WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASIAwealthบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน 

กลยุทธ์การลงทุน
          ช่วงที่เหลืออีก 2 เดือนก่อนสิ้นปี ยังให้น้ำหนักปัจจัยในประเทศ แรงขายรับงบภาคการผลิตใน 3Q60 แต่ชดเชยด้วยข่าวบวกของช็อบช่วยชาดิ ที่อาจยืดเวลานานขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา และ LTF กลับมาทำงาน แม้ถูกกดดันจากแรงขายต่างชาติ ทำให้ SET แกว่งตัวเหนือ 1700 จุด Top picks เลือก MINT (FV@B50) วันนี้เพิ่ม BANPU(FV@B26) ราคาหุ้น Laggard และ upside เกือบ 50%
 
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย ... แรงขายรายหุ้นขนาดใหญ่ฉุด SET Index ปรับตัวลดลง
          วานนี้ตลาดหุ้นไทยแกว่งผันผวนในกรอบกว้าง โดยช่วงเช้า SET Index พยายามยืนในแดนบวก แต่ช่วงบ่ายมีแรงขายกดดันดัชนีลงสู่แดนลบ ก่อนจะปิดตลาดที่ 1714.55 จุด ลดลง 6.82 จุด หรือ 0.40% มูลค่าการซื้อขายหนาแน่นกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท หลักๆ มาจากแรง sell on fact หุ้น SCC ลดลงถึง 2.04% ปิดที่ 480 บาท ซึ่งเป็นราคาต่ำสุดในปีนี้ หลังงบ 3Q60 กำไรสุทธิต่ำกว่าคาดที่ 11,836 ล้านบาท ลดลง 10.7% qoq และลดลง 16% yoy จากธุรกิจปิโตรเคมีที่ไม่ได้โดดเด่นอย่างคาดไว้ ขณะที่ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างทรงตัวได้ดี อย่างไรก็ตามคาดแนวโน้มผลประกอบการ 4Q60 น่าจะดีกว่า 3Q60 จากการฟื้นตัวของธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ส่วนกำไรหลักยังคงมาจากธุรกิจปิโตรเคมี นอกจากนี้ น่าจะมีการบันทึกรายได้เงินปันผลรับ และกำไรพิเศษจากการขายเงินลงทุนเข้ามา สำหรับกลุ่มอื่นๆ ที่ปรับตัวลดลง คือ กลุ่มพลังงาน นำโดย PTTEP ลดลง 0.58%  ปิโตรเคมี PTTGC ลดลง 2.19%, TOP ลดลง 3.19% และ IRPC ลดลง 0.78% ตรงข้ามกับ IVL  ปิดที่ 47.50 บาท เพิ่มขึ้นแรงกว่า 3.26% ปรับตัวขึ้น all time high อย่างต่อเนื่อง  อีกกลุ่มที่ปรับลดลงคือ ICT โดย DTAC ลดลง 4.23% และ THCOM ยังคงไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัว ลดลงแรงอีก 5.07%
          ส่วนกลุ่มที่ปรับตัวขึ้นสวนทางตลาดคือ ธนาคารพาณิชย์ นำโดย KBANK เพิ่มขึ้น 1.82% ตามด้วย BBL เพิ่มขึ้น 0.78%, KTB เพิ่มขึ้น 0.55% และ TMB เพิ่มขึ้น 1.55%
          แนวโน้มตลาดฯ วันนี้ น่าจะยังมีแรงปรับฐานต่อ หลังจากวานนี้ดัชนีลดลงด้วยมูลค่าการซื้อขายที่ค่อนข้างหนาแน่น ประเมินแนวรับที่ 1710 และ 1700 จุด ส่วนแนวต้าน 1725 จุด
 
