- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 28 August 2017 15:51
- Hits: 1469
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
การประชุม Jackson hole ตอกย้ำการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ดีต่อผู้ส่งออก โดยเฉพาะไทย ซึ่งฟื้นตัวต่อเนื่อง หากการลงทุนเอกชนกลับมาอีกครั้ง เพิ่มน้ำหนักลงทุนหุ้นเป็น 50% จากเดิม 40% กลยุทธ์ฯ สะสมหุ้นพื้นฐานแกร่ง ที่กำไรเด่นใน 2H60 และเติบโตปีหน้า (MTLS, VGI, IRPC, JWD, ERW, GFPT, HANA) หรือปันผลสูง (MCS, KKP, LH) Top picks HANA(FV@B53) และ BANPU(FV@B24) ซึ่งราคาหุ้น laggard ขณะราคาถ่านหินทำ New High
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย... สลับมาหุ้นพลังงาน อีกครั้ง
วันศุกร์ที่แล้วก่อนตลาดเปิดมีประเด็นความเคลื่อนไหวทางการเมือง คือ การอ่านคำตัดสินคดีรับจำนำข้าว ซึ่งอดีตนายกฯ ไม่ไปศาลฟังคำพิพากษา ส่งผลให้ศาลออกหมายจับ และเลื่อนอ่านคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 27 ก.ย. ขณะที่คดีความผิดขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ศาลพิพากษาโทษจำคุกนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ เป็นเวลา 42 ปี และ นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ 36 ปี รวมทั้งเอกชนที่เกี่ยวข้องให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 16,912 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวไม่ได้มีผลต่อตลาดหุ้นไทยมากนัก โดยดัชนีแกว่งอ่อนตัวลงในช่วงเช้า ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยช่วงบ่ายจนปิดที่ 1575.85 จุด ลดลงเพียง 0.11 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายที่เบาบาง 3.2 หมื่นล้านบาท สำหรับกลุ่มที่ปรับขึ้นได้ดีกว่าตลาด คือ กลุ่มพลังงาน โดยหุ้นโรงกลั่นกลับมาขึ้นแรงอีกครั้ง คือ ESSO และ TOP บวกไป 5.31 และ 3.04 % ตามลำดับ ขณะที่ EA และ BANPU ก็ขึ้นเช่นกัน 2.94 และ 2.38 % ตามลำดับ อีกกลุ่มที่เห็นการฟื้นตัว คือ กลุ่ม ICT จาก SVOA, DTAC และ ADVANC ปรับขึ้น 2.83, 1.45 และ 1.39 % ตามลำดับ
ส่วนหุ้นรายตัวที่ปรับขึ้นแรง คือ DIGI ยังขึ้นต่ออีก 13.33% หลังจากวันก่อนหน้าราคาหุ้นขึ้นชน ceiling อีกหุ้นที่ปรับขึ้นแรง คือ TEAM ปรับขึ้น 9.35%
ตรงข้ามกับกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ปรับลดลง โดย DELTA ลดลง 2.05% ตามด้วย SVI ลดลง 1.90% เช่นเดียวกับกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ที่ SCCC ปรับลดลง 2.05%
ส่วนหุ้นรายตัวที่ปรับลงแรง คือ GRAMMY ลดลงไป 6.15% หลังจากซึมซับประเด็นข่าวที่บริษัทอเดลฟอส (เครือไทยเบฟเวอเรจของกลุ่มสิริวัฒนภักดี) ซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนบริษัทลูกของ GRAMMY มูลค่า 1 พันล้านบาท
สำหรับแนวโน้มตลาดฯ วันนี้ คาดดัชนียังค่อยๆ เคลื่อนไหวแบบ Sideway Up และยังไม่ได้มีสัญญาณลบเกิดขึ้น โดย SET Index น่าจะยังแกว่งในกรอบเดิม 1570 – 1580 จุด
ต่างประเทศ มุ่งไปปัญหา Debt Ceiling มากกว่า Jackson Hole
