- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 27 August 2014 16:55
- Hits: 1969
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
SET ปรับฐาน ควรเลือกขายรายตัว และซื้อหุ้นกำไรโดดเด่นใน 2H57 และ/หรือเงินปันผลเด่นต่อเนื่อง วันนี้เลือก CHG ([email protected]) เป็น Top Pick เพราะเป็น ร.พ. ขนาดกลางที่เติบโตสูงสุดในกลุ่ม และให้ถือ HANA(FV@B44), SRICHA([email protected]), GFPT(FV@B18) และ INTUCH(FV@B100)
ยุโรปอาจกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม หลังเยอรมัน เริ่มเสียศูนย์
เยอรมัน ซึ่งถือเป็นประเทศเศรษฐกิจอันดับ 1 ของยูโรโซน ล่าสุดรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจชะลอตัวลงมาที่ 106.3 ในเดือน ส.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือน และนับว่าต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา ซึ่งอาจจะเป็นการสะท้อนภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในช่วงที่เหลือของปี (IMF คาดว่าทั้งปีไว้ 1.7% ขณะที่ในงวด 1H57 ขยายตัว 1.65%yoy) และอาจจะกดดันต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของยุโรปอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ในงวด 1H57 พบว่าเศรษฐกิจทั้งกลุ่มขยายตัว 0.8%yoy ซึ่งหากเทียบกับที่ IMF คาดไว้ทั้งปี ที่ 1.2% นั่นหมายความว่า ใน 2H57 จะต้องขยายตัวถึง 1.6% ซึ่งอาจเป็นไปได้ยาก
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของยุโรป ยังคงอยู่ในระดับต่ำมาก 0.4% จึงเป็นการตอกย้ำภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนยังมีอยู่และน่ากังวล รวมไปถึงผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างยูเครนต่อรัสเซีย ซึ่งรัสเซียได้ประกาศคว่ำบาตรห้ามนำเข้าสินค้าอาหารจากยุโรป ส่งผลให้การส่งออกสินค้าหลายประเภทจากเยอรมนีเข้าไปยังรัสเซียลดลงอย่างเห็นได้ชัด (งวด 1H57 การส่งออกอิเล็กทรอนิกส์จากเยอรมนีไปยังรัสเซียปรับลดลง 19.8%)
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ตลาดนำไปสู่ความคาดหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่จาก ECB หรือมาตรการ QE แม้ผลการประชุม Jackson Hole ล่าสุดทาง ECB ยังส่งสัญญาณที่จะไม่เพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นใกล้ โดยต้องรอดูผลจากนโยบายกระตุ้นครั้งล่าสุด (ลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 0.15% และดอกเบี้ยเงินฝาก ติดลบ 0.1% เพื่อกรตะตุ้นการใช้จ่ายภาคในประเทศ รวมทั้งมาตรการขยายวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยระดับต่ำ หรือ Target LTRO) ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยหนุนให้หุ้นยุโรป มีโอกาสฟื้นตัวกลับมาที่ยอดสูงสุดเดิมที่ทำไว้หลังสุด
ต่างชาติเข้าซื้อ แต่ยังชะลอในกลุ่ม TIP
วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 ราว 240 ล้านเหรียญฯ และเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้ากว่า 2 เท่าโดยที่เป็นการกลับมาซื้อสุทธิถึง 4 จาก 5 ประเทศ กล่าวคือ ซื้อสุทธิสูงสุดในไต้หวันราว 127 ล้านเหรียญฯ โดยซื้อติดต่อกันเป็นวันที่ 8 แต่มูลค่าซื้อกลับลดลง 13% จากวันก่อนหน้า ใกล้เคียงกับเกาหลีใต้ที่สลับมาซื้อสุทธิราว 122 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสลับขาย 3 วันหลังสุด) ขณะที่ไทย และ ฟิลิปปินส์สลับมาซื้อสุทธิเบาบางใกล้เคียงกัน ราว 4 และ 3 ล้านเหรียญฯ ตามลำดับ สวนทางกับอินโดนีเซียที่ขายสุทธิเป็นวันที่ 2 ราว 17 ล้านเหรียญฯ
เป็นที่น่าสังเกตว่า ต่างชาติเริ่มกลับเข้าซื้อหนักในไต้หวัน และ เกาหลีใต้ แต่ยังคงซื้อสลับขายเบาบางในกลุ่มประเทศ TIP เชื่อว่าเป็นผลจากเศรษฐกิจในภูมิภาคที่เริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่อย่างไรก็ตามนักลงทุนกลุ่มนี้กลับยังคงซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้ของไทยเป็นวันที่ 2 ราว 4.6 พันล้านบาท หลังจากที่ขายสุทธิในช่วงก่อนหน้า 10 จาก 14 วัน รวมกว่า 3.0 หมื่นล้านบาท คาดว่า ในระยะสั้นเงินทุนของต่างชาติจะยังคงไหลเข้าในภูมิภาคแต่จะเป็นไปในลักษณะซื้อ สลับขายเป็นรายประเทศ เพื่อติดตามผลการรายงานตัวเลขการจ้างงานของยุโรป และ สหรัฐในปลายเดือนนี้ เพราะมันจะหมายถึงการกำหนดทิศทางนโยบายการเงินๆ สำคัญของโลก
การส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ของไทยสดใส
แหล่งข่าวสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประจำกรุงมอสโก เปิดเผยว่า รัสเซียต้องการเพิ่มธุรกรรมการค้ากับเอเซียมากขึ้น โดยเฉพาะการนำเข้าเนื้อไก่จากไทย (ขณะนี้รัสเซียได้นำเข้าสินค้าไก่แปรรูปจากไทย เฉพาะโรงงานผลิตเนื้อไก่แปรรูปที่ได้รับอนุญาต (FSVPS) แล้ว 21 ราย) ซึ่งข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พบว่าในระยะ 6 เดือนแรกของปี 2557 ไทยขาดดุลการค้ากับรัสเซียราว 1.08 พันล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 30% จากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า (yoy) (งวด 6M57 นำเข้ามูลค่า 1,851 แต่ลดลง 16%yoy ขณะที่ส่งออก 768 ล้านเหรียญฯ หรือเพิ่มขึ้น 3.9%) เพราะการนำเข้าส่วนใหญ่กว่า 70% มาจากน้ำมันดิบ ที่เหลือคือ เหล็ก เหล็กกล้า ปุ๋ย และ ยากำจัดศัตรูพืช ส่วนสินค้าส่งออกมากสุดคือ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (สัดส่วนราว 29% ของยอดส่งออกรวม) รองลงมาคืออัญมณี และเครื่องประดับ 78 ล้านเหรียญฯ (สัดส่วน 10.1%) เม็ดพลาสติก และผลไม้กระป๋อง เครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์ยาง ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง ข้าว เครื่องยนต์สันดาป และ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
ที่ผ่านมารัสเซียนำเข้าผลิตภัณฑ์ไก่ จากสหรัฐปีละราว 5 แสนตัน และนำเข้าสินค้าอาหารจากยุโรป (สินค้าประมง สินค้าเกษตร และ น้ำตาล เป็นต้น) มูลค่าราว 1.2 หมื่นล้านยูโรต่อปี การคว่ำบาตรทางการของรัสเซียต่อสหรัฐ และ ยุโรป น่าจะเอื้อประโยชน์ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ รายใหญ่ของโลก คือ จีน บราซิล และไทย ทั้งนี้คาดว่าในปีนี้ ประเทศไทยจะมีส่งออกได้สูงราว 6.3 แสนตัน (จากราว 5.3 แสนตันในปี 2556) โดย CPF มีส่วนแบ่งตลาดมากสุด 20-25% และ GFPT มีส่วนแบ่งตลาด 14% เป็นลำดับ 