยมีหลากหลายปัจจัยหนุนดังนี้
  ทางสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานทั้งตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบในสัปดาห์ล่าสุดปรับตัวลดลง 1.86 ล้านบาร์เรล (หลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้นมา 2 สัปดาห์) สวนทางกับที่ตลาดฯคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.55 ล้านบาร์เรล
  บริษัท TransCanada จะลดการจ่ายน้ำมันลง 85% ผ่านทางท่อส่งน้ำมันไปยังสหรัฐฯ จนถึงสิ้นเดือน พ.ย. นี้ หลังมีการปิดท่อส่งน้ำมันในสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากพบการรั่วไหลของน้ำมันจำนวน 5 พันบาร์เรล ในรัฐ South Dakota โดยสหรัฐฯมีการนำเข้าน้ำมันดิบจากแคนาดามากที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ กว่า 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  ระยะสั้นยังมีปัจจัยหนุนจากค่าเงินสหรัฐฯที่อ่อนค่าลงในช่วงสั้น โดยวานนี้ Dollar Index ปรับตัวลดลง 0.79% มาอยู่ที่ 93.15 จุด ซึ่งถือเป็นปัจจยหนุนราคาน้ำมันดิบอีกทาง
  ประเด็นบวกที่สำคัญที่สุด คือ การที่ซาอุดิอาระเบียและรัสเซียยังเป็นหัวเรือหลักในการสนับสนุนยืดระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบราว  1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมที่สิ้นสุดเดือน มี.ค. 2561 ขยายออกไปอีกจนถึงสิ้นปี 2561ในการประชุมที่จะเกิดขึ้น ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย วันที่ 30 พ.ย. 60 และยังไม่มีประเทศใดออกมาคัดค้านข้อตกลงนี้
  ดังนั้นกลยุทธ์ยังแนะนำให้สะสมหุ้นน้ำมัน อย่าง PTTEP(FV’61@B116) โดยราคาหุ้นยัง Laggard ราคาน้ำมันดิบอยู่มาก เพราะหากพิจารณาราคาน้ำมันดิบ Dubai ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน พบว่าปรับขึ้นมาแล้ว 12.59% (ytd) แต่ราคาหุ้น   PTTEP กลับลดลงจากต้นปีราว 3.12% (ytd) ณ เวลานี้จึงถือเป็นโอกาสดีในการเข้าลงทุน
 
ต่างชาติซื้อหุ้นในภูมิภาค รวมทั้งไทย
  วานนี้ต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 ด้วยมูลค่าราว 373 ล้านเหรียญ และเป็นการซื้อสุทธิในตลาดหุ้นเกือบทุกแห่ง ยกเว้นฟิลิปปินส์ ซึ่งต่างชาติขายสุทธิอีก 5.32 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) ส่วนตลาดหุ้นที่เหลืออีก 4 แห่งที่ซื้อสุทธินำโดย ไต้หวันมูลค่าราว 250 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) เกาหลีใต้ 18 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 8) ส่วนอินโดนีเซียถูกสลับมาซื้อสุทธิเป็นวันแรกในรอบกว่า 2 สัปดาห์ มูลค่า 84 ล้านเหรียญ และไทยที่ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิ 28 ล้านเหรียญ หรือ 918 ล้านบาท (หลังจากขายสุทธิวันก่อนหน้า) ขณะที่สถาบันในประเทศที่ขายสุทธิเล็กน้อยราว 173 ล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2)
  ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย สถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 5.2 พันล้านบาท เช่นเดียวกับต่างชาติที่ซื้อสุทธิต่อเนื่องอีก 8.4 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 6 มูลค่าสะสมรวมกว่า 5.13 หมื่นล้านบาท)
 
ภรณี ทองเย็น  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
OO2734

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!