ผลการประชุมผู้นำธนาคารกลางหลักๆของโลกที่ Jakson Hole ระหว่าง 24-26 ส.ค. ไม่ได้ส่งสัญญาณเรื่อง นโยบายการเงิน ตามที่ตลาดคาด แต่กลับมุ่งเน้นไปที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะในสหรัฐ โดยประธาน Fed ได้เน้นย้ำถึงบทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐหรือวิกฤตซับไพรม์ ในช่วง 10 ปีที่แล้ว และควรจะมีการปรับปรุงข้อกำหนดทางการเงิน (Financial regulation) เพื่อลดโอกาสการเกิดวิกฤติอีกในอนาคต ขณะที่ยุโรป นายมาริโอ ดรากี ประธาน ECB กล่าวถึง เศรษฐกิจโลกที่ค่อยๆ ฟื้นตัว แต่ยังให้น้ำหนักไปที่การกีดกันการค้าระหว่างประเทศ และญี่ปุ่น (BOJ) เน้นเงินเฟ้อยังชะลอตัว
สถานการณ์เช่นนี้ตอกย้ำความเชื่อว่า ยุโรปจะกลับมาใช้นโยบายการเงินตึงตัวตามหลังสหรัฐในปีหน้า ผ่านการลด QE หรืออาจจะขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่เอเซีย โดยเฉพาะญี่ปุ่น และกลุ่ม TIPS คาดว่าจะยืนดอกเบี้ยในระดับต่ำต่อไปจนถึงกลางปีหน้าเนื่องจากเงินเฟ้อยังชะลอตัว ยกเว้นบางประเทศที่ลดดอกเบี้ยสวนทางโลก อาทิ อินโดนีเซีย และ อินเดีย
และในช่วงนี้ตลาดน่าจะกลับมาให้น้ำหนัก การพิจารณาร่างกฎหมายขยายเพดานหนี้สาธารณะ (Debt Ceiling) ที่กำหนด 19.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ยอดล่าสุด ราว 19.97 ล้านล้านเหรียญฯ) ซึ่งรัฐสภาฯ ต้องผ่านให้ทันภายใน 29 ก.ย.2560 เพื่อให้สามารถชำระหนี้ตามกำหนด ได้แก่ เงินประกันสังคม, ประกันสุขภาพ และเงินสมทบเกษียณอายุทหาร เป็นต้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา Government Shutdown ดังที่เคยเกิดขึ้นในช่วง 1-16 ต.ค. 2556 ราว 16 วัน
ส่วนประเด็นมาตรการปฎิรูปภาษี ดังที่ประธานาธิบดีทรัมป์เคยหาเสียงไว้ตั้งแต่ต้นปี ล่าสุด ที่ปรึกษาเศรษฐกิจรัฐบาลทรัมป์เผยว่า จะเริ่มประชาสัมพันธ์ภาษี ในวันพุธนี้ ซึ่งตามกำหนดการเดิม ต้องผ่านสภาผ่านความเห็นชอบ ก่อนเดือน ต.ค. แต่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐได้
ซึมซับประเด็นนี้ไปสะท้อนจากตลาดหุ้นสหรัฐที่ปรับตัวขึ้นราว 10%ytd
โรงกลั่นและปิโตรเคมี กลับมาได้รับความสนใจช่วงสั้น จากพายุฤดูร้อน Harvey
ราคาน้ำมันดิบโลกค่อนข้างทรงตัว โดยราคาน้ำมันดิบดูไบแกว่งตัวในกรอบ 46–50 เหรียญฯต่อบาร์เรล สวนทางกับค่าการกลั่นที่ขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดค่าการกลั่นสิงคโปร์ฯ ขยับขึ้นจาก 7.4 เหรียญ สู่ 8.4 เหรียญฯต่อบาร์เรล สูงสุดในรอบกว่า 9 เดือน ปัจจัยหนุนของพายุฤดูร้อน Harvey ที่บริเวณอ่าวเม็กซิโก ได้เคลื่อนตัวขึ้นสู่ชายฝั่งรัฐเท็กซัสทางตอนใต้ ทำให้เกิดฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมและ สร้างความเสียหายแก่โรงกลั่นน้ำมัน ในรัฐเท็กซัสและอ่าวเม็กซิโก โดย Reuters ประเมินว่าส่งผลกระทบให้การกลั่นน้ำมันหยุดชะงักลงกว่า 1 ล้านบาร์เรล จากการกลั่นทั้งหมด 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และยังกระทบต่อการขุดเจาะน้ำมันราว 25% คิดเป็น 4.28 แสนบาร์เรล จากที่ขุดเจาะได้ราว 1.75 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ทั้งนี้โรงกลั่นน้ำมันบางแห่งบริเวณดังกล่าวได้หยุดดำเนินการไปล่วงหน้า ก่อนมีพายุ ฯ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่ามา เพราะมีการเตรียมความพร้อมกับ ช่วงฤดูพายุเฮอริเคนบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติก จะเริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือน มิ.ย. ถึง ต้นเดือน พ.ย. ของทุกปี แต่จะมีความรุนแรงสุดในช่วงปลายเดือน ส.ค. จนถึงปลายเดือน ก.ย. จึงเป็นเหตุให้ค่าการกลั่นมักจะปรับขึ้นในช่วงเดือน ก.ค. จนถึงเดือน ก.ย.
เช่นเดียวกับหุ้นโรงกลั่นที่จดทะเบียนใน SET ราคาหุ้นปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะ ESSO ปรับขึ้นมากกว่า 26% นับตั้งแต่กลางเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา เช่นเดียวกับ TOP และ BCP ปรับขึ้นมากกว่า 16% และ 14% ตามลำดับ ซึ่งทั้ง TOP และ BCP ไม่มี upside เหลือแล้ว ขณะที่ IRPC (FV @B6.5) ปรับขึ้น 9.6% และ PTTGC (FV @B81) ยังขึ้นน้อยเพียง 6% จึงน่าสนใจลงทุนมากกว่า
ในส่วนของราคาถ่านหิน ยังคงปรับขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน เดินหน้าทำระดับสูงสุดอย่างต่อเนื่องในรอบปี 2560 แรงหนุนมาจากความต้องการใช้ถ่านหินในหลายๆ ประเทศที่ยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากมีต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นมาในช่วงก่อนหน้า ซึ่งราคาถ่านหินที่ปรับตัวขึ้นทำ new high ต่อเนื่องได้ในรอบปี ถือเป็นบวกต่อปัจจัยพื้นฐานของผลการดำเนินการของกลุ่มถ่านหินทั้ง BANPU (FV @B24) และ LANNA (FV @B15)
ต่างชาติขายหุ้นไทย แต่กลับมาซื้อ Futures
วันศุกร์ที่ผ่านมาต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ด้วยมูลค่าราว 166 ล้านเหรียญ และเป็นการซื้อสุทธิอยู่ 3 ประเทศ คือ ไต้หวันถูกซื้อสุทธิกว่า 184 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 4) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ 15 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 4) และฟิลิปปินส์ 3.4 แสนเหรียญ ทั้งนี้ยกเว้น 2 ตลาด คือ อินโดนีเซียขายสุทธิ 21 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) และไทย ยังคงขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 ราว 13 ล้านเหรียญ หรือ 437 พันล้านบาท ขณะที่สถาบันในประเทศวานนี้ยังคงซื้อสุทธิหุ้นไทยอีกเล็กน้อย 50.4 ล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 5)
โดยภาพรวมพบว่าสถานะสุทธิของต่างชาติตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันติดลบเล็กน้อยราวสุทธิ 2.74 พันล้านบาท (ytd) ทั้งนี้ สวนทางกับทางด้านตราสารหนี้ที่ยอดซื้อสุทธิจากต่างชาติยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 1.98 แสนล้านบาท แม้จะหักตราสารหนี้ระยะสั้น (TTM<1) ออก ราว 6.07 หมื่นล้านบาท ก็ยังเหลือเงินลงทุนในระยะยาวตราสารหนี้อีกกว่า 1.38 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เป็นที่สังเกตว่า สัดส่วนของเงินทุนตราสารหนี้ระยะสั้นเริ่มมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าระยะยาว กล่าวคือ ยอดซื้อตราสาร หนี้ระยะสั้นจาก 2.66 หมื่นล้านบาท (ytd) ณ 21 ก.ค. 60 เพิ่มขึ้นเป็น 6.07 หมื่นล้านบาท (ytd) ขณะที่แรงซื้อหุ้นที่ชะลอตัวมานาน แต่กลับพบว่า ต่างชาติมีการซื้อสุทธิสัญญา SET50 Futures เพิ่มมากขึ้น โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีแรงซื้อสุทธิถาโถมเข้ามากว่า 6.49 หมื่นสัญญา ส่งผลให้ยอดซื้อสุทธิสะสมรวมตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันพลิกกลับมาเป็นบวกอีกครั้งราว 1.52 หมื่นสัญญา