4 ที่เหลือเป็นบริษัทนอกตลาดคือ Betagro, Cargill, Thai Foods เป็นต้น ทั้งนี้หากพิจารณากำลังการผลิตของไทยที่มีอยู่อาจจะรองรับความต้องการส่งออกในปี 2557 ไม่เต็มที่ แต่สิ่งที่ได้รับผลบวกในระยะสั้นๆ คือราคาไก่ในประเทศน่าจะมีแนวโน้มขยับขึ้นและทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง สะท้อนจากราคาไก่เป็น ล่าสุดอยู่ที่ 45 บาทต่อ กก. เทียบกับ 41 บาทในช่วงต้นปี (เทียบกับสมมติฐานที่ ASP กำหนดไว้ 45 บาท)
ขณะที่ล่าสุดพบว่าราคาวัตถุดิบคือ ข้าวโพดและกากถั่วเหลืองในตลาดโลกเริ่มปรับตัวตกต่ำ เนื่องจากผลผลิตที่ออกมาเกินความต้องการ โดยล่าสุดพบว่าราคาเฉลี่ยข้าวโพดและกากถั่วเหลืองในไตรมาสที่ 3 ลดลง 18%qoq และ 14%qoq ตามลำดับ ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการทำกำไรของ CPF (FV@B 34) และ GFPT (FV@B 18) จึงแนะนำสะสมต่อเนื่อง โดยเฉพาะ GFPT ที่โครงสร้างรายได้มาจากผลิตภัณฑ์ไก่เป็นหลัก น่าจะได้ประโยชน์จากสถานการณ์ปัจจุบันมากสุด
CHG เป็น Top pick รพ.ขนาดกลาง เติบโตสูงสุดขณะนี้
ฝ่ายวิจัยเคยจัดทำบทวิเคราะห์ (Initial Coverage) หุ้น CHG ตอนเข้าตลาด (IPO) และได้หยุดไปนาน แต่ล่าสุดได้เข้าพบปะผู้บริหารอีกครั้ง ซึ่งสร้างความประทับใจ เพราะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างเด่นชัด ทั้งการมีทำเลที่ตั้งของ รพ. และคลินิก 10 แห่ง กระจายพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งมีประชากรอาศัยหนาแน่น ทั้งเป็นที่อยู่อาศัย และนิคมอุตสาหกรรม (ครอบคลุมพื้นที่แถบกรุงเทพตะวันออก สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา) โดยจุดเด่นของ CHG ปัจจุบันคือ เป็นหนึ่งใน รพ.ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการรักษาอุบัติเหตุฉุกเฉินจากโรงงานอุตสาหรรมมากสุด อาทิ การต่อนิ้ว และเส้นประสาท และมีความเชี่ยวชาญในการรักษาเด็กคลอดก่อนกำหนด
นอกจากนี้ได้ขยายการให้บริหารเฉพาะโรค โดยขณะนี้ได้เตรียมขยายศูนย์โรคเฉพาะทางได้แก่ โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง ได้เปิดให้บริการตั้งแต่ต้น 1Q57 นอกจากนี้ในต้นปีนี้ ได้เข้าซื้อกิจการ รพ. ชลเวช ชลบุรี และสร้างรพ. แห่งใหม่ที่ จ.ปราจีนบุรี คือจุฬารัตน์ อาคเนย์ รวมทั้งยกระดับ รพ. จุฬารัตน์ 3 ซึ่งเป็นหนึ่งใน รพ. หลัก ขึ้นเพื่อได้รับการรับรองมาตรฐานรพ.คุณภาพเทียบเท่าระดับสากล (JCI) จากองค์กรของสหรัฐ ซึ่งถือเป็น รพ. แห่งแรกของโลกที่ได้รับในปีนี้
ด้วยความสามารถในการควบคุมประสิทธิภาพการดำเนินงานภายในที่เป็นเลิศ ส่งผลให้การประหยัดต่อขนาด หนุนให้กำไรงวด 1H57 เติบโตสูงถึง 33.6% yoy และคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องใน 2H57 ซึ่งตลอดปี 2557 คาดว่าจะเติบโตราว 26% และเติบโตเฉลี่ยกว่า 20% ในช่วงปี 2558 และ 2559 CHG จึงจัดเป็น Defensive & Stock Growth ที่เหมาะแก่การซื้อลงทุน โดยมี Fair Value ปีนี้ ที่ 18.50 บาท Upside 17% และฝ่ายวิจัยจะปรับไปใช้ Fair Value ปี 2558 ที่ 21 บาท หลังประกาศงบงวด 3Q57 ซึ่งมี Upside ถึง 33% จึงเป็นหุ้นที่เหมาะกับการลงทุน
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล