WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASPบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน


กลยุทธ์การลงทุน
  ตลาดหุ้นทะลุแนวต้าน 1678-1681 จุด แม้มีโอกาสเดินหน้าต่อ แต่ยังต้องเผชิญกับแรงขายระยะสั้นๆ แนวต้านถัดไป 1695-1700 จุด และดัชนีน่าจะเคลื่อนไหวแบบสลับหมุนเวียนกลุ่ม จากหุ้นแพงมาหุ้นถูกหรือหุ้น Laggards โดยให้เน้น 1) Domestic Play โรงพยาบาล (BCH, LPH) ค้าปลีก (ROBINS, BJC) สื่อสาร (THCOM, INTUCH) บันเทิง (VGI, PLANB) และ 2) Global Play พลังงาน (PTTEP, BANPU) และส่งออก (HANA, GFPT) Top pick เลือก VGI ([email protected]) เป็นสื่อนอกบ้านที่มีกำไรโดดเด่นใน 2H60


ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย.....ดัชนีแกว่งตัวในกรอบแคบ กลุ่มพลังงานหนุนดัชนี
  วานนี้ตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวในกรอบแคบบริเวณ 1690 จุด โดยสามารถยืนในแดนบวกได้ทั้งวันจนกระทั่งปิดตลาดที่ 1689.97 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.33 จุด หรือ 0.08% มูลค่าการซื้อขายลดลงเหลือ 5.2 หมื่นล้านบาท หลายกลุ่มฯ เริ่มมีการพักตัวหรือถูกขายทำกำไร อย่างไรก็ตาม หุ้นในกลุ่มพลังงาน ปรับขึ้นได้ดีต่อเนื่องจากหุ้นในกลุ่มบริษัท ปตท. โดย PTT เพิ่มขึ้น 0.96% และ PTTGC เพิ่มขึ้น 0.95% ตามด้วยกลุ่มโรงไฟฟ้า EA, GPSC, BPP, CKP และ BGRIM เพิ่มขึ้น 2.61%, 8.47%, 0.93%, 2.76% และ 3.20% ตามลำดับ ขณะที่ GUNKUL ราคายังทรงตัวจากวันก่อนหน้า โดยฝ่ายวิจัยยังเลือกเป็น Top pick ของกลุ่มพลังงานทดแทน โดยแนวโน้มผลประกอบการใน 2H60 น่าสนใจมากขึ้น โดยจะมีโครงการใหม่ๆ ทยอยรับรู้เต็มปีเป็นปีแรก ไม่ว่าจะเป็นโครงการไฟฟ้าพลังงานลม WED กำลังผลิตรวมกว่า 60 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าโซลาร์รางเงิน 58.3 เมกะวัตต์ และโครงการ BMP 8 เมกะวัตต์ ราคาปัจจุบัน laggard สวนทางพื้นฐานอยู่มาก ราคา fair value ปี 60 อยู่ที่ 5.15 บาท มี upside กว่า 28%

  ส่วนกลุ่มอื่นๆ ไม่มีกลุ่มใดปรับตัวขึ้นโดดเด่น จะมีเพียงหุ้นรายตัวที่ปรับเพิ่มขึ้น คือ กลุ่มค้าปลีก BJC เพิ่มขึ้น 0.95% กลุ่มโรงพยาบาล BCH ปรับตัวขึ้นสวนทางหุ้นในกลุ่มกว่า 4.61% ซึ่งฝ่ายวิจัยเลือกเป็น top pick ของกลุ่มโรงพยาบาล และหุ้น Big Cap อย่าง SCC ก็ปรับเพิ่มขึ้น 0.40% ซึ่งราคาหุ้นยัง underperform ตลาดฯ สะท้อนจาก SET50 Index ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 12% ขณะที่ราคาหุ้น SCC เพิ่มขึ้นเพียง 1.2% นอกจากนี้หุ้นน้องใหม่อย่าง WPH ปรับตัวขึ้นกว่า 7.18% จากราคา IPO 3.9 บาท และ GL เพิ่มขึ้นกว่า 7.30%

 

       สำหรับกลุ่มที่ปรับลดลงคือ ธ.พ. ทั้ง KBANK ลดลง 0.48%, BBL ลดลง 0.53%, SCB ลดลง 0.65% และ TMB ลดลง 0.80% กลุ่มขนส่ง นำโดยหุ้นสายการบิน AAV ลดลง 0.75% NOK ลดลง 2.78% และ BA ลดลง 1.08% รวมถึงหุ้นขนส่งทางเรือ TTA และ RCL ลดลง 0.51% และ 0.64% ตามลำดับ
  สำหรับแนวโน้มตลาดวันนี้คาดดัชนีน่าจะค่อยๆ แกว่ง sideway up โดยยังมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่ 1695 และ 1700 จุด ขณะที่แนวรับจะอยู่ที่ 1680 จุด