สรุปคือ จากสถานะการณ์ที่กล่าวมาข้างต้น เริ่มเห็นเม็ดเงินที่พักในตราสารหนี้ระยะสั้นมากขึ้น รวมถึงแรงซื้อสัญญา SET50 Futures ที่ชัดเจนขึ้น บงชี้ให้เห็นว่า Fund Flow มีโอกาสไหลกลับมาตลาดหุ้นไทยในช่วงสั้น หลังจากที่ชะลอตัวมาตลอดเดือนที่ผ่านมา
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
กลยุทธ์ฯ เพิ่มน้ำหนักในหุ้น 50% Top picks: VGI, SCB, IRPC, HANA
ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโลก มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน โดยเฉพาะทางฝั่งสหรัฐ และ ยุโรป ขณะที่ฝั่งเอเชีย การฟื้นตัวแบบค่อยไปค่อยไป ตามภาคการส่งออกที่ดีขึ้น และ นโยบายกระตุ้นการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทย ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ ทยอยปรับเพิ่ม GDP Growth เป็น 3.5% (ล่าสุดคือ World Bank) ซึ่งสอดคล้องกับ ASPS และคาดว่าปีหน้าจะขยับขึ้นเป็น 4% โดยคาดหวังการลงทุนเอกชนจะฟื้นตัวชัดเจน หลังจากที่การลงทุนภาครัฐได้นำร่องกระตุ้นการลงทุนนับจากปีที่ผ่านมา และ การส่งออกที่มีสัญญาณที่ดีขึ้นดังกล่าวข้างต้น
ขณะที่ตลาดหุ้นไทยปี 2560 ถือว่า underperform เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นโลก อาจจะเป็นเพราะปี 2559 ให้ผลตอบแทนสูงเกือบ 20% ชนะตลาดหุ้นทั่วโลก และน่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งคือ กำไรตลาดหุ้นไทยที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าคือ ปีนี้ EPS Growth 7.1% ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านบางแห่ง โดยเฉพาะอินโดนีเซีย สูงสุด 15.4% มาเลเซีย 7.9% แต่ปัจจุบันตลาดหุ้นเพื่อนบ้านได้ปรับตัวขึ้นตอบรับแล้ว (อินโดนีเซีย ปรับขึ้นถึง 11%ytd ตลาดหุ้นมาเลเซีย ปรับขึ้น 8%ytd)
ขณะเดียวกันหากเปรียบเทียบในเชิงความถูกเพลงของตลาดหุ้นในภูมิภาค พบว่าตลาดหุ้นไทยเริ่มถูก กล่าวคือ มีค่า Expected P/E ต่ำสุดในภูมิภาค คือ 15.5 เท่า ในปี 2560 และ จะลดลงเหลือ 14.3 เท่าในปี 2561 ต่ำกว่าตลาดหุ้นอินโดนีเซียที่มี Expected P/E ปีนี้ 16.8 เท่า ฟิลิปปินส์ 19.2 เท่า ส่วนมาเลเซียอยู่ที่ 16.4 เท่า ซึ่งน่าจะเป็นจุดที่ทำให้เริ่มได้รับความสนใจของนักลงทุนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิหุ้นไทยตลอดปี 2560
ด้วยเหตุผลทั้งหมดเชื่อว่า ตลาดหุ้นมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปนี้ จึงให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นจากเดิม 40% ของเงินลงทุนเป็น 50% ดังนี้
1. หุ้นในกลุ่มที่มีกำไรโดดเด่น 2H60 และต่อเนื่องในปี 2561
กลุ่มอสังหาฯ SENA และ SC
กลุ่มท่องเที่ยว-โรงแรม ERW
กลุ่มเช่าซื้อ-ลิสซิ่ง MTLS
กลุ่มยานยนต์ AH
กลุ่มโรงพยาบาล RJH และ LPH
กลุ่มส่งออกอาหาร – ชิ้นส่วน CPF, GFPT, HANA
กลุ่ม พลังงาน และปิโตรเคมี IRPC, IVL, BANPU
อิงเศรษฐกิจในประเทศ : VGI, JWD, HMPRO, COM7, BEAUTY, RS, SCB
2. หุ้นปันผลเด่น : MCS, KKP, LH
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636