ผลประชุม Fed ยังคงสอดคล้องกับตลาดคาด
          ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ(Fed) เป็นไปตามที่ตลาดคาด คือยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% ตามเดิม  ทั้งนี้เพื่อผ่อนคลายผลกระทบจากพายุเฮอริเคนในช่วง  3Q60   แม้โดยรวมเศรษฐกิจสหรัฐยังขยายตัวได้ดี ทั้งภาคการบริโภค  และเงินเฟ้อ ล่าสุด เดือน ก.ย. พุ่งขึ้นอยู่ที่  2.2%yoy จาก 1.9% ในเดือนก่อนหน้า  ขณะที่ตลาดยังคาดว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยในรอบสุดท้าย คือ ปลายปีนี้ สะท้อนจาก ผลสำรวจของ Bloomberg คาดโอกาสรอบ ธ.ค. สูงราว  87.5% 
          อย่างไรก็ตามยังให้น้ำหนักรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจนับจากนี้  ซึ่งก็ยังมโอกาสที่ Fed จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ แต่ไปขึ้นปีหน้า 3 ครั้ง โดยให้น้ำหนักมาตรการปฎิรูปภาษี แม้ล่าสุดอยู่ในช่วงพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ  ที่จะทยอยลดปีละ 3% ในช่วงเวลา 5 ปี (คือตั้งแต่ปี  2561-2565)  ซึ่งจะลดเหลืออัตรา 20% ในปี 2565 จากปัจจุบันอยู่ที่  35% จากเดิมตลาดคาดจะลดเหลือ 20% ในปีหน้าทันที ส่วนการลดภาษีบุคคลธรรมดา คาดลดลงเหลือ 3 ขั้นจาก 7 ขั้นบันได คือ 12%, 25%, 35% ขึ้นกับฐานรายได้ภาษีของบุคคลธรรมดา (สูงสุดไม่เกิน 35% จาก 39.6%) ซึ่งต้องติดตามว่าจะเป็นอย่างไร  ประเด็นนี้ถือว่ายังหนุนกำไรตลาดหุ้น และเศรษฐกิจสหรัฐในระยะยาว
          และในวันนี้  มีประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ตลาดคาดจะขึ้นดอกเบี้ยฯ ครั้งแรกในรอบ 10 ปี ราว  25bps  อยู่ที่ 0.5% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาก (อัตราเงินเฟ้อ ล่าสุด เดือน ก.ย. อยู่ที่ 3% จาก 2.9% เดือน ส.ค. และ 2.6% ก.ค. เนื่องจากค่าเงินปอนด์เทียบดอลลาร์อ่อนค่าราว  9.6% นับจาก Brexit  ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าสูงขึ้น  ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายยังต่ำ  0.25%  และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจอังกฤษที่แข็งแกร่ง สะท้อนจากอัตราการว่างงานอยู่ที่ 4.4% (ต่ำสุดตั้งแต่ 2518)
          โดยภาพรวมทำให้ค่าเงินดอลลาร์ และปอนด์ มีแนวโน้มแข็งค่า เมื่อเทียบกับสกุลหลัก เช่น  เงินยูโร  ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยหนุนทั้ง 2 ตลาด  แต่เนื่องจากตลาดหุ้นตอบรับประเด็นเหล่านี้แล้ว ทำให้แนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นน่าจะแกว่งตัวในลักษณะคล้ายกัน
 
การประมูลคลื่นสัมปทานเดิมของ DTAC ที่ครบอายุ ยังมีต้นทุนสูงเหมือนล่าสุด
          วานนี้ กสทช. เปิดเผยร่างหลักเกณฑ์ประมูลคลื่นสัมปทานเดิมของ DTAC ที่กำลังจะครบอายุ  ก.ย. 2560คือ 850 MHz จำนวน 10 MHz  แต่จะมีการนำมาปรับให้เป็นคลื่น 900 MHz เพื่อสะดวกต่อการใช้งาน  เพียง 5 MHz (อีก 5 MHz นำไปใช้กับรถไฟฟ้า)  และ 1800 MHz  อีก 45 MHz  โดยกำหนดประมูลเบื้องต้นราว มิ.ย. 61   และน่าจะใช้ราคาตั้งต้นสูงเหมือนการประมูล 4G รอบหลังสุด คือ 3.79 หมื่นล้านบาท ต่อ 5 Mhz   ระยะเวลาใช้คลื่น 15 ปี  นอกจากนี้ยังเพิ่มบทลงโทษผู้ประมูลที่ผิดชำระเงินในอัตรา 20% ของราคาตั้งต้น (ราว 7.5 พันล้านบาท) จากเดิม 5%
          ภาพรวมความคืบหน้าการประมูลคลื่นใหม่ๆ น่าจะลดจุดอ่อนของ DTAC ผู้ที่มีศักยภาพคลื่นด้อยกว่าคู่แข่ง (คลื่นส่วนใหญ่อยู่บนสัมปทานที่การลงทุนโครงข่าย ต้องโอนให้รัฐฯ และมีต้นทุนสูง) แต่จุดอ่อนของการประมูลรอบนี้ คือ ทุกรายมีต้นทุนที่แพงเท่า ๆ กัน   เพราะคงไม่มีรายใหม่เข้ามาปั่นป่วนเหมือนรอบที่ผ่านมา ซึ่งนับว่ายังสอดคล้องกับคาดหมายและสมมติฐานในประมาณการของฝ่ายวิจัย 
          โดยสรุป ต้นทุนประมูลที่ยังสูง  และการแข่งขันที่ยังมีอยู่  (แม้ระยะหลังจะผ่อนคลายขึ้นบ้าง) จึงยังให้น้ำหนักลงทุน เท่าตลาด และชื่นชอบ ADVANC ที่มีศักยภาพทางธุรกิจสูงสุด แต่ประเด็นที่ต้องติดตามนับจากนี้คือ กรรมการ กสทช. ชุดใหม่ ที่กำลังจะได้รับคัดเลือก เข้ามาแทนชุดเดิมที่หมดวาระไปแล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงแนวทางการประมูลจากเดิมหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นราคาประมูลขั้นต้นที่กำหนดไว้สูงเท่ารอบที่ผ่านมา ซึ่งหากเปลี่ยนเกณฑ์จากเดิม อาจจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อผู้ประกอบการมากกว่าที่ผ่านมา 
 