การลดภาษีทั้งระบบมีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นสหรัฐ
  ปัจจัยต่างประเทศยังให้น้ำหนัก นโยบายปฎิรูปภาษี แต่คาดว่าหากเกิดขึ้นน่าจะอยู่ในอัตรา 20-27% จากปัจจุบัน 35% และลดน้อยกว่าที่ตอนหาเสียงได้เสนอให้ลดเหลือ 15% เนื่องจากการลดภาษีจะสร้างภาระหนี้สินของรัฐบาลให้ย่ำแย่ลงไป จากปัจจุบันที่มีหนี้สาธารณะเกิน 100% ของ GDP ส่วน การลดภาษีบุคคลธรรมดา จากเดิมที่เสนอให้ลดอัตราการจ่ายภาษีเหลือ 3 ขั้นจาก 7 ขั้นบันไดคือ ลดอัตราภาษีสูงสุดจากเดิม 39.6% ลงมาเหลือสูงสุด 35% (อัตราภาษีขั้นบันไดคือ 12%, 25%, 35% ขึ้นกับฐานรายได้ภาษีของบุคคลธรรมดา) ประเด็นนี้ถือว่ายังหนุนตลาดหุ้นสหรัฐ แม้ที่ผ่านมาได้ขึ้นรองรับมาแล้วระดับหนึ่ง คงต้องติดตามต่อไป อย่างไรก็ตามการลดภาษีนิติบุคคลอาจจะมีบริษัทจดทะเบียนบางกลุ่มที่ไม่ได้ประโยชน์คือโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ซึ่งปัจจุบันรัฐให้สิทธิแก่ผู้ซื้อไฟฟ้าพลังในการขอคืนภาษี (tax credit) ในอัตรา 30% ซึ่งกดดันให้หุ้นพลังงานหมุนเวียนตกต่ำสวนทางกับตลาดหุ้นสหรัฐ

 

  อีกประเด็นที่ให้น้ำหนัก คือ การคัดเลือกประธาน Fed คนต่อไป มาแทนคนปัจจุบัน คาดว่าจะทราบผลใน 2-3 สัปดาห์ถัดไป (นางเจเน็ต เยลเลน ประธาน Fed จะครบวาระ 31 ม.ค.2561) โดยตลาดคาดว่า คนที่เป็นตัวเต็งที่มีโอกาสได้รับเลือกมากที่สุด ซึ่งเป็นอดีตคณะกรรมการ Fed และเป็นผู้มีแนวคิดการใช้นโยบายการเงินตึงตัว คือ นายเควิน วอร์ช ได้รับการทาบทามจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แล้ว


  อย่างไรก็ตามการจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายก่อนสิ้นปีจะทำได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจสหรัฐ ภายหลังจาก 3Q60 มีผลกระทบช่วงสั้นจากพายุเฮอริเคน และเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2561 IMF คาด ยังทรงตัวที่ 2.1% จากปีนี้ โดยตลาดคาดหวังว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งจากการประชุมที่เหลืออีก 2 ครั้งในปีนี้ ขณะที่ผลสำรวจ Bloomberg เพิ่มโอกาสขึ้นดอกเบี้ยในรอบ ธ.ค. ราว 70% และปีหน้าคาดว่าจะขึ้นอีก 3 ครั้ง ทำให้ดอกเบี้ยสิ้นปี 2560 อยู่ที่ 1.5% และ 2.25%ในปี 2561 ในช่วงสั้นค่าเงินดอลลาร์ชะลอการแข็งค่า ซึ่งอาจจะทำให้ค่าเงินบาทชะลอการอ่อนค่า หรือกลับมาผันผวน แต่น่าจะอยู่ในทิศทางอ่อนค่า


ไทย-สหรัฐ พบครั้งแรกของทรัมป์ ลดแรงกดดันที่ไทยได้ดุลการค้า
  การไปเยือนสหรัฐ ระหว่างวันที่ 2-4 ต.ค. ของนายกฯ ประยุทธ์ฯ กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้มีการเจรจาค้าระหว่างประเทศ เพื่อลดแรงกดดันที่ไทยได้ดุลการค้าสหรัฐ ทำให้มีการตกลงนำเข้า ถ่านหินจากสหรัฐจำนวน 5-6 หมื่นตัน โดยฝั่งเอกชน คือ SCC ได้ลงนาม MOU เพื่อซื้อถ่านหินจากบริษัท สโมกี เมาท์เทน โคล ของสหรัฐ นับเป็นครั้งแรกที่ไทยนำเข้าจากสหรัฐเนื่องจากปกติจะนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน (อินโดนีเซีย และ ออสเตรเลีย) โดยราคานำเข้าสุทธิแล้วไม่แตกต่างจากซื้อจากเอเชียด้วยกัน งานนี้จึงน่าจะช่วยลดแรงกดดันการค้าไทย-สหรัฐ ไปเปลาะหนึ่ง

