- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 18 August 2017 17:25
- Hits: 738
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
แม้กำไรตลาด 2Q60 ต่ำกว่าคาด โดยรวมปี 2560 ยังคงประมาณกำไรตลาดไว้ที่ 9.9 แสนล้านบาท หรือหุ้นละ 101.36 บาท มี Expected P/E 15.45 เท่า ถือว่าต่ำสุด หากไม่นับจีน จึงเป็นจุดที่ให้สะสมรายหุ้น โดยเฉพาะหุ้นเติบโตเด่น 2H60 และปี 2560 Top picks VGI (FV@B 6.8) และ ERW (FV@B 6.5)
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย แรงขายเบาบางหลังเสร็จสิ้นรายงานงบ 2Q60
วานนี้ตลาดยังคงทรงตัวอยู่ในกรอบแคบๆและสามารถปิดบวกได้เล็กน้อย 1.43 จุด คิดเป็น 0.09% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 4.7 หมื่นล้านบาท โดยได้รับแรงหนุนหลักจากหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลที่สามารถผลักดันดัชนีให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้กว่า 1.14 จุด โดยเฉพาะ BH ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.85% ตามมาด้วย RJH และ BDMS ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.16 และ 0.50% ตามลำดับ และกลุ่มธ.พ.ที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ 0.16% เริ่มจาก SCB ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.71% ตามมาด้วย KTB 0.56% และ BBL 0.28% นอกจากนี้ยังมีหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น เช่น WORK 5.97% BEAUTY 5.26% และ ERW 6.36% ซึ่งฝ่ายวิจัยฯ ได้เลือกเป็นหุ้น Top Pick ในวานนี้
แม้ตลาดจะสามารถปิดในแดนบวกได้ แต่หากกลับไปดู SET50 จะพบว่าปรับตัวลดลง 0.07% โดยได้รับแรงกดดันจากหุ้นกลุ่มสื่อสารที่ปรับลง 0.83% ไม่ว่าจะเป็น TRUE และ DTAC ที่ต่างปรับลงกว่า 3.85% และ 3.23% ตามลำดับ รองลงมาคือกลุ่มไฟแนนซ์ลดลง 1.42% นำโดย MTLS KCAR KTC และ SAWAD ปรับตัวลดลง 5.07% 4.58% 1.86% และ 1.49% ตามลำดับ
โดยรวมตลาดฯ ยังมองเป็นการดีดตัวขึ้นทางเทคนิคและยังไม่เห็นมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นมาก จึงคงประเมินแนวต้านดัชนีไว้ที่ 1570 และ 1575 จุด ส่วนแนวรับอยู่ที่ 1560 และ 1554 จุด ตามลำดับ
เงินเฟ้อยุโรปและอังกฤษสูง หนุนการใช้นโยบายการเงินตึงตัว
แนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะฝั่งอังกฤษและยุโรป แม้ได้ผ่านช่วงของ Brexit มาแล้วก็ตาม สะท้อนดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ ๆ คือ อัตราการว่างงานของอังกฤษที่ลดลงต่ำสุดตั้งแต่ปี 2518 ที่ 4.4% ในเดือน มิ.ย. และอัตราเงินเฟ้ออังกฤษ ยังทรงตัวในระดับสูงที่ 2.6%yoy ซึ่งเป็นผลจากค่าเงินปอนด์ที่อ่อนค่า 5.94% นับตั้งแต่ Brexit ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและนำเข้าสูงขึ้น แม้ว่าตั้งแต่ต้นปีจะยังแข็งค่าราว 5.15%
และทางยุโรป ล่าสุดได้ประกาศอัตราเงินเฟ้อ พบว่ายังทรงตัวที่ 1.3%yoy ในเดือน ก.ค. แต่ยุโรป ยังเกินดุลการค้ายุโรป ติดกันเป็นเดือนที่ 2 โดยรวมทำให้ทั้งอังกฤษและยุโรปมีแนวโน้มจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับที่ต่ำมาก คือ 0.25% และ 0% ตามลำดับ ซึ่งทำให้มีช่องว่างระหว่างเงินเฟ้อกับดอกเบี้ยกว้างขึ้น (2.35% และ 1.3% ตามลำดับ) แต่น่าจะเป็นการปรรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปและน่าจะเกิดขึ้นในปี 2561 เพราะมีประเทศสมาชิกบางแห่งยังฟื้นตัวช้า เช่น PIICG
ขณะที่ทางสหรัฐ ได้ผ่านการขึ้นดอกเบี้ยมาระยะหนึ่ง แต่การที่อัตราเงินเฟ้อยังชะลอตัว แม้ล่าสุด อยู่ที่ 1.7%yoy ในเดือน ก.ค. และเป็นเหตุผลทำให้ความเห็นของกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ในการประชุมครั้งหลังสุดมีเสียงแตก และหนุนให้มีการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือ จึงเป็นไปได้ที่ FOMC น่าจะเลื่อนไปขึ้น ขึ้นดอกเบี้ยปีหน้าแทน