เงินเฟ้อเดือน ต.ค. ทรงตัว หนุน กนง. ยืนดอกเบี้ยจนถึง 1H61
          กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อไทย เดือน ต.ค. ยังคงทรงตัวที่ 0.86%yoy เท่ากับเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย ม.ค.-ต.ค. ขยายตัว 0.62%yoy เป็นผลมาจากราคาสินค้าหมวดอาหาร คือ ผักสดเพิ่มขึ้น 8.53%yoy จากเทศกาลกินเจ, ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอลล์เพิ่มขึ้น 5.58%จากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่เมื่อ 16 ก.ย. 60, หมวดเคหสถานเพิ่มขึ้น 1.07% จากค่าเช่าบ้านและค่าไฟฟ้า และน้ำมันเพิ่มขึ้น 4.89% ขณะที่ราคาสินค้าที่ปรับลดลงได้แก่ ไข่และนมลดลง 3.3% ข้าวและแป้งลดลง 2.33% และเครื่องนุ่งห่มลดลง 0.12% เป็นต้น หักล้างกันหนุนเงินเฟ้อยังทรงตัวตามเดิม
          อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อยังต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% จึงคาดว่า กนง. น่ายังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบการประชุมที่เหลืออีก 2 ครั้งของปี (8 พ.ย .และ 20 ธ.ค.) และคาดคงอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงกลางปี 2561
ราคาน้ำมันยังได้แรงหนุนจากความคาดหวังต่อการขยายระยะเวลาลดกำลังการผลิต
          แม้วานนี้ราคาน้ำมันดิบโลกจะได้รับปัจจัยบวก จากทางสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯกลับมาปรับตัวลดลงอีกครั้งราว 2.44 ล้านบาร์เรล และลดลงมากกว่าที่ตลาดฯคาดไว้ที่ 1.76 ล้านบาร์เรล แต่วานนี้สัญญาฟิวเจอร์ส WTI กลับย่อตัวลงเล็กน้อยราว 0.15% (หลังเพิ่มขึ้นติตต่อกัน 4 วัน) เนื่องจากตัวเลขปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯสัปดาห์ล่าสุดปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 9.55 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังสหรัฐฯผ่านพ้นช่วงวิกฤตจากพายุเฮอริเคน "เนท" ส่งผลให้บริษัทผลิตและขุดเจาะน้ำมันกลับมาทำการเป็นปกติ (ผลกระทบจากพายุเฮอริเคน "เนท" เคยกดดันให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯลดลงต่ำสุดในรอบ 3 ปี ที่ 8.41 ล้านบาร์เรลต่อวัน) อีกทั้งการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯยังแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2.13 ล้านบาร์เรล/วัน
          อย่างไรก็ตามในช่วงเดือน ต.ค. 60 ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวขึ้นมาแล้วกว่า 5.24% และยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการที่ซาอุดิอาระเบียและรัสเซียจะเป็นแกนหลักในการสนับสนุนให้ผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกมีการขยายระยะเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตราว 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมที่สิ้นสุดเดือน มี.ค. 2561 มีโอกาสขยายออกไปอีกจนถึงสิ้นปี 2561 ในการประชุมที่จะเกิดขึ้น ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย วันที่ 30 พ.ย. 2560 นี้
          ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนจึงแนะนำสะสมหุ้นน้ำมัน อย่าง PTT (FV@B460) และ PTTEP (FV'61@B116) แม้จะมีประเด็นกดดันจากการบันทึกด้อยค่าสินทรัพย์ในงวด 3Q60 ราว 1.85 หมื่นล้านบาท (คิดเป็นมูลค่าต่อหุ้นราว 4.7 บาทต่อหุ้น) แต่ราคาหุ้นน่าจะตอบรับประเด็นดังกล่าวไประดับหนึ่งแล้ว จึงแนะนำให้ซื้อสะสมยามราคาอ่อนตัวลง  และ BANPU(FV@B26) ราคาหุ้นยัง Laggard   และ upside เกือบ 50%
 
ต่างชาติซื้อสุทธิตลาดหุ้นในภูมิภาค แต่ยังมีแรงขายในไทย
          แม้วานนี้ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์จะหยุดทำการ แต่ตลาดหุ้นอื่นๆ ยังเปิดทำการปกติ โดยวานนี้ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 73 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3) แต่เป็นการซื้อสุทธิเพียงแห่งเดียวคือ เกาหลีใต้ 235 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 4) ส่วนตลาดหุ้นอื่นๆ ที่เหลืออีก 3 แห่งที่ถูกขายสุทธิ นำโดย ไต้หวัน 47 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) อินโดนีเซีย 83 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิ 2 วัน) และไทยที่ต่างชาติขายสุทธิอีก 32 ล้านเหรียญ หรือ 1.05 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 5) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่สลับมาขายสุทธิ 675 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิ 6 วันติดต่อกัน)
          ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย สถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 8.68 พันล้านบาท สวนทางกับต่างชาติที่ขายสุทธิอีก 1.96 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3)
         
Derivative Team:
          ภรณี ทองเย็น  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
          เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม    เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
          พบชัย ภัทราวิชญ์   เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
          ภราดร เตียรณปราโมทย์    เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
          ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์    เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
OO1865
 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!