 

  การที่ SCC นำเข้าถ่านหินจากสหรัฐราว 5-6 หมื่นตัน เทียบกับปริมาณการใช้ปีละ 3 ล้านตัน คิดเป็นเพียง 1.7% เท่านั้น โดยปัจจุบัน SCC มีการสั่งซื้อจากหลากหลายแห่งทั้งในและต่างประเทศอยู่ด้วย ขณะที่ผู้ผลิตและส่งออกถ่านหินอย่าง BANPU ซึ่งมีแหล่งผลิตที่อินโดนีเซีย ที่มียอดขายถ่านหินราวปีละ 43.3 ล้านตัน (จากเหมืองในอินโดนีเซียราว 25 ล้านตัน และออสเตรเลียราว 14 ล้านตัน) หลักๆ ส่งออกให้จีนมากที่สุดถึง 25% ส่วนไทยมีสัดส่วนเพียง 6% หรือราว 2.8 ล้านตันเท่านั้น จึงน่าจะได้รับผลกระทบในครั้งจำกัด


  ส่วนการที่ สหรัฐฯต้องการให้ไทยนำเข้า ผลิตภัณฑ์พลอยได้ (By product) ของสุกร อาทิ หัวสุกร เครื่องในสุกร และเลือดสุกร เป็นต้น เนื่องจากผู้บริโภคในสหรัฐฯไม่บริโภคชิ้นส่วนสุกรดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยประเมินว่าการนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐฯเป็นไปได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากสหรัฐฯมีการใช้สารเร่งเนื้อแดงในสุกร (ถูกกฎหมายในสหรัฐฯ) แต่ประเทศไทยห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในสุกร เพราะมีงานวิจัยเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัยของการบริโภคเนื้อสุกรที่ใช้สารเร่งเนื้อแดง นอกจากนี้ การนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐฯยังจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในไทยด้วย เนื่องจากปัจจุบันผลผลิตและความต้องการบริโภคสุกรในไทยอยู่ในภาวะค่อนข้างสมดุล โดยอุตสาหกรรมสุกรไทยผลิตสุกรราว 16 ล้านตัว/ปี ทั้งนี้ ราคาสุกรในประเทศล่าสุดอยู่ที่ 57 บาท/ก.ก. ถือว่าอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ เนื่องจากเข้าใกล้ช่วงเทศกาลกินเจ ประเด็นนี้จึงน่าจะกระทบจำกัดต่อ CPF และ TFG

 

  และอีกโครงการหนึ่ง PTTGC America LLC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ PTTGC (ถือหุ้น 100%) ได้ลงนาม MoU กับ JobsOhio ซึ่งเป็นหน่วยส่งเสริมการลงทุนรัฐโอไฮโอ เพื่อที่จะลงทุนโครงการ Petro Chemical Complex ในรัฐโอไฮโอ (Ethane Craker ซึ่งประกอบด้วยเอทิลีนปีละ 1 ล้านตัน HDPE 7 แสนตัน MEG 5 แสนตัน และ EO 1 แสนตัน) แต่อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปในการลงทุน โดยโครงการดังกล่าวใช้ shale gas เป็นวัตถุดิบ ที่ มีราคาถูกกว่าในประเทศไทย เพื่อขยายฐานลูกค้ารายใหม่ในสหรัฐ หรือประเทศใกล้เคียง ปัจจุบัน Ethane Craker ในไทยของ PTTGC ส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเป็นหลัก อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการศึกษามาระยะหนึ่งแล้ว ในเบื้องต้นคาดว่าจะข้อสรุปภายในสิ้นปี 2560 ทั้งในส่วนของผู้ร่วมทุนและเงินลงทุน ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนสูง

ต่างชาติขายหุ้นในภูมิภาค แต่ยังซื้อไทย


  วานนี้ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ยังคงหยุดทำการ และหยุดต่อเนื่องจนถึงวันที่ 9 ต.ค. 60 แต่ตลาดหุ้นอื่นๆ ยังคงเปิดทำการเป็นปกติ โดยภาพรวมแล้วพบว่า ต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ด้วยมูลค่า 142 ล้านเหรียญ และเป็นการขายสุทธิทั้ง 3 ประเทศ คือ ไต้หวันขายสุทธิ 125 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิ 3 วัน), อินโดนีเซีย 18 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิติดต่อกันนานกว่า 24 วัน) และฟิลิปปินส์ 13 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) ยกเว้นตลาดหุ้นไทยเท่านั้นที่ถูกต่างชาติซื้อสุทธิ 14 ล้านเหรียญ หรือ 467 ล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) ต่างกับสถาบันในประเทศที่สลับมาขายสุทธิ 1.17 พันล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิ 2 วัน)
  ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย สถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 2.31 หมื่นล้านบาท ต่างกับต่างชาติที่ขายสุทธิอีก 1.64 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 7)

ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!