จากสถานการณ์ดังกล่าว เชื่อว่าทั้งอังกฤษและยุโรปจะเริ่มดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวตามสหรัฐ ซึ่งจะเป็นการดึงดูด Fund Flow ให้ย้ายออกจากสหรัฐ และไปทางอังกฤษกับยุโรปมากขึ้น
GDP Growth งวด 2Q60 น่าจะดีจากการส่งออกและการลงทุนภาครัฐ
ขณะที่ไทยให้น้ำหนัก 21 ส.ค. นี้ สภาพัฒน์ฯจะรายงาน GDP Growth งวด 2Q60 ซึ่งตลาดคาดเฉลี่ย 3.4%yoy ใกล้เคียงกับ 1Q60 ที่ 3.3% ปัจจัยหนุนหลักมาจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวสูง 11.1%yoy เร่งขึ้นจาก 5% ใน1Q60 (ขยายตัวเกือบทุกตลาด) และ การใช้จ่ายภาครัฐเป็นไปตามเป้าที่วางไว้คือช่วง 9M60 รัฐเร่งเบิกจ่ายไปราว 82.24%งบประมาณรวม
ทั้งนี้คาด GDP Growth งวด 3Q60 จะขยายตัวใกล้เคียง หรือ อ่อนตัวจาก 2Q60 เนื่องจากภาคการบริโภคได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในภาคอีสานในช่วงปลายเดือน ก.ค.-ต้นเดือน ส.ค. แต่คาดว่าจะชดเชยได้ด้วยการส่งออก ซึ่งเป็นช่วง Peak และคาดหวังลงทุนภาคเอกชนจะกลับมา หลังจากรัฐส่งเสริมลงทุนเอกชนผ่านให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยเฉพาะ พรบ. ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก(EEC) ซึ่งคาดบังคับใช้ ต.ค.60
เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวการลงทุนภาคเอกชน จากยอดขอรับทรงเสริมส่งเสริมการลงทุน BOI ณ. 2Q60 อยู่ราว 3 แสนล้านบาทเพิ่มจาก ก.พ. 60 ที่มียอดขอเพียง 3 หมื่นล้านบาท (ทั้งนี้เป็นการลงทุนโครงการใหม่ราว 60%ของยอดขอ BOIทั้งหมด และคิดเป็น 46% ของเงินลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย S curve และ New S curve) โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยื่นขอBOI มากสุดคือ
กลุ่มปิโตรเคมี (PTTGC ร่วมทุน บริษัทคูราเร ราว 2 หมื่นล้านบาท เพื่อผลิตเคมีชนิดพิเศษที่ไม่เคยผลิตในไทยมาก่อน)
กลุ่มการบิน อาทิ บริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอมินัล ผลิตขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือลงทุนราว 7.2 พันล้านบาท และ บริษัท ไทยไลอ้อนเมนทารี ลงทุนขยายการขนส่งทางกาศราว 4.7 พันล้านบาท
กลุ่มหุ่นยนต์ อาทิ บริษัทซิติเซ็น แมชชีนเนอรี่ ผลิตเครื่องกลึงอัตโนมัติ และบริษัทจินป่าว พรีวิชั่น ผลิตเครื่องออกตั๋ว และประตูกั๋นรถไฟฟ้า และบริษัท อิโซเบะ ผลิตเครื่องจักรอัตโนมัติเพื่อผลิตชิ้นส่วนยานยต์ เป็นต้น
ทำให้เชื่อว่าหากการลงทุนเอกชนยังมีเข้ามาต่อเนื่องน่าจะทำให้ยอดขายในนิคมอุตสาหกรรม ในช่วง 2H60 ขยายตัวมากขึ้น โดยภาพรวมทำให้ฝ่ายวิจัยยังคงคาด GDP Growth ทั้งปี 2560 ขยายตัวที่ 3.5%yoy (ใกล้เคียงกับ Consensus คาด) เนื่องจากเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นไทยในระยะถัดไป
ต่างชาติสลับมาซื้อหุ้นในภูมิภาค ยกเว้นไทย
วานนี้ตลาดหุ้นอินโดนีเซียหยุดทำการเนื่องจากเป็นวัน “Independence Day” แต่ตลาดหุ้นอื่นๆยังคงเปิดทำการเป็นปกติ โดยภาพรวมแล้วพบว่าต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 302 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิในวันก่อนหน้า) และเป็นการซื้อสุทธิอยู่ 3 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ถูกสลับมาซื้อสุทธิกว่า 198 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิติดต่อกัน 5 วัน) ตามมาด้วยไต้หวัน 113 ล้านบาท (หลังจากขายสุทธิเพียงวันเดียว) และฟิลิปปินส์ 7 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิติดต่อกันกว่า 8 วัน) ยกเว้นไทยที่ต่างชาติสลับมาขายสุทธิ 16 ล้านเหรียญ หรือ 527 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิติดต่อกัน 5 วัน) ต่างกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิ 990 ล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3)
ทางด้านตราสารหนี้สถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 1.27 หมื่นล้านบาท ต่างกับต่างชาติที่สลับมาขายสุทธิ 2.23 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3 วัน